ทำความรู้จัก อาชีพปิดทองหลังพระ ‘นักทดสอบกลิ่น (Panelist)’ ผู้ถือกุญแจไขปมปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม

พูดถึงมลพิษสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจบอกตรงกันว่า มลพิษจากฝุ่น มลพิษทางเสียง แย่ที่สุดแล้ว แต่สำหรับใครอีกหลายคนมลพิษที่สร้างความเดือดร้อนและน่าปวดหัวที่สุด น่าจะเป็น มลพิษจากกลิ่น โดยเฉพาะที่มาจากขยะ น้ำเสีย ซึ่งตามกฎหมาย มีการกำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 และคณะกรรมการควบคุมมลพิษ มีประกาศวิธีตรวจวัดโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (Sensory Test) มาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งผู้ที่รับหน้าที่นี้ คือ นักทดสอบกลิ่น (Panelist) อาชีพปิดทองหลังพระ ที่ใครหลายคนอาจไม่คุ้นเคย ทั้งที่อาชีพนี้มีมาตั้งแต่ปี 2556 และมีการอบรมอาสาสมัครทดสอบกลิ่นมาแล้วกว่า 10 รุ่น

Panelist

เพื่อทำความรู้จักกับอาชีพ นักทดสอบกลิ่น (Panelist) กันให้มากขึ้น เว็บไซต์ Thaipbs จึงได้เผยแพร่บทความ เรื่อง “กว่าจะเป็น “นักดมกลิ่น” ผู้ใช้ “จมูก” แก้ปมมลพิษ” ซึ่งในบทความนี้ ได้พาไปรู้จักกับผู้ที่ทำหน้าที่นี้ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอาชีพนี้ ที่ไม่ใช่แค่ผู้ที่มาคลี่คลายปมมลพิษสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทว่า เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการลดความขัดแย้งระหว่างชาวชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจประสบปัญหามลพิษด้วย

เผยปัญหาที่รอ นักทดสอบกลิ่น (Panelist) ไปแก้

บทความนี้ เริ่มต้นด้วยการไปพูดคุยกับ นักทดสอบกลิ่น (Panelist) ตัวจริง อรวรรณ มานูญวงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ห้องปฏิบัติการตรวจวัดกลิ่นด้วยการดม ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่ผ่านมาที่เธอมีส่วนช่วยคลี่คลลาย คืออะไร

“ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกลิ่นเหม็น ประมาณ 40 % จากอู่ซ่อมสีรถยนต์ กลิ่นจากสถานประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งกลิ่นจากผลิตผลทางการเกษตร และบ่อขยะ”

อรวรรณ มานูญวงศ์
อรวรรณ มานูญวงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ห้องปฏิบัติการตรวจวัดกลิ่นด้วยการดม
“ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การกำหนดมาตรฐาน แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นที่ถูกร้องเรียน เคยมีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แต่ระดับตัวเลขที่ตรวจวัดได้ มันไม่สามารถตอบสนองถึงการรับรู้กลิ่น หรือความพึงพอใจของคนได้แบบตรงเป้า”
“ทั้งนี้ ในการตรวจวัดสารมลพิษ 1 ตัว ที่มีกลิ่น แต่พบค่ามลพิษน้อยมาก หากถามความรู้สึกของคนที่ได้รับกลิ่น เขายังรู้สึกว่ามันยังรบกวนอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ จึงควรวัดค่ามลพิษจากความรู้สึกของคนด้วย โดยอัตราการเจือจางระดับต่างๆ และคำนวณออกมาเป็นค่าสถิติ และเทียบกับมาตรฐาน”

เปิดเส้นทางสายอาชีพที่ท้าทายของ นักทดสอบกลิ่น

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ทดสอบกลิ่น นักทดสอบกลิ่นรุ่นพี่อธิบายให้ฟังต่อว่าทุกคนต้องมีใบอนุญาตจากกรมควบคุมมลพิษ และจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทดสอบกลิ่นปีต่อปี ทำติดต่อกันได้ 2 ปี และต้องหยุดพักก่อนที่จะกลับมาสมัครได้ใหม่อีกครั้ง

นอกจากนั้น คุณสมบัติสำคัญของผู้ทดสอบกลิ่น คือ ก่อนจะเป็นผู้ทดสอบกลิ่นได้ ต้องมีคุณสมบัติ อย่างแรก คือ ต้องมีอายุระหว่าง 18-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และไม่สูบบุหรี ไม่ดื่มสุรา ขณะที่สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของผู้ทดสอบกลิ่นต้องไม่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เพราะอาจทำให้คุ้นชินกับกลิ่นประเภทนั้นๆได้
จากนั้น ผู้ที่สนใจมาเดินบนเส้นทางสาย นักทดสอบกลิ่น ก็ต้องผ่านด่านทดสอบคัดเลือกผู้ทดสอบกลิ่น โดยทุกปีจะคัดเลือก “ผู้ทดสอบกลิ่น” หรือ Panelist มาทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ค่าความเข้มของกลิ่น ซึ่งจะเปิดรับผู้ที่สนใจจากในหน่วยงาน บุคคลทั่วไป นักศึกษา เข้ามาร่วมกันทำการทดสอบกลิ่น นักดมกลิ่นทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบการดมกลิ่น มาตรฐาน 5 กลิ่น ตั้งแต่กลิ่นที่มีลักษณะหอมหวานไปจนถึงกลิ่นเหม็นอับ กลิ่นเหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ กลิ่นที่ได้จำลองขึ้นมาจากกลิ่นที่เราใช้หรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย
  1. กลิ่นดอกไม้
  2. กลิ่นเหม็นไหม้
  3. กลิ่นเหม็นอับ เช่น ถุงเท้า ผ้าขี้ริ้ว
  4. กลิ่นผลไม้อ่อนๆ
  5. กลิ่นของเสียหมักหมม เช่น กลิ่นอุจจาระ
และสำหรับใครที่อยากลองมาทำอาชีพนี้ หรือมีความตั้งใจดีที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังกังวลอยู่ว่า การดมกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นตัวก่อมลพิษนั้น จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ บทความนี้ ก็มีคำตอบเช่นกัน
ภิญธนัฎฐ์ ศรีชะเอม
ภิญธนัฎฐ์ ศรีชะเอม ข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ ตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม
ภิญธนัฎฐ์ ศรีชะเอม ข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ ตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ที่มีอีกหนึ่งงานในความรับผิดชอบ คือ นักทดสอบกลิ่น เล่าว่า “เมื่อทราบว่ามีการรับสมัครผู้ทดสอบกลิ่น จึงต้องการทดสอบว่า ตัวเองมีความสามารถด้านการดมกลิ่นมากแค่ไหน โดยการทดสอบจะได้ดมตัวอย่าง 5 กลิ่น แล้วเลือกว่าได้กลิ่นหรือไม่ และเป็นกลิ่นของตัวอย่างชนิดไหน ซึ่งหากตอบไม่ถูกเพียงกลิ่นเดียวก็จะถือว่าทดสอบไม่ผ่านทันที”
“ที่ผ่านมาได้ขึ้นทะเบียนผู้ทดสอบกลิ่นมา 2 ปีแล้ว โดยแต่ละปีจะมีการทดสอบเรื่องร้องเรียนประมาณ 1 ครั้ง เนื่องจากมีผู้ขึ้นทะเบียนผู้ทดสอบกลิ่นเป็นจำนวนมาก”
“อย่างไรก็ดี การดมกลิ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เพราะส่วนใหญ่เป็นกลิ่นจากฟาร์มปศุสัตว์ เหมือนเวลาขับรถไปต่างจังหวัดแล้วได้กลิ่นมูลสัตว์ อีกทั้งในห้องแล็บยังมีการเจือจางกลิ่นด้วย”
พรทิพย์ ศักดิ์เดชธำรง
พรทิพย์ ศักดิ์เดชธำรง ผู้ทดสอบกลิ่น อีกคน ที่มองว่าการมาเป็น นักทดสอบกลิ่น
พรทิพย์ ศักดิ์เดชธำรง ผู้ทดสอบกลิ่น อีกคน ที่มองว่าการมาเป็น นักทดสอบกลิ่น นี้ มีความท้าทาย โดยเธอบอกว่า
“แค่ได้ฟังชื่อว่าเป็นการทำหน้าที่ ทดสอบกลิ่น ก็น่าสนใจแล้ว เพราะเหมือนเป็นการท้าทายความสามารถในการรับกลิ่นของตนเอง โดยต้องเรียนรู้วิธีการดมกลิ่นและทดสอบการรับรู้กลิ่นของตัวเอง อีกทั้งก่อนหน้านี้เป็นคนดมกลิ่นได้ดีในระดับหนึ่ง จึงสนใจจะเข้ามาเรียนรู้การแยกกลิ่น ส่วนตัวทำมา 1 ปีแล้ว และได้ขึ้นทะเบียนเป็นปีที่ 2 ในปีนี้”
“กรณีที่เคยทำมาคือ ฟาร์มสุกร การดมกลิ่นไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน เราเพียงมาลงทะเบียนและทดสอบว่าเรารับรู้กลิ่นได้ปกติไหม และตัวอย่างกลิ่นที่ได้ดมก็เป็นกลิ่นธรรมดาที่เคยได้กลิ่นอยู่แล้ว”
“และโดยส่วนตัวมองว่าการเข้ามาทำอาชีพผู้ทดสอบกลิ่นนั้น นอกจากต้องการทดสอบการรับรู้กลิ่นของตัวเองแล้ว ยังหวังจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนและส่งสร้างให้ภาครัฐพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์หรือมาตรฐานต่างๆ เพื่อช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในอนาคตด้วย”

นักทดสอบกลิ่น คือ ผู้ถือกุญแจ ไขปมร้องเรียน ลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนและภาคอุตสาหกรรม

อรวรรณ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมประจำห้องปฏิบัติการตรวจวัดกลิ่นด้วยการดม เล่าให้ฟังถึง ขั้นตอนการพิสูจน์กลิ่นในการปฏิบัติงานจริงว่า
“เริ่มจากเจ้าหน้าที่ภาคสนาม พนักงานควบคุมมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2553 หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีอำนาจเรื่องสิ่งแวดล้อม เก็บตัวอย่างอากาศในพื้นที่แหล่งกำเนิดที่มีปัญหา ด้วยเครื่องมือที่ถูกคิดค้นมาเพื่อดูดกลิ่นก่อนส่งตัวอย่างมาที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งขณะนี้มีห้องปฏิบัติการในการตรวจมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นของหน่วยงานราชการอยู่ 2 แห่งคือ กรมควบคุมมลพิษกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม”

“จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างเข้าห้องปฎิบัติการ นำกลิ่นมาเจือจางกับอากาศบริสุทธิ์ เพื่อไม่ให้กลิ่นเหม็นจนเกินไป ก่อนนำไปทดสอบกับนักดมกลิ่นที่ได้รับการคัดเลือกไว้ 6 คน ต่อ 1 ตัวอย่าง และใน 1 คน จะได้รับการทดสอบ คนละ 3 ตัวอย่างเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับร่างกาย โดยกำหนดให้ถุงดมกลิ่นมีปริมาณ 3 ลิตร ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราของปริมาณทางอากาศที่คนทั่วไปหายใจที่มีค่าประมาณ 3 ลิตรต่อนาที”
“ในตัวอย่างอากาศที่บรรจุในถุงทั้ง 3 ใบ จะมีกลิ่นเพียงใบเดียว ส่วนที่เหลืออีก 2 ใบ จะเป็นอากาศสะอาดที่ปราศจากกลิ่นบรรจุอยู่ ซึ่งผู้ทดสอบกลิ่นจะต้องเลือกตอบให้ได้ว่า ถุงที่มีกลิ่นนั้นเป็นถุงใบใด เรียกวิธีนี้ว่า วิธีถุง 3 ใบ “Triangle odor bag method” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “TOB” โดยกระบวนการทั้งหมดจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้การวิเคราะห์กลิ่นมีความถูกต้องที่สุด”

“ในช่วงที่ผ่านมา มักมีปัญหาร้องเรียนมาในเรื่องที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกลิ่นเหม็นเกินมาตรฐานการควบคุม รวมถึงมีการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงงานบางประเภทซึ่งยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเอาไว้ ทางกรมฯจึงได้มีการดัดแปลงใช้วิธีการดมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนซ้ำซากและยาวนาน”

“ชาวบ้านรู้สึกว่าผลการตรวจวัดจากพารามิเตอร์ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะว่าชาวบ้านยังได้กลิ่นเหม็นอยู่ และรบกวนชีวิตประจำวัน จึงได้นำวิธีการนี้ไปใช้แล้วนำตัวเลขที่ตรวจวัดได้ไปกำหนดเป็นค่าในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดนั้นๆ”
“เช่น มาตรฐานที่มีจะเป็นมาตรฐานที่ระบายออกจากปล่อง ค่าความเข้มข้นกลิ่นที่ระบายออกจากปล่อง บริเวณริมรั้วของแหล่งกำเนิดมลพิษ หลังจากที่ได้ตัวเลขแล้ว จะส่งไปให้หน่วยงานที่กำกับดูแล และนำตัวเลขเหล่านี้ไปเป็นเป้าหมายว่า โรงงานจะต้องปรับลด หรือควบคุมไม่ให้ปล่อยค่าความเข้มกลิ่นให้เกิดมาตรฐานนี้”
“นอกจากนี้ ยังต้องเข้าไปสอบถามชาวบ้านที่อยู่โดยรอบด้วยว่า หากโรงงานควบคุมกลิ่นโดยให้อยู่ในค่ามาตรฐานที่กำหนด ชาวบ้านรับได้หรือไม่ วิธีนี้เป็นวิธีการช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนได้ค่อนข้างมาก และเก็บข้อมูลของโรงงานต่อเนื่อง”
“ที่ผ่านมา ยังมีการร้องเรียนโรงงานอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาค่อนข้างมาก เช่น โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก โรงงานผลิตเครื่องดื่ม เช่น เบียร์ และโรงงานสกัดปาล์ม ซึ่งกระบวนการผลิตส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และที่เข้ามามากๆ เกี่ยวกับสถานที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ และฟาร์มเป็ด”
ดังนั้น อาชีพ นักทดสอบกลิ่น จึงมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และทักษะด้านนี้ก็ยังเปิดกว้างให้ทุกคนมาฝึกฝน ซึ่งไม่แน่ว่าถ้าใครมีความตั้งใจ ก็สามารถต่อยอดให้อาชีพนี้เป็นใบเบิกทาง ไปทำงานในประเทศที่ใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม ซึ่งตอนนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ทั้ง สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

ปัญหาสิ่งแวดล้อมแก้ได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ไปดูกันต่อมีเรื่องดีๆอะไรที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้บ้าง

จากแนวคิด 3R สู่ การ Upcycling ต้นแบบการลด ขยะสิ่งทอ ด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยี

ลดปัญหา Food Waste ด้วยนวัตกรรมที่เรียบง่าย ช่วยยืดอายุผลไม้ให้เก็บไว้กินได้นานขึ้น

IoT และ Big Data ช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจค้าปลีกอาหารได้อย่างไร

Previous articleสาลิกาคาบข่าว Vol.109
Next articleเปิดโมเดล จีน-ไทย ช่วยท้องถิ่นฝ่าวิกฤต ยกระดับ ของดีชุมชน สู่สินค้าขายดีบนอีคอมเมิร์ชชื่อดัง
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์