เรียนรู้จาก มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ ตัวชี้วัด ‘ตลาดส่งออกผลไม้ไทย’ จะไปต่ออย่างไรหลังวิกฤตคลี่คลาย?

ด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบบนหัวคล้ายกับมงกุฎของราชินี จึงไม่น่าแปลกใจที่ มังคุด จะได้รับฉายาในวงการผลไม้เอเชียว่า “ราชินีผลไม้ (The Queen of fruits)” นอกจากนั้นในบริบทของ ‘ตลาดส่งออกผลไม้ไทย’ มังคุดยังเป็นผลไม้ส่งออกที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติและสร้างมูลค่าตีคู่มากับ ราชาแห่งผลไม้ไทย อย่าง ทุเรียน แบบสมศักดิ์ศรีทีเดียว

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ต้องยอมรับว่า ‘ตลาดส่งออกผลไม้ไทย’ ทุกประเภทได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า สำหรับตลาดส่งออกมังคุด แน่นอนว่า ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ตลาดหลักสำคัญของไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่รับ มังคุดสด และมังคุดแช่แข็ง ต้องปิดลงชั่วคราวเพราะพิษโควิดนี่เอง

อย่างไรก็ดี แม้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า เพราะการปิดประเทศ (Lockdown) รวมทั้งมีการชะลอนำเข้าสินค้าเกษตรในตลาดสำคัญ เช่น ประเทศจีน แต่เมื่อวันนี้ฟ้าเริ่มเปิดแล้ว จะดำเนินกลยุทธ์อย่างไรเพื่อดันให้ ‘ตลาดส่งออกผลไม้ไทย’ กลับมาเฟื่องฟูดังเดิม นี่เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ หรือ TPSO จึงได้เผยแพร่บทความผ่าน Facebook : TPSO.MOC ในหัวข้อ “ศักยภาพและอนาคตของมังคุด ราชินีผลไม้ไทย” ขึ้น เพื่ออัปเดตสถานการณ์ โดยเฉพาะศักยภาพของตลาดมังคุดเพื่อการส่งออก หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งทำให้เห็นภาพเส้นทางการเดินหน้าไปต่อของตลาดส่งออกผลไม้ไทยมากขึ้น

ตามไปดู สถานการณ์การผลิตและแนวโน้มความต้องการ มังคุด ในประเทศ กันก่อน

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามังคุดมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเกาะมลายูและประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยมาช้านาน ส่วนใหญ่นิยมปลูกในภาคใต้และภาคตะวันออก
มังคุดยังได้ชื่อว่าเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์อยู่ทุกส่วน ตั้งแต่ผลสุก ผลดิบ ต้น ราก ใบ ไปจนถึงเปลือกที่อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยา โดยทางการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์สมัยใหม่ให้การยอมรับเป็นยาเย็น หรือตามการแพทย์แผนจีน เรียกว่ามีฤทธิ์ “ยิน” ที่มีฤทธิ์ตรงข้ามกับ “หยาง” ช่วยปรับสมดุลของร่างกายได้ดี

จึงไม่น่าแปลกใจที่ มังคุด จะเป็นผลไม้หนึ่งในใจชาวไทยมานาน ทำให้สถานการณ์การผลิตและแนวโน้มความต้องการในประเทศอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาโดยตลาด ตั้งแต่ปี 2558 – 2562
เนื้อที่ให้ผล ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ของมังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 ร้อยละ 11.86 ร้อยละ 11.37 ตามลำดับ เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลรวมเพิ่มขึ้นทุกภาค จากการขยายเนื้อที่ปลูกใหม่ของชาวสวนในปี 2555 ที่เริ่มให้ผลผลิตในปี 2562
ในขณะที่ปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีเนื้อที่ให้ผล 428,000 ไร่ ผลผลิต 11,142.13 ตัน และมีผลผลิต 864 กิโลกรัมต่อไร่ เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.57 จากในปี 2562 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอก และติดผล
กอปรกับในปีที่ผ่านมาราคาผลไม้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่มีทิศทางที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมของผลผลิตในปี 2563 ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ความต้องการบริโภคมังคุดภายในประเทศยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นที่จำนวน 111,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 105,270 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.44 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่การปลูก และการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ จึงกล่าวได้ว่า ตลาดการบริโภคมังคุดในประเทศ ดูจะไม่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 เลย

ตลาดมังคุดเพื่อการส่งออก ตัวชี้วัด ‘ตลาดส่งออกผลไม้ไทย’ กำลังซวนเซเพราะพิษโควิด

ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกมังคุดรายใหญ่ของโลก ทั้งในส่วนของ มังคุดสด และมังคุดแช่แข็ง ส่งให้ตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยในปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) เป็นช่วงต้นฤดูการผลิตการส่งออกที่จะมีปริมาณมังคุดสดและมังคุดแช่แข็งรอส่งออกรวม 5,465 ตัน มูลค่า 255.38 ล้านบาท

ทว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบให้ตลาดส่งออกมังคุด ชะลอไปไม่น้อย
  • มังคุดสด
ปริมาณการส่งออก 5,465 ตัน มูลค่า 255.38 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ในช่วงเดียวกัน ที่มีปริมาณการส่งออก 52,350 ตัน มูลค่า 1,939.17 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 86.83 โดยมีการหดตัวที่ตลาดหลัก เช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
  • มังคุดแช่แข็ง
ปริมาณการส่งออก 0.007 ตัน มูลค่า 0.002 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ในช่วงเดียวกัน ที่มีปริมาณการส่งออก 21 ตัน มูลค่า 2.31 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 99.91 โดยมีการส่งออกเพียง 1 ประเทศ คือ ไต้หวัน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้หลายประเทศชะลอการสั่งซื้อและการปิดด่านการค้า (Lockdown) ของประเทศ นั่นเอง
ส่วนประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย นอกจาก อินโดนีเซีย แล้ว ยังมีเวียดนาม ซึ่งเป็นทั้งประเทศนำเข้ามังคุดจากไทย เพื่อเป็นนายหน้าส่งออกไปยังประเทศที่ 3 คือ จีน โดยเวียดนามจะได้เปรียบไทย ตรงที่สามารถใช้สิทธิการค้าชายแดนในการส่งออกมังคุด ส่วนใหญ่นำเข้ามาในจีนจากจุดผ่อนปรนทางการค้าชายแดนจีน-เวียดนาม
และจากการที่ทางการเวียดนามได้เดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเวียดนามขยายพื้นที่เพาะปลูกมังคุดเพิ่มขึ้น ทำให้เวียดนาม เพิ่มสถานะในการเป็นประเทศคู่แข่งรายใหม่ของไทยด้วยไปโดยปริยาย

แนะใช้จุดแข็ง ห่วงโซ่อุปทานมังคุด เพิ่มศักยภาพให้ตลาดส่งออกมังคุดของไทย

“การก้าวข้ามผ่านอุปสรรคที่จู่โจมตลาดส่งออกมังคุดของไทยอย่างที่กล่าวมานี้ จำเป็นต้องอาศัยพลังความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของตลาดมังคุดเป็นเสาหลัก” นี่คือสาส์นที่บทความออนไลน์ของ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ต้องการสื่อสารเป็นประการแรก ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ต้นน้ำ คือ เกษตรกรชาวสวนมังคุด ในปีการผลิต 2562 มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกร 139,586 ครัวเรือน เนื้อที่ให้ผลผลิต 425,573 ไร่ ผลผลิต 539,914 ตันผลผลิตต่อไร่ 827 กิโลกรัม พื้นที่ปลูกมังคุดที่สำคัญ ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง นครศรีธรรมราช ชุมพร และนราธิวาส เดือนที่มังคุดออกผลผลิตจำนวนมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมของทุกปี
  • กลางน้ำ ประกอบด้วย พ่อค้าแม่ค้า ผู้ค้าส่งผู้ค้าปลีก สถาบันเกษตรกร ผู้รวบรวม (ล้ง) ที่มีส่วนร่วมกิจกรรม ได้แก่ การจัดการ การรวบรวม การเก็บรักษา การคัดแยก การตรวจสอบคุณภาพสินค้า ผลผลิตการเกษตรที่ถูกรวบรวมจะถูกนำไปดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง รวบรวมเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในรูปมังคุดสด ซึ่งจะส่งต่อไปยังตลาดที่อยู่ในระดับปลายน้ำ สอง รวบรวมเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปสินค้า เช่น มังคุดแช่แข็ง น้ำมังคุด เป็นต้น
  • ปลายน้ำ คือ กระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรทั้งที่อยู่ในรูปของผลสดและสินค้าเกษตรแปรรูปออกสู่ตลาด โดยสินค้าจะถูกจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้า ผู้ค้าส่งผู้ค้าปลีก สถาบันเกษตรกร ผู้รวบรวม (ล้ง) ซึ่งทำหน้าที่กระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค สำหรับมังคุด มีการบริโภคภายในประเทศร้อยละ 30 และส่งออกไปยังต่างประเทศในรูปแบบมังคุดสดและมังคุดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 70

การแปรรูปมังคุด คือคำตอบในการเพิ่มมูลค่าให้มังคุดไทย โดดเด่นในตลาดส่งออกอีกครั้ง

ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า พืชผลทางการเกษตร พึ่งพาปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้ไม่สามารถกำหนดปริมาณผลผลิตที่ชัดเจนออกสู่ตลาดได้
ประกอบกับการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศนิยมใช้การขนส่งทางเรือที่มีต้นทุนต่ำกว่าเครื่องบิน ทำให้มีระยะเวลาในการขนส่งมากกว่า การแปรรูปเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ให้สามารถเก็บได้นานขึ้น บริโภคนอกฤดูกาลได้และสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ จึงเป็นทางออกในการเพิ่มมูงงค่าให้กับมังคุดในตลาดการส่งออกได้

โดยการแปรรูปมังคุด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น มังคุดแช่แข็ง และน้ำมังคุด นอกจากการแปรรูปมังคุดเพื่อการบริโภคแล้ว ยังมีการแปรรูปเปลือกมังคุดในลักษณะผลิตภัณฑ์ความงาม เช่น สบู่เปลือกมังคุด ลิปมันเปลือกมังคุด โลชั่นเปลือกมังคุด และโทนเนอร์เปลือกมังคุด ด้วย
เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างความสำเร็จในการแปรรูปมังคุดที่สามารถยึดเป็นต้นแบบได้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเจดีย์ ตำบลลานสกา อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รวมกลุ่มกันนำผลผลิตที่ได้จากสวนมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น มังคุดกวน น้ำมังคุด เป็นต้น ช่วยให้มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมังคุดออกมาขายได้ทั้งปี
นอกจากนี้ยังเป็นโมเดลมังคุดต้นแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว ได้วางแผนการผลิต บริหารจัดการ และขอรับรองสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI มังคุดลานสกา) รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ด้วย

ชี้ทางรอดเพิ่มเติม ตลาดส่งออกมังคุด ไปต่อได้อย่างไร หลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย
นอกเหนือจากการใช้จุดแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตมังคุดที่เป็นรูปธรรมและการแปรรูปมังคุด มาเป็นวิธีในการทำให้ มังคุด ยังคงรักษาตำแหน่งราชินีแห่งผลไม้ไทย ที่สร้างรายได้ให้ภาคการเกษตรไทยเป็นอันดับต้นๆแล้ว ทาง สนค. ยังได้ฝากข้อเสนอแนะ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมังคุดของไทยได้นำไปปรับใช้ เพื่อเดินหน้าตลาดส่งออกผลไม้ไทยให้เฉิดฉายในตลาดโลกได้เหมือนเดิมหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย ดังนี้

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปส่งเสริมให้ความรู้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มเติม
ไม่ว่าจะเป็น การปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บรักษา เพื่อให้สวนของเกษตรกรผ่านการรับรองตามมาตรฐาน (Good Agricultural Practices: GAP) และการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management: IPM)
รวมทั้งผู้ประกอบการ ที่มีความประสงค์ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูป จะต้องมีโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรอง (Good Manufacturing Practice: GMP) ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและป้องกันการบังคับใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีกับสินค้าเกษตรของไทย
  • ส่งเสริมการตลาดมังคุดไทยให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศให้มากขึ้น
ด้วยการจัดบูธผลไม้ไทยตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อแสดงเอกลักษณ์และเสน่ห์ของผลไม้ไทย โดยการสอนวิธีการรับประทานของผลไม้ชนิดต่างๆ เชิญชวนให้ทดลองชิมผลไม้ พร้อมทั้งการนำผลไม้ไทยไปประยุกต์ทำอาหารให้เข้ากับอาหารพื้นถิ่นของนานาประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มังคุดไทย
ควรทำควบคู่ไปกับการจัดทำสื่อเผยแพร่สรรพคุณ ประโยชน์ของผลไม้ แหล่งที่มาการปลูก และการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรก่อนที่จะนำมาวางขายสู่ผู้บริโภค

  • ลดความเสี่ยงและการพึ่งพาการส่งออก เน้นจำหน่ายผู้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างที่เกริ่นมาว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกมังคุดไปยังประเทศคู่ค้าได้ เพราะเกิดการชะลอการสั่งซื้อผลไม้ไทย โดยเฉพาะจีน ซึ่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ผลผลิตมังคุดจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐได้พยายามดำเนินการเจรจาเพื่อเปิดด่านการค้าเพื่อการส่งออกผลไม้ไปจีน หลังจากที่จีนมีการคลี่คลายสถานการณ์แพร่ระบาดลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตปี 2563 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทย อาจลดความเสี่ยงและการพึ่งพาการส่งออกลด โดยเน้นการจำหน่ายผู้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นใช้หลักการ “ไทยผลิต ไทยใช้ ช่วยไทยเอง” หรือปรับเปลี่ยนขยายตลาดจากมังคุดสดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมังคุด อย่างที่แนะนำข้างต้น
  • เกาะกระแสการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Organic) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดเอเชียและยุโรป
มังคุดนอกจากเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวาน อร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร รักษาและฟื้นฟูผิวพรรณด้วยอย่างที่เกริ่นมา  ผู้ประกอบการจึงสามารถสร้างสตอรี่เกาะกระแสการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Organic) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดเอเชียและยุโรปได้
โดยการนำมังคุดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม หรือ Skin Care อย่างที่กล่าวมา ซึ่งถ้ามีการส่งเสริมและสนับสนุนการตลาดให้เป็นที่ยอมรับให้ระดับสากล ก็อาจจะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของมังคุด โดยมูลค่าธุรกิจด้านสุขภาพและความงามของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท
  • พึ่งช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ในการระบายมังคุดสู่ตลาด
เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านหน่วยงานราชการหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ การแปรรูปสินค้าซื้อขายผ่านกลไกสหกรณ์การเกษตร รวมถึงตลาด Modern Trade ตลาดกลางสินค้าเกษตรต่างๆ และเน้นไปที่ตลาดการซื้อขายผ่านระบบ online พร้อมทั้งสลับหมุนเวียนขายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงการตลาดระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค (Local Link) ให้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าแบบขาเดียว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ได้สินค้าสดจากสวนในราคาที่ยุติธรรม
  • ส่งเสริมให้แหล่งผลิตมังคุดเป็นทั้งแหล่งเพาะปลูก และแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรครบวงจร
เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มเติม โดยต้นแบบของโมเดลนี้อยู่ที่ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้ต่อยอดสวนมังคุด 100 ปี ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งมีการขอรับรองสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI มังคุดลานสกา) ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนพร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของแหล่งเรียนรู้วิถีชุมชนไทย

ที่มา : บทความประกอบอินโฟกราฟิก หัวข้อ “ศักยภาพและอนาคตของมังคุด ราชินีผลไม้ไทย” โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ หรือ TPSO เผยแพร่ใน Facebook : TPSO.MOC


เรียนรู้ให้รอบด้าน ทางออกของตลาดสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

รีวิว 8 พฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียน ASEAN ที่เปลี่ยนไปเพราะวิกฤต ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้โตไม่หยุดได้ ภายในปี 2030

ประกันภัยวงจรเกษตร แนวหนุนสำคัญ ดันไทยสู่ครัวโลก

New Normal ที่ต้องรู้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป-โอกาสสินค้าไทยในตลาดจีน หลัง COVID-19

Previous articleLifetime University : อายุเท่าไหร่ก็เรียนรู้เพื่อเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้
Next articleสาลิกาคาบข่าว Vol.172
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์