ช่างเชื่อม…ขาดตลาด

ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช่างเชื่อม (Welder) เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก

ข้อมูลในปี 2018 ระบุว่าทั่วประเทศมีความต้องการช่างเชื่อมมากถึง 3 แสนคน แต่กำลังผลิตทั่วประเทศมีเพียง 2 หมื่นคนเท่านั้น
ผลสำรวจสถิติของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เกี่ยวกับตลาดแรงงานที่มีทักษะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม จากภาพรวมประเทศไทยในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกำลังพัฒนาสู่ยุคดิจิตัลมีความต้องการแรงงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับสภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับโลก 6 สายงานหนึ่งในนั้นคืองานช่างเทคนิค อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างกล และ ช่างเชื่อม
ความต้องการแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรงงานที่จบทางด้านสายวิชาชีพ ซึ่งในกลุ่มงานดังกล่าวบุคลกรอาจจะไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องจะทำให้มีความได้เปรียบในสายงานเฉพาะทางได้ 
การขาดแคลนช่างเชื่อมส่งผลโดยตรงต่อสถานประกอบกิจการที่ต้องการช่างเทคนิคสำหรับควบคุมและบำรุงรักษาหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมที่มีทักษะการติดตั้ง การควบคุม และการบำรุงรักษาให้มีประสิทธิภาพ
รถไฟความเร็วสูง

ความต้องการแรงงานในสาขานี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีกเมื่อมีการส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการ Mega Project ของรัฐบาล เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานสาขาช่างเชื่อมจำนวนมาก

ดังที่ รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมงานเชื่อม หรือ KMUTT’S Welding Research and Consulting Center (KINGWELD) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนช่างเชื่อมที่มีทักษะสูง ซึ่งทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกัน พัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน อาทิ วิศวกรงานเชื่อม (Welding Engineer) ผู้ตรวจสอบงานเชื่อม (Welding Inspector) ครูช่างเชื่อม (Welding Instructor) และช่างเชื่อม (Welder) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งปลูกสร้างที่อยู่รอบตัวเกือบทั้งหมด เช่น งานโครงสร้างเหล็ก โครงสร้างอาคารสูง โครงสร้างสะพาน รวมถึงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ อุตสาหกรรมน้ำมัน แก๊สปิโตรเคมี เหล่านี้ล้วนจำเป็นที่จะต้องมีคุณภาพงานเชื่อมที่สูงมาก เพราะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตผู้คนจำนวนมาก

ช่างเชื่อม

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเพื่อพัฒนาช่างเชื่อมคุณภาพ เช่น ช่างเชื่อมโลหะ โดยได้ดำเนินการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานเชื่อม 7,000 คนต่อปี ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาช่างเชื่อม 1,200 คนต่อปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
อีกหนึ่งวิธีการแก้ไขปัญหานี้คือภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ออกแบบหลักสูตรการศึกษาร่วมกันให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รับสมัครทั้งนักศึกษาใหม่ และ Reskill-Upskill แรงงานในระบบ พัฒนาทักษะรองรับเทคโนโลยีการเชื่อมสมัยใหม่
ขณะที่นโยบายในยุคที่การศึกษายกกำลังสองของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน ตามแนวทางอาชีวะสร้างชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านระบบขนส่งทางรางให้สอดคล้องกับความต้องการ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการคมนาคมของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการกำลังคนอาชีวศึกษามากถึง 20,589 คน

จากความต้องการกำลังคนที่สูงดังกล่าว จึงจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านช่างเทคนิคระบบขนส่งทางราง ให้มีความรู้ทักษะ รองรับการขยายตัวของการลงทุนและการให้บริการระบบขนส่งทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรม และจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะกลุ่มช่างเชื่อม
แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า การจะผลิตกำลังคนให้ทันกับความต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จำนวนผู้ที่จะเข้าเรียนสายอาชีพยังไม่ทันกับความต้องการของตลาดแรงงาน แม้จะเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ง่ายนัก แต่คนอาชีวะก็พยายามแก้ เพราะตระหนักดีว่านี่คือหนทางที่จะสร้างคนอาชีวะพันธุ์ใหม่มาช่วยพัฒนาประเทศ 
นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าวในการให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานเปิดการฝึกอบรม “โครงการเตรียมความพร้อมนักศึกษา ก่อนเดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสำหรับอุตสาหกรรม NEW GROWTH ENGINE” ตอนหนึ่งว่า วันนี้ทิศทางของรัฐบาลมีความชัดเจนที่จะยกระดับเข้าอุตสาหกรรม 4.0 เพราะฉะนั้นหากเรายังใช้ค่าแรงขั้นต่ำมากำหนดผลตอบแทนแรงงาน เราก็จะไม่สามารถก้าวข้ามรายได้ขั้นกลางได้ เราจึงควรพัฒนาประชากรที่มีการเกิดน้อยลงให้เป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมใหม่ ค่าตอบแทนก็ควรจะสูงขึ้นตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่มีรายได้สูงของประเทศ เราต้องก้าวข้ามให้พ้นยุคค่าแรงถูก แต่การจะกำหนดค่าตอบแทนแรงงานจะต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของแต่ละสาขาอาชีพ

ช่างเชื่อม

“ยกตัวอย่างทุกวันนี้มีนักเรียนเรียนสาขาช่างเชื่อมกันน้อยลงทั้งๆ ที่ความต้องการของตลาดแรงงานสาขานี้สูงมาก เพราะต่างก็มองกันว่าช่างเชื่อมเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นงานที่ยาก แม้รายได้อาจจะสูงกว่าสาขาอื่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะเป็นแรงจูงใจให้มีคนอยากเข้ามาเรียน ฉะนั้น หากต้องการเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละสาขา ก็ควรที่จะต้องมีการพิจารณาปรับผลตอบแทนให้สูงตามทักษะฝีมือแรงงาน ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้แรงงานทั่วไปมีโอกาสยกระดับความรู้ความสามารถหรือเปลี่ยนสาขาอาชีพ เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย” ผอ.วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าว

ฟังแล้วก็เห็นด้วย!!!