บรรเทาปัญหา ‘คนตกงานเพราะโควิด’ ดึงลูกหลานชาวกาฬสินธุ์กลับบ้านเกิด สร้างอาชีพใหม่ที่ยั่งยืน

เพราะวิกฤตโควิด-19 เล่นงานภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วง ทำให้หลายหน่วยงานจำเป็นต้องขอให้พนักงานลาออก ส่งผลให้มี “คนตกงานเพราะโควิด” จำนวนมาก วุฒิพงษ์ องคะศาสตร์ ลูกหลานชาวอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในนั้น โดยเขาต้องออกจากงานประจำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ทำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งเขาทุ่มเทและไต่เต้าจนได้อยู่ในตำแหน่ง Production Engineer โดยไม่ทันตั้งตัว

“ตอนนั้นผมทำงานอยู่ในตำแหน่ง Production Engineer ที่นิคมโรจนะ จังหวัดอยุธยา ได้เงินเดือนอยู่ 30,000 กว่าบาท แต่พอเกิดวิกฤตโควิด ทางโรงงานก็ปิดกิจการ ผมก็ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมมาก้อนหนึ่ง ก็ตัดสินใจว่าเมื่อตกงานแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ที่อยุธยาแล้ว กลับบ้านเราดีกว่า”
วุฒิพงษ์ องคะศาสตร์ ชาวอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

“ผมรู้แค่ว่าอยากจะกลับมาทำเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเห็นแนวทางว่าสามารถทำได้ แต่แค่ต้องสู้กับสภาพอากาศร้อนแล้งให้ได้เท่านั้น”

เมื่อวุฒิพงษ์เดินทางกลับมาที่บ้านเกิด เขาอาจยังไม่ได้ทำเกษตรพอเพียงตามที่มุ่งมั่นไว้ แต่เขาสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่เขามีในฐานะวิศวกรฝ่ายผลิต วางแผนสร้างประโยชน์ตอบแทนคุณแผ่นดินเกิดได้ ภายใต้ “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานราก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงาน เพราะวิกฤตโควิด-19” ได้  
โดยโครงการนี้เป็นการริเริ่มของ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวทางพระราชดำริ ซึ่งจับมือร่วมกัน หน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กำหนดพื้นที่ดำเนินโครงการนี้ใน 3 จังหวัดนำร่องในภาคอิสานของไทย ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ บ้านเกิดของวุฒิพงษ์นี่เอง

ที่มาของโครงการต้นแบบ แก้ปัญหา คนตกงานเพราะโควิด พร้อมสร้างอาชีพใหม่ในบ้านเกิด อย่างได้ผล

ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวทางพระราชดำริ ได้บอกเล่าที่มาของโครงการฯช่วยบรรเทาปัญหา คนตกงานเพราะโควิด ที่ทาง มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ริเริ่มนี้ว่า
ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวทางพระราชดำริ

“เราวางระยะเวลาดำเนินโครงการไว้ 3 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 ซึ่งทางสถาบันฯ ได้วางแผนการบรรเทาปัญหา คนตกงานเพราะโควิด ด้วยการดึงลูกหลานกลับบ้านเกิด และมาร่วมกันพลิกฟื้นผืนดินทำการเกษตร ซ่อมสร้างแหล่งน้ำ วางระบบชลประทานในท้องถิ่นให้กลับมามีประสิทธิภาพ เพื่อปูทางสู่อาชีพใหม่ที่ยั่งยืนตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ใช้ประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของสถาบันฯ ด้วยการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ (area base) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในโครงการฯ โดยเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ต่อด้วยการพัฒนาการเกษตรหลังมีน้ำ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในภาคเกษตร ตามหลักทฤษฎีใหม่ที่มีเป้าหมายให้คนพึ่งพาตนเองได้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • เลือกแหล่งน้ำที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มีความต้องการ ผ่านกระบวนการประชาคมเรียบร้อยแล้ว เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการนี้
  • ใช้วิธีการพัฒนาในรูปแบบที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ” เชื่อมั่น คือ คนในชุมชนมีส่วนร่วม ด้วยการมาร่วมมือลงแรงกัน ส่วนมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจะเป็นผู้จัดหาและสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นทั้งหมด
  • กำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าจะจ้างงานผู้ถูกเลิกจ้างจากวิกฤตโควิด-19 ให้มาช่วยงานโครงการ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ ประยุกต์ใช้แนวพระราชด่าริไปด้วย
  • มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว แม้วิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปทำงานในเมือง ให้หันมายึดอาชีพทำการเกษตรในภูมิลำเนา เป็นพลังในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น ประสิทธิ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการฯนี้ ยังยึดหลักการดำเนินงานตามแนวทาง 4 ประสาน 3 ประโยชน์ ที่ประกอบด้วยกำลังสำคัญ คือ
ภาคประชาชน ได้แก่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดทำให้ต้องตกงานและเดินทางกลับมายังบ้านเกิด ชาวบ้าน เกษตรกร
ภาคราชการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานงานสำคัญดึงเอาความร่วมมือจาก เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ภาคเอกชน คือ สถานประกอบการ บริษัท ต่างๆ ที่พร้อมมาให้ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ชี้ให้เห็นถึงช่องทางการจำหน่ายและวิธีทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพ
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน วางแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่ วางเกณฑ์การคัดเลือกผู้ว่างงานให้ตรงกับภาระงาน รวมถึงสนับสนุนเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ และสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน จนได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากคนในชุมชน

โดย การทำงานร่วมกันของ 4 ประสาน นี้ ยังให้เกิด 3 ประโยชน์ที่ชัดเจน คือ
หนึ่ง ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กระจายน้ำไปยังแหล่งน้ำสู่พื้นที่การเกษตรแต่ละแปลงของเกษตรกรอย่างทั่วถึง
สอง การสร้างอาชีพใหม่ให้กับผู้ว่างงานเพราะวิกฤตโควิด การปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรในพื้นที่ให้เป็นการทำเกษตรแบบประณีต ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร มีการพัฒนาการตลาดที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
สาม สร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงในชุมชน ให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพทางเลือก บรรเทาปัญหาการว่างงานอย่างได้ผล

จากผู้นำชุมชน สู่ผู้นำจังหวัด พร้อมขานรับและขยายผลโครงการดีๆ สู่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล

ด้าน ธนิกา โคตรเสนา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบัวสามัคคี หมู่ 12 ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ได้บอกเล่าให้ฟังถึงสภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ ที่ได้รับการซ่อมแซมจนสามารถใช้การได้ โดยกลุ่มผู้ว่างงานที่หวนคืนกลับมายังท้องถิ่น ว่า
ธนิกา โคตรเสนา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบัวสามัคคี หมู่ 12 ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์

“ในพื้นที่ บ้านบัวสามัคคี มี ฝายทดน้ำห้วยปอ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 37 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัด เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร สามารถจุน้ำได้ประมาณ 36,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งด้านหน้าและด้านข้างชำรุดเสียหาย รั่วซึมจนกักเก็บน้ำไม่ได้ จนกระทั่งมีโครงการฯนี้ขึ้น ทำให้เกิดการซ่อมแซมจุดที่ชำรุดโดยกลุ่มลูกหลานชาวกาฬสินธุ์ ที่มาร่วมกันก่อสร้าง ทำผนังเสริมคอนกรีตด้านหน้า ติดตั้งระบบสูงยน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่แปลงเกษตร”

“จนตอนนี้ ชาวบ้านได้รับประโยชน์ 2 หมู่บ้านพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 91 ไร่ สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ขาดแคลนน้ำ”
“ความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะลูกหลานที่เดินทางกลับมาบ้านเกิด เพราะตกงานจากวิกฤตโควิด ดิฉันต้องขอบคุณวิกฤตโควิด ที่นำพาพวกเขาเหล่านี้กลับมา ทำภารกิจซ่อมแซมฝายแห่งนี้จนสำเร็จ โดยชาวบ้านรอคอยความสำเร็จนี้มาถึง 5 ปี เพราะเราไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซ่อมฝาย”
จากผู้นำท้องถิ่น ส่งไม้ต่อมายัง ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยธวัช เนียมศิริ ที่ได้เดินทางมายังพื้นที่ บ้านบัวสามัคคี แห่งนี้ เพื่อบอกเล่าภาพรวมของการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมแสดงความชื่นชมต่อโครงการฯนี้ว่า
ชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

“จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการพัฒนาแหล่งน้ำแหล่งน้ำและอาชีพตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานราก บรรเทาปัญหาผู้ตกงานเพราะวิกฤตโควิด-19 ทั้งหมด 37 โครงการ จำแนกเป็น การฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำ 15 โครงการ พัฒนาระบบกระจายน้ำ 22 โครงการ ซึ่งโครงการทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวจะสามารถสร้างอาชีพด้านการเกษตรได้ 9,820 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,110 ครัวเรือน”

“สำหรับ ฝายทดน้ำห้วยปอแห่งนี้ เมื่อมีน้ำเข้าถึงแปลงเกษตร ย่อมส่งผลดีต่อการเพาะปลูก ดังนั้น ผมมีความชื่นชมว่า การทำงานในแบบ 4 ประสาน 3 ประโยชน์ ที่ทำตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นี้ เป็นต้นแบบของการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ อย่างแท้จริง นำไปสู่ผลสำเร็จของการพึ่งพาตนเองได้ และสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน”

“โดยรูปแบบการทำงานที่เห็นผลประโยชน์เป็นที่ประจักษ์นี้ ทางจังหวัดกาฬสินธุ์จะได้วางแนวทางในการนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นของจังหวัด และจะวางนโยบายนำเสนอโครงการตามแนวทางการทำงานของสถาบันปิดทองหลังพระ เข้าสู่แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล ด้วย”
มาถึงวันนี้ ชีวิตของ วุฒิพงษ์ ผันเปลี่ยนมารับเงินเดือน 15,000 บาท และปฏิบัติงานในฐานะพนักงานประสานงาน โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานราก บรรเทาปัญหาผู้ตกงานเพราะวิกฤตโควิด-19 ในแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิด โดยเขาวางแผนว่าหลังจบโครงการนี้ เขาปวารณาตัวจะช่วยงานโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบนี้ต่อไป พร้อมเดินหน้าสานฝันในการทำเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นจริงต่อไป อย่างมุ่งมั่น โดยไม่คิดจะกลับไปทำงานในสถานประกอบการอีก

รับรู้ทุกแง่มุม ของการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ด้วยสติปัญญา และความร่วมมือของทุกคน

‘โควิด-19 ช่วยลดภาวะโลกร้อน ได้จริงหรือ?’ ฟังคำตอบพร้อมแนะทางออก ลดขยะพลาสติก ที่เพิ่มขึ้นจากวิถีนิวนอร์มอลอย่างไรให้ได้ผล

‘คนปันสุข’ ปลูกดอกไม้กระจายถึงดวงจันทร์

สมานแผลท่องเที่ยว Travel Bubbles เยียวยาอุตสาหกรรมทัวร์