อัปเดต เทรนด์ ‘AGTECH’ สำคัญ ที่ เกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) ไม่รู้ไม่ได้

เพื่อเป็นไอเดียให้เกษตรกรและผู้ประกอบการนวัตกรรม ได้นำไปพัฒนาการทำการเกษตร และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่วยแก้ปัญหาทั้งในด้านพื้นที่การเกษตรที่ลดลงเพราะการขยายตัวของสังคมเมือง สภาพดินฟ้าอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ จำนวนเกษตรกรที่น้อยลง ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ “นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่” ตามเทรนด์ ‘AGTECH’ หรือ Agricultural Technology จึงได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือหลักที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการสร้าง เกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) ให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม

โดยในวันนี้ NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้รวบรวมเอา เทรนด์ ‘AGTECH’ มาแรง ที่ควรนำมากำหนดเป็นทิศทางของประเทศไทยในการสร้างเส้นทางการพัฒนาไปสู่ เกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) ให้ได้ ใน พ.ศ.นี้

การทำ “เกษตรดิจิทัล” ใช้ทุกนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มี ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตร

เกษตรดิจิทัล เป็นการใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลด้านการเกษตรต่างๆ ทั้ง สภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก สถานการณ์เจริญเติบโต ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ช่วยหาแนวทางการทำการเกษตรที่เหมาะสม แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเกษตรกร
ที่สำคัญคือเราสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาต่อยอดควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น การนำ AI ช่วยควบคุมดูแลแปลงพืช โดยเกษตรกรแทบจะไม่ต้องลงไปคลุกคลีด้วยตัวเอง นำมาวิเคราะห์ความแตกต่างของวัชพืชในแปลงเกษตร เพื่อหาวิธีกำจัดได้ตรงจุด หรือนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค เพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น

ขอยกตัวอย่าง Digital technology ที่มีศักยภาพ สามารถช่วยยกระดับการทำเกษตร ให้พัฒนาไปสู่การเป็น เกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) ได้จริง ดังนี้
  • เทคโนโลยีที่ใช้เก็บข้อมูล
ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลระยะใกล้จาก sensor ที่วัดสภาพดินและค่าต่างๆ ในแปลงเพาะปลูก การเก็บข้อมูลระยะกลางจากกล้องที่ติดกับโดรน และการเก็บข้อมูลระยะไกลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่สามารถนำมาใช้ระบุสภาพพื้นที่เพาะปลูก ชนิดพืช สถานะการเจริญเติบโต และปัญหาต่างๆ ได้ละเอียดถึงระดับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร
หรือใช้ระบบข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data ที่สามารถสะท้อนรายละเอียดของสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และการทำเกษตรในระดับแปลงและเกษตรกรทั้งในปัจจุบันและย้อนหลังไปในอดีต ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันของเกษตรกรได้

  • Internet of Things (IoT)
สามารถเชื่อมโยงการทำงานของเครื่องวัดและอุปกรณ์ทำการเกษตรต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถสั่งงาน สั่งให้ทำกิจกรรมการเกษตร เช่น รดน้ำและใส่ปุ๋ยตามเวลาและปริมาณที่กำหนดอย่างแม่นยำโดยไม่ต้องใช้คน และสามารถติดตามสภาวะและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในแปลงเพาะปลูกได้อย่างรวดเร็ว
  • Mobile technology
ช่วยเชื่อมต่อเกษตรกรเข้ากับตลาด ผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้บริโภค เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และช่วยให้เกษตรกรสามารถช่วยสร้างและเข้าถึงข้อมูลความรู้ เช่น ราคา พยากรณ์อากาศ และวิธีการแก้ปัญหาโรคพืช ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง

เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติ ตัวช่วยหลากหลาย หยิบมาใช้ให้สมประโยชน์

แม้ความต้องการผลผลิตด้านการเกษตรจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลก แต่ในทางกลับกันจำนวนเกษตรกรปัจจุบันกลับลดน้อยลงเข้าไปทุกที นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์ โดรน และระบบอัตโนมัติต่างๆ จึงมีบทบาทที่สำคัญ เพื่อช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน แต่ยังคงสร้างผลผลิตได้เท่าเดิม หรือมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ประโยชน์ของการใช้นวัตกรรมเหล่านี้ ไม่ได้มีดีแค่การเป็นเครื่องทุ่นแรง แต่ยังหมายถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนถูกลง และพัฒนาคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับเกษตรกรโดยไม่รู้ตัว เช่น หุ่นยนต์ AI ตัวแรกของอิสราเอล ที่จะทำงานอัตโนมัติเมื่อดอกไม้พร้อมสำหรับการผสมเกสร ในอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม ช่วยให้โอกาสสำเร็จเพิ่มขึ้นมากกว่าปล่อยไว้ตามธรรมชาติ หรือ การนำโดรนไปใช้ในการปลูกข้าวได้อย่างแม่นยำและสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึงสองเท่า
โดยเฉพาะ โดรนเพื่อการเกษตร นับเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มาแรงและมีประสิทธิภาพอย่างมาก ยืนยันได้ด้วยข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่วิเคราะห์ว่าโดรนเพื่อการเกษตรเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งกำลังมาแรงในยุคเกษตร 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และประหยัดการใช้แรงงานคนท่ามกลางภาวะที่แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลง อีกทั้งโดรนเพื่อการเกษตรยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตรได้อย่างแม่นยำด้วย
นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า หากไทยได้นำโดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ตามนโยบายนาแปลงใหญ่ของภาครัฐในปี 2560 จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้รวมราว 1,100 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ราว 6,000 ล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขพื้นที่นาแปลงใหญ่ที่เป็นไปตามเป้าหมายของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นโดรนเพื่อการเกษตรมากขึ้น ตลอดจนกลุ่มทุนก็ควรถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในตอนนี้เทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลง ถ้าทำได้ย่อมช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถยกระดับการพัฒนาขึ้นไปได้อีกขั้น

เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ใช้ให้ถูกทาง มีแต่ได้

อย่าเพิ่งมองเรื่องของ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมพืชและสัตว์ จนเป็นจำเลยสังคมไปเสียหมด เพราะแท้ที่จริงแล้วเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการประยุกต์ศาสตร์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งชีววิทยา เคมี และองค์ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาจุลินทรีย์ที่จะนำไปใช้งานทางการเกษตร การดัดแปลงยีน ปรับปรุงพืชหรือสัตว์ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
ที่ผ่านมา เทคโนโลยีชีวภาพถูกเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการเกษตร เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในดิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตและทนต่อสภาวะแล้ง ทนทานต่อวัชพืช ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้ทนทานต่อโรคระบาด
หรือการนำความรู้ด้านนี้มาใช้ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ต่างๆ ทำให้ได้พืชหรือสัตว์ที่มีลักษณะตามต้องการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
เช่น การนำเอาสารพันธุกรรมที่สามารถสร้างความต้านทานต่อโรคจากข้าวพันธุ์อื่นมาใส่ในข้าวหอมมะลิที่เรานิยมรับประทาน ทำให้เราได้ต้นข้าวหอมมะลิที่ให้ผลผลิตที่ดีและสามารถต้านทานต่อการเข้าทำลายของโรคต่างๆ ได้

เกษตรกร 4.0

ขณะที่ เทคโนโลยีนี้ สามารถการเพาะเลี้ยงเซลล์หรือชิ้นส่วนต่างๆ ของพืช ให้เกิดการเจริญเติบโตหรือเกิดการเปลี่ยนแปลตามความต้องการบนอาหารสังเคราะห์ภายใต้สภาพแวดล้อมของการเพาะเลี้ยงที่สามารถควบคุมได้ เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น เพื่อการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นพืชให้ได้ปริมาณมาก เพื่อการปรับปรุง และคัดเลือกพันธุ์พืชให้มีลักษณะตรงตามความต้องการ รวมทั้งเพื่อการกระตุ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมให้เกิดพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม
โดยล่าสุด บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้นำธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย เปิดตัวเมล็ดพันธุ์กวางตุ้งดอกลูกผสมสองสายพันธุ์แรกของประเทศไทย ได้แก่ ผักกาดกวางตุ้งดอกลูกผสมต้นขาว ขาวนวล และ ผักกาดกวางตุ้งดอกลูกผสมต้นเขียว ปิ่นมรกต ที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

จุดขายสำคัญของกวางตุ้งลูกผสมของเจียไต๋ นี้คือ การใช้เมล็ดน้อยลง แต่ให้ผลิตผลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 30-35 วันหลังหว่านเมล็ด ทำให้ได้ผลิตผลในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ใช้จำนวนเมล็ดพันธุ์น้อยลง และสามารถสร้างรายได้ได้รวดเร็วขึ้น
สุภัทร เมฆิยานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสำนักวิจัยและพัฒนา บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายและประโยชน์ของการปรับปรุงสายพันธุ์กวางตุ้งดอกลูกผสมสองสายพันธุ์แรกของไทยว่า

“เราเล็งเห็นความสำคัญและโอกาสที่เราสามารถทำได้ ซึ่งเรามีศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์ให้แตกต่างจากสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้สายพันธุ์ลูกผสมนี้เป็นประโยชน์กับเกษตรกรมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนเมล็ดในการปลูกที่ใช้น้อยลง ความสม่ำเสมอของขนาดต้นที่มากขึ้น การออกดอกและเจริญเติบโตที่พร้อมกัน เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ในครั้งเดียว และที่สำคัญคือผลิตผลต่อไร่ที่มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างมีคุณภาพ คาดการณ์ผลิตผลได้ ลดความเสี่ยงในแปลง และสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ในที่สุด”


แชร์ความรู้การทำเกษตรยุคใหม่ ที่ต้องปรับเปลี่ยนโฉมหน้า เพื่อรับกับยุคดิสรัปให้ทัน

เรียนรู้จากโมเดลขจัดความยากจนในชนบทจีน ยืมมือ ‘อาลีบาบา’ ส่งสินค้าเกษตรตีตลาด E-commerce อย่างไรให้ปัง

Oxford Economics ชี้ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ยังเป็นเสาหลักฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ ถ้าส่งเสริมให้ถูกทาง

EECi มุ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร หนุนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงปรับปรุงพันธุ์พืช เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร