ถึงเวลารื้อสร้างพานิชย์นาวีใหม่ ไม่ต้องการให้มี sad story ใดๆ (ตอนที่ 3) “อีอีซี” แสงสว่างของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ

ว่ากันว่าหากจะรื้อสร้างอุตสาหกรรมพานิชย์นาวีกันจริงๆ ต้องเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนกฎระเบียบที่กัดกินอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือไทยก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้คือต้นน้ำของอุตสาหกรรมพานิชย์นาวี

แม้อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือในประเทศไทยจะเกิดมานานมากแล้ว แต่ในช่วง 25-30 ปี กลับแทบไม่มีการพัฒนาอะไรเลย เมื่อการต่อเรือไม่เติบโตก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมพานิชย์นาวีไทยต้นน้ำนั้นขาดการพัฒนารากฐานที่เข้มแข็งและส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องพลอยซบเซาไปด้วย  ตั้งแต่การจ้างงาน การพัฒนาบุคลากร การแข่งขันของกองเรือไทย การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ
ดร.อรรถสิทธิ์ กอชัยพฤกษ์
ดร.อรรถสิทธิ์ กอชัยพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด
ดร.อรรถสิทธิ์ กอชัยพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และนายกสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย สะท้อนปัญหานี้ผ่าน “สาลิกา” ว่า

“อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งทุกประเทศที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักให้เติบโตต่างสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศให้ต่อเรือของตัวเองและขยายไปสู่การต่อเรือเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกซึ่งเริ่มแรกมีเศรษฐกิจค่อนข้างย่ำแย่เขาก็มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรืออย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 1950 – 1960 ซึ่งมองว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานจำนวนมาก สร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมหนักที่เป็นอุตสาหกรรมของตัวเองจริงๆควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคคลากรอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมนี้ในญี่ปุ่นโดดเด่นอย่างมากในปี 1970-1980 เพราะรัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที ถัดมาปี 1970-1980 ประเทศเกาหลีก็ดำเนินกลยุทธคล้ายๆกันคือ มองว่าอุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือขนาดใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ตัวอุตสาหกรรมต่อเรืออาจจะไม่ได้ใหญ่มาก แต่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องจริงๆ เขาก็เลยลงทุน ทั้ง ซัมซุง แดวู เฮฟวี อินดัสตรี เติบโตมาในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้นคือขยายตัวจากอุตสาหกรรมหนักเช่นการต่อเรือขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น ถัดมาปี 1990 หลังจากที่จีนเริ่มดำเนินเศรษฐกิจแบบใหม่ เขาก็ผลักดันอุตสาหกรรมนี้ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง จนปัจจุบันจีนครองตลาดอุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือขนาดใหญ่ สร้างแรงงานนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมประเภทอื่น ทำให้ประเทศและเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือไทยนั้นขาดการบสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องจากภาครัฐ ในรอบ 20 ปีซึ่งส่งผลให้การพัฒนานั้นเติบโตอย่างช้ามาก”

ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในวงการพานิชย์นาวีคือ การสนับสนุนของรัฐบาลในการซื้อเรือเก่าจากต่างประเทศ ทั้งที่ควรสนับสนุนการซื้อเรือใหม่ที่ต่อภายในประเทศ ดร.อรรถสิทธิ์ตอบข้อสงสัยนี้ว่า

“เมื่อนโยบายหลายๆ อย่างของภาครัฐไม่สอดคล้องกัน ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างคนต่างทำ ยกตัวอย่างบริษัทเดินเรือซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 เชนของอุตสาหกรรมพานิชย์นาวีพยายามหาเรือราคาถูกที่สุด โดยซื้อเรือเก่าจากต่างประเทศที่ใช้มาแล้ว 15 ปี 20 ปี เอามาใช้จนถึง 30 ปี 35 ปี ถามว่าทำให้เกิดผลดีไหม ผมว่าไม่เลย แต่ทำให้เกิดผลเสียมากกว่า เพราะว่าการซื้อเรือเก่าก็เหมือนกับทุกอย่างในโลกนี้ที่มีอายุใช้งาน ยกตัวอย่างรถยนต์ต่อให้มาตรฐานดีแค่ไหน รักษาดีแค่ไหน ใช้เต็มที่ก็ไม่เกิน 20 ปี แต่เรือเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก เพราะว่าทุกคนมองปัจจัยระยะสั้นเป็นหลักว่าถ้าซื้อเรือใหม่ที่ต่อในประเทศ ราคาแพง แถมไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะที่ซื้อเรือเก่าจากต่างประเทศ ได้รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอ แถมไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่ได้รับการยกเว้น 7% เป็นแบบนี้มานานหลายสิบปี ทำให้อู่ต่อเรือในประเทศไม่เติบโต ขาดการพัฒนาศักยภาพซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องทำให้การแข่งขันกับธุรกิจจากประเทศอื่นๆเช่นประเทศจีนนั้นถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันอู่เรือขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีไม่เกิน 6-7 อู่ ขนาดกลางประมาณ 8-10 อู่ ที่เหลือเป็นอู่ขนาดเล็ก เจ้าของอู่เรือทั้งหมดพูดเหมือนกันว่าโครงสร้างทางธุรกิจนั้นแย่ลง เนื่องด้วยเหตุผลที่กล่าวมา เมื่อไม่มีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่เกิดการสร้างงาน ไม่เกิดการพัฒนาทางด้านการศึกษา งานวิจัยในประเทศ มหาวิทยาลัยไม่กล้าผลิตคนออกมาเพราะไม่มีอุตสาหกรรมรองรับเพียงพอ พอไม่มีคนก็กลับมาวนใหม่ว่าสร้างไม่ได้ ไม่เกิดดีมานด์ กลายเป็นวงจรที่ทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่เติบโต เมื่ออุตสาหกรรมพานิชย์นาวีไม่เติบโต การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีก็ไม่เกิด ไม่ได้หมายถึงคนไทยไม่มีความสามารถ เพียงแต่การวางระบบและการสนับสนุนนั้นผิดพลาดตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเรามองประโยชน์ใกล้ตัวมากเกินไปโดยไม่ได้มองถึงประโยชน์ในมิติต่างๆ ให้ครอบคลุม”

เสียงสะท้อนนี้ถือเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมพานิชย์นาวีไทย เนื่องจากยูนิไทยฯ ถือเป็นอู่ต่อเรือใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใหญ่กว่าอู่ต่อเรือขนาดถัดไป 3 อู่รวมกัน ถ้าอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยยังขับเคลื่อนลำบาก ก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่างในอุตสาหกรรมนี้จะเจิดจรัสได้อย่างไร

“ในความเป็นจริงอุตสาหกรรมพานิชย์นาวีของเราแข่งขันได้ ถ้าระบบเกื้อหนุน แต่ไม่ใช่เปิดโอกาสให้ไปซื้อเรือเก่าแล้วมาแข่งขันกับการสร้างเรือใหม่ เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ผิด เหมือนกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ถ้ารัฐอนุญาตให้นำเข้ารถเก่าแล้วยังได้รับการยกเว้นภาษีอีก การันตีได้เลยว่าผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศทุกค่ายอยู่ไม่ได้ ถ้าเราทำอุตสาหกรรมต่อเรือให้เข้มแข็งเหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ พานิชย์นาวีจะเติบโตขึ้นมาก เพราะการต่อเรือหนึ่งลำขนาดกลางๆ ราคา 400 -500 ล้านบาท ถ้าเป็นขนาดใหญ่ก็ระดับพันล้าน ถ้าเราต่อและส่งออกได้เหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มหาศาล อุตสาหกรรมในซัพพลายเชนจะเกิดขึ้นอีกมากมาย เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกไม่รู้กี่สิบเท่า อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมต่อเรือคือ บริษัทต่อเรือไทยจะนำเข้าเหล็กจากบางประเทศเข้ามาใช้ต้องเผชิญกับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเหล็กสูงจนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปให้กับประเทศคู่แข่งนับแสนล้านบาทจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งตรงนี้เราควรพิจารณาให้รอบคอบว่าประเทศไทยนั้นต้องการเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรม หรือเป็นผู้ผลิตเหล็ก เพราะเหล็กนั้นเป็นวัตถุดิบที่สำคัญซึ่งถ้าราคาสูงเกินความจริงจากมาตรการทางภาษีโดยไม่อิงกับราคาตลาดจริงก็จะเป็นการทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทคนไทยสูงจนไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในต่างประเทศที่ไม่ต้องเผชิญกับมาตรการภาษีเหล่านี้ ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องเร่งปรับปรุงมาตรการเอดีเหล็กให้เหมาะสม ไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมการต่อเรือและซ่อมเรือของไทยและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ ซึ่งบางอย่างนั้นไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศหรือเมื่อผลิตภายในประเทศก็ใช้เวลานานกว่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันโครงการหรือไม่ก็มีราคาที่สูงมากกว่าที่สามารถหาได้ในตลาดอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนให้เราสามารถแข่งขันได้กับอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องแก้ไข ทั้งหมดอยู่ที่การเปลี่ยนระบบระเบียบและนโยบายจากภาครัฐ”

ปัญหาคือเราจะแก้ไขกฎระเบียบที่ฝังลึกมานาน 20-30 ปีได้อย่างไร โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการซื้อเรือเก่าจากต่างประเทศ

“ผมเข้าใจว่าการที่บีโอไอออกกฎซื้อเรือเก่าจากต่างประเทศอายุต่ำกว่า 20 ปีได้สิทธิพิเศษด้านภาษี เพราะอยากให้มีการแข่งขันเพื่อสนับสนุนสายการเดินเรือไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศแข่งขันได้ แต่บังเอิญกฎนี้ดันใช้กับเรือทุกประเภท ซึ่งมีทั้งหมดอย่างกว้างๆ 4 ประเภทคือ
  1. เรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหรือเรืออินเตอร์เนชั่นแนล
  2. เรือเดินทางระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย-กัมพูชา  ไทย-มาเลเซีย
  3. เรือใช้ในประเทศ 
  4. เรือในแม่น้ำ
บีโอไอทำออกกฎมาเพื่อเรืออินเตอร์เนชั่นแนล แต่สามารถนำมาใช้หรือเทียบกันควบคุมคล้ายกันหมดทั้ง 4 กลุ่ม ทำให้เกิดปัญหา เพราะบริษัทเดินเรือก็อยากซื้อเรือเก่าแถมได้สิทธิพิเศษจากบีโอไอ 7 ปีไม่ต้องจ่ายภาษีเลย (ขึ้นอยู่กับสิทธิพิเศษที่ได้ตามประเภท) โดยให้เหตุผลกับบีโอไอว่าการซื้อเรือหนึ่งลำช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มการจ้างงาน ทั้งที่เรือหนึ่งลำจ้างพนักงานจำนวนไม่มากไม่เกิน 10 คน เท่ากับว่ารัฐบาลเอาภาษีคนไทยไปสนับสนุนเรือเก่าที่ต่อเมื่อ 15-20 ปีที่แล้วจากต่างประเทศ แลกกับประโยชน์ที่ได้คือจ้างคนบนเรือเพิ่ม 7-8 คน ผมเห็นภาพนี้ตั้งแต่อดีต ก็แปลกใจว่าทำไมระบบจึงเป็นแบบนี้ เมื่อก้าวมาเป็นผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ก็ยังคิดว่ามันแปลก อันนี้เป็นส่วนที่ผมอยากเสนอว่ารัฐควรจะพิจารณาปรับเปลี่ยนกฎบีโอไอใหม่ บีโอไอควรส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไทยและคนไทย ไม่ใช่เกิดการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างประเทศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เรืออินเตอร์เนชั่นแนลผมเห็นด้วยหากจะให้สิทธิเหมือนเดิม เพราะเขาจะไปแข่งกับต่างชาติ ไม่ว่ากัน แต่เรืออีก 3 ประเภทที่เหลือเป็นเรือที่ใช้ในประเทศไทย ควรจะยกเลิกสิทธิหรือปรับลดสิทธิในการนำเรือเก่าเข้ามาโดยได้รับสิทธิบีโอไอและไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีอื่นๆ เพราะเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ผลิตเรือในประเทศ นอกจากนี้การซื้อเรือเก่าเข้ามายังต้องเสียค่ากำจัดแพงนับสิบหรือร้อยล้านบาทเมื่อหมดอายุการใช้งาน ในขณะที่หากเราใช้เรือใหม่ต้นทุนระยะแรกอาจจะสูงกว่า แต่เมื่อใช้ในระยะยาวนั้นผมเชื่อว่าต้นทุนโดยรวมจะดีกว่าและมีความปลอดภัย มาตรฐานที่สูงขึ้น มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมเจ้าของเรือหรือบริษัทเดินเรืออาจมีเหตุผลว่า ถ้าเขาต้องซื้อเรือใหม่สำหรับใช้ในประเทศ จะต้องใช้ต้นทุนสูง ขณะที่ยังต้องแข่งขันราคาบริการกับรถบรรทุกซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“ผมมองว่าการมองการแข่งขันแบบนั้นไม่น่าจะถูกต้อง ถ้าทำธุรกิจแล้วแข่งขันกันตัดราคาไม่มีประโยชน์ มีแต่เจ็บตัวและจะทำให้ระบบโดยรวมนั้นมุ่งแต่ราคาที่ถูก เป็นการมองภาพระยะสั้น เราควรจะแข่งขันด้านคุณภาพมาตรฐานบริการโดยมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของธุรกิจทั้งระบบ ถ้าราคาบริการสูง แต่มาตรฐานสร้างความพอใจให้กับผู้ใช้บริการ สินค้าส่งตรงเวลา อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีความปลอดภัย ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และอยู่ในราคาที่ลูกค้าสามารถจ่ายได้ นั่นเท่ากับเจ้าของเรือมีรายได้มากขึ้น และรายได้ที่มากจะถูกถ่ายเทกลับสู่การจ้างงาน เพิ่มเงินเดือนและพัฒนาการของพนักงาน มีการจ่ายภาษีมากขึ้น เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว”

อีกสิ่งหนึ่งที่ ดร.อรรถสิทธิ์พยายามผลักดันในฐานะนายกสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทยคือการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการต่อเรือทดแทนเรือเก่าและเรือที่จำเป็น

“ผมได้คุยเรื่องนี้กับทางคณะกรรมการศูนย์พานิชย์นาวี เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตัวโครงร่างและวัตถุประสงค์ของโครงการค่อนข้างจะตกผลึกแล้ว รายละเอียดต่างๆ เราก็คงต้องพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับในทุกๆมิติอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ไม่มีใครเคยทำสำเร็จมาก่อน เบื้องต้นเราคุยกันว่าถ้าจัดตั้งกองทุนได้ มีสถาบันการเงินสนับสนุนเงินทุนสัก 1.5-2 หมื่นล้าน ทำเป็นซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ 1.5-2% สำหรับการซื้อเช่าเรือใหม่ โดยที่เจ้าของเรือไม่ต้องแบกต้นทุนมาก เช่นซื้อเรือหนึ่งลำ 400 ล้านบาท จ่าย 10 ปีๆ ละ 40 ล้าน บวกดอกเบี้ย 1.5 – 2%  ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมพานิชย์นาวี เกิดการสร้างเรือใหม่ทดแทนเรือเก่าและเรืออื่นที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันมีเรือน้ำมันที่ใช้ในประเทศไทยนับร้อยลำอายุเฉลี่ยเกิน 30-35 ปี เก่ามาก เราจึงผลักดันให้มีการเปลี่ยนเรือเก่าที่อาจจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นตามอายุที่มากเหล่านี้ การซื้อเรือใหม่แพงกว่าเรือเก่าอยู่แล้วถ้าคิดเฉพาะเงินลงทุนแรกและต้นทุนแรกเริ่ม แต่เราไม่ได้สร้างแค่ 1 ต่อ 1 สร้างครั้งหนึ่ง 10, 20 ลำหรือมากกว่าต่อรูปแบบ 2-3 แบบ เมื่อสร้างจำนวนมาก ต้นทุนก็จะลดลง ราคาเรือถูกลงและมาตรฐานดีขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมต่อเรือเดินได้ ประเด็นต่อมาคือการพัฒนาด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่องและอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของพานิชย์นาวี พัฒนาด้านเทคโนโลยี ซัพพลายเออร์ เช่น วัสดุอุปกรณ์ต่างๆต่อไปไม่ต้องสั่งเข้ามา คนไทยผลิตได้ ขายในประเทศได้ ส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ เป็นการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีควบคู่กันไป แต่ที่ผ่านมาไม่มีอุตสาหกรรมรองรับ ถ้ามีอุตสาหกรรมรองรับเขาก็จะสร้างซัพพลายเชนขึ้นมา สร้างการพัฒนาบุคคลากร วิชาชีพ ฝีมือแรงงานขึ้นมา บีโอไอเปลี่ยนกฎหมายใหม่ นำเข้าเรือเก่าจากต่างประเทศไม่ได้สิทธิพิเศษหรือลดสิทธิพิเศษ แต่ถ้าซื้อเรือใหม่ในประเทศจะได้รับสิทธิพิเศษ เมื่อเจ้าของเรือได้สิทธิพิเศษด้านภาษี แถมซื้อเรือไม่ต้องจ่ายทั้งหมดครั้งเดียว แต่แบ่งจ่าย 10 ปีบวกดอกเบี้ยถูก เจ้าของเรือก็สามารถลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น เป็นการสร้างความเข็มแข็งให้กับระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน”

ดร.อรรถสิทธิ์ยังกล่าวถึงการเกิดขึ้นของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า

“ผมคิดว่าอีอีซีเป็นความหวังที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมี พรบ.ของตัวเอง ถึงแม้กฎเกณฑ์อื่นๆจะยังมีอยู่ แต่อีอีซีมีความสามารถ แทบจะเป็นหน่วยงานเดียวในไม่กี่หน่วยงานที่มีโอกาสและศักยภาพในการผลักดันประเทศให้เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม เป็นหน่วยงานที่มีบุคคากรจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถและมีความเข้าใจในระบบและภาพใหญ่ของประเทศได้ดี สามารถประสานกับภาคธุรกิจเพื่อพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้ เป็นต้นแบบของการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ศักยภาพของอีอีซีมีสูงมากที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากร เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและรูปแบบใหม่ แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่แม้ว่าอาจจะมีเหตุผลในอดีตแต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคในการพัฒนา ผมมองว่าเป็นโอกาส เนื่องจากอีอีซีสามารถผลักดันในส่วนที่เขาบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วและทำให้เกิดวิธีความคิดรูปแบบใหม่ เข้าใจถึงปัญหาของระบบที่ผ่านมาซึ่งเราก็เข้าใจว่าในอดีตอาจจะมีข้อจำกัดหลายๆด้าน แต่ปัจจุบันการแข่งขันนั้นสูงมาก เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีปฏิบัติเพื่อให้เราสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เมื่อเข้าใจก็จะผลักดันทำให้ระบบดีขึ้นเพื่อคนรุ่นหลังให้มีโอกาสที่ดีขึ้น ซึ่งตรงกับความตั้งใจของผมที่อยากสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมพานิชย์นาวีทั้งระบบ รวมทั้งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ และให้คนรุ่นหลังได้รับสิ่งที่ดีขึ้นในมิติต่างๆ ในมุมมองของผมถือว่าอีอีซีเป็นโอกาสของประเทศที่จะเปลี่ยนระบบใหม่ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่เราสามารถใช้เป็นตัวอย่างนำไปใช้ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสังคมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โลกเปลี่ยนไป แนวคิดของคนเรามีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง กฎระเบียบต่างๆ ก็เช่นกัน ควรต้องมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย”

ถึงเวลารื้อสร้าง ‘พาณิชยนาวี’ ใหม่ ไม่ต้องการให้มี sad story ใดๆ (ตอนที่ 2) : AMCOL กับโซลูชันพิชิตภารกิจผลิตบุคลากร