รำลึกถึงคุณพ่อ “เจ้าหนูปรมาณู” Osamu Tezuka เทพแห่งการ์ตูนญี่ปุ่น

ถึงวันนี้ ไม่มีใครสงสัยชื่อชั้นของ Osamu Tezuka ปรมาจารย์ “มังงะ” ตัวจริงเสียงจริงแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่นอีกแล้ว

และผมอยากเรียกเขาว่าเป็น “เบอร์หนึ่ง” ด้วยซ้ำ!
เพราะกวาดสายตาดูแล้ว หาใครที่ทำเหมือนเขาได้ยากยิ่ง ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
รูปธรรมชัดเจน คือหนังสือการ์ตูนเกือบ 700 เรื่อง และภาพยนตร์ Animation กว่า 100 เรื่อง ตลอดชีวิตการทำงาน นี่คือตัวชี้วัดที่เด่นชัดในเชิงปริมาณ
ขณะที่ในเชิงคุณภาพ ผลงานของเขาได้รับการยอมรับจากนักอ่านการ์ตูนทั่วโลกตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1940 มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้เขาจะเสียชีวิตไปแล้ว
โดยภาพรวม ผลงานเกือบทั้งหมดของ Osamu Tezuka แม้จะนำเสนอความคิดผ่านลายเส้นตัวการ์ตูนบุคลิกแจ่มใส
ทว่า หากพิจารณาเนื้อหากันอย่างถี่ถ้วนถ่องแท้แล้ว งานของเขาเป็นการ์ตูน Realistic ที่ออกไปในทาง Dark เสียด้วยซ้ำ

Osamu Tezuka เจ้าหนูปรมาณู

ผมคิดว่าบรรดาแฟนพันธุ์แท้ Osamu Tezuka ต่างก็รับรู้ถึงประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี
ยิ่งหากย้อนไปสำรวจประวัติของเขา เราก็จะยิ่งพบว่า Osamu Tezuka สนใจศิลปะของยุโรป โดยเฉพาะศิลปะที่เกี่ยวกับเด็ก
งานเด็กจากฝั่งยุโรปนั้น เด่นชัดในแนวทาง Realistic ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากงานของฝั่งอเมริกาหรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นเอง ที่ส่วนใหญ่มักออกไปในแนวทางพาฝันกันเสียมาก
แม้ Metropolis เวอร์ชั่นการ์ตูนของ Osamu Tezuka จะมีเส้นเรื่องที่ต่างจากเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของ Fritz Lang ผู้กำกับชาวเยอรมนี หากแต่องค์รวมแทบไม่ต่างกัน
นั่นคือการพูดถึงภาวะจิตใจของมนุษย์ที่ต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายภายในตนเอง พร้อมๆ ไปกับการต่อสู้กับความชั่วร้ายภายนอก
ซึ่งภาพแสดงแทนก็คือ ตัวละคร “มนุษย์” และ “หุ่นยนต์” ที่ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม
ประเด็นทางชนชั้นที่ปรากฏใน Metropolis ของ Fritz Lang ไม่ได้ถูกขับเน้นมากนัก
เพราะ Osamu Tezuka พยายามทำให้มันแตกต่างด้วยการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมวิทยาศาสตร์
Osamu Tezuka
Osamu Tezuka
หลังจากได้ดู Metropolis ของ Fritz Lang ในปี ค.ศ. 1927 Osamu Tezuka ก็สร้าง Metropolis เวอร์ชั่นของเขาเอง
และอีกเกือบ 50 ปี Metropolis เวอร์ชั่น Animation จึงได้ถูกผลิตขึ้น
นอกจาก Metropolis แล้ว หนังสือการ์ตูนของ Osamu Tezuka ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุดก็เห็นจะเป็นงานชุด Mighty Atom หรือ Astro Boy ที่คนไทยเรารู้จักกันในนาม “เจ้าหนูปรมาณู”
ไม่เฉพาะคนไทย “เจ้าหนูปรมาณู” หรือ Mighty Atom (Astro Boy) ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เห็นได้จากการที่มันถูก “ผลิตซ้ำ” ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
หลังจากที่ Osamu Tezuka จัดพิมพ์ Astro Boy เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 และวาดออกมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานถึงปี ค.ศ. 1968 นับรวมไปกว่า 15 ปี และยังถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 60 ภาษาทั่วโลก
นอกจาก “มังงะ” หรือ “หนังสือการ์ตูนเล่ม” แล้ว Astro Boy ยังถูกแปลงโฉมเป็นภาพยนตร์ Animation และหนังการ์ตูนฉายทาง TV อีกนับครั้งไม่ถ้วน ยังไม่นับการนำไปทำเป็นวิดีโอเกม
ที่น่าขำก็คือ ปรากฏการณ์ Astro Boy ปลอม ทั้งหนังสือการ์ตูน และของเล่น ซึ่งก็นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่หากของสิ่งไหนฮิต ก็มักมีของปลอมโผล่ขึ้นมาเสมอ เหมือนเมื่อครั้งที่มีโดเรมอนปลอม
เจ้าหนูปรมาณู
“เจ้าหนูปรมาณู” หรือ Mighty Atom (Astro Boy)
นอกจาก Metropolis และ Astro Boy แล้ว ยังมีผลงานอีกเรื่องหนึ่งของ Osamu Tezuka ที่ได้รับคำชื่นชมไม่แพ้กัน แม้ว่าอาจไม่ได้ความนิยมในวงกว้างมากเท่าสองเรื่องที่กล่าวมา
นั่นคือผลงานหนังสือการ์ตูนหรือ Manga ชุด Buddha
“มังงะ” เรื่อง Buddha นี้ Osamu Tezuka วาดเผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 และออกต่อเนื่องกว่า 10 ปีจนถึงปี ค.ศ. 1983 จัดเป็นผลงานชั้นคลาสสิกเรื่องหนึ่ง
Buddha หรือ “บุดดะ” เวอร์ชั่น Original ของ Osamu Tezuka มีทั้งสิ้น 14 เล่ม ทว่า เมื่อได้รับการแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ กลับถูกจัดชุดใหม่เหลือเพียง 8 เล่ม และคงใช้เวอร์ชั่น 8 เล่ม แปลมาเป็นภาษาอื่นๆ ไปทั่วโลก
ทั้ง 8 เล่ม ได้รับการตั้งชื่อดังนี้ 1. กบิลพัสดุ์ 2. เทวทูตทั้งสี่ 3. เทวทัต 4. ป่าอุรุเวลา 5. มฤคทายวัน (ป่าสวนกวาง) 6. อานนท์ 7. อชาตศัตรู และ 8. เชตวัน (สวนเจ้าเชต)
หลังจากที่ “มังงะ” ประสบความสำเร็จ คอการ์ตูนต้องรอคอยเกือบ 30 ปี ก่อนที่ในปี ค.ศ. 2011 Buddha จะถูกนำมาสร้างเป็นหนังใหญ่หรือภาพยนตร์ Animation บนจอเงิน
พร้อมกับการสร้างสถิติใหม่ ด้วยการทำรายได้ถล่มทลายในตาราง Box Office ทั้งของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในปีนั้น
การ์ตูนชุด Buddha ของ Osamu Tezuka ทั้งในเวอร์ชั่น “มังงะ” และในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ Animation มีเนื้อหาพูดถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า โดยใส่สีสันตัวละครเพิ่มเข้ามาเพื่อให้ได้อรรถรสของการ์ตูน
ที่แม้เส้นเรื่องจะเดินตามพุทธประวัติ ทว่า สองข้างทางที่ Osamu Tezuka นำเสนอ เขาได้ใส่ตัวละคร Fantasy แทรกเข้าไปในประเด็นแบบ Realistic ของพุทธประวัติ
ส่งผลให้ ทั้งหนังสือการ์ตูน “มังงะ” และภาพยนตร์ Animation เรื่อง Buddha มีสีสันน่าติดตามเพิ่มขึ้นมาก ทั้งที่เรื่องราวพุทธประวัติเองก็มีความ Fantasy อยู่ในตัวเองระดับหนึ่งอยู่แล้ว
หากเปรียบเรื่องราวการ์ตูนชุด Buddha ของ Osamu Tezuka กับวรรณกรรม “สิทธารถะ” ของ Hermann Hesse ผมอยากเปรียบท่านปรมาจารย์ Osamu Tezuka ให้เสมือนดั่ง “วาสุเทพ” ชายแจวเรือข้ามฟาก
คอวรรณกรรมคงยังไม่ลืม “ชายแจวเรือข้ามฟาก” ว่าคือผู้มีส่วนสำคัญให้ “สิทธารถะ” ค้นพบสัจธรรมในท้องเรื่องของ Hermann Hesse นะครับ
ผมคิดว่า การที่ Osamu Tezuka นำเรื่องราวของพระพุทธเจ้าใส่ลงในหนังสือการ์ตูน ด้านหนึ่งนอกจากการถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว อีกด้านก็คือการช่วยเผยแผ่เรื่องราวของพุทธประวัติให้แก่เด็กทั่วโลกได้รับรู้
ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ Animation การ์ตูนชุด Buddha ของ Osamu Tezuka มีแผนที่จะผลิตออกมารวมทั้งสิ้น 3 ภาคด้วยกันครับ