ศูนย์วิชาการจุฬาฯ เผยผลวิจัยการละเมิดลิขสิทธิ์วิดีโอออนไลน์ (VSP) กระทบการจ้างงาน

ไม่นานมานี้ ศูนย์วิชาการจุฬาฯ เผยผลวิจัยการละเมิดลิขสิทธิ์วิดีโอออนไลน์ (VSP) ว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 90,000 ล้านบาท และยังบอกเพิ่มว่า ‘การบังคับใช้กฎหมายที่ยังอ่อนแอ’ เป็นปัจจัยหนึ่ง

วิจัยพบการละเมิดผ่านการแชร์วิดีโอออนไลน์ การไลฟ์และตัดต่อผลงานผู้อื่น การวิจารณ์งานลิขสิทธิ์ยังสุ่มเสี่ยง 

ศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการศึกษาจาก โครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ออุตสาหกรรมของสื่อออนไลน์ในไทยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกฎหมาย (COPYRIGHT & VIDEO SHARING PLATFORM หรือ VSP)” พบการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการแชร์วิดีโอออนไลน์ สร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท อัตราจ้างงานลดลงถึงกว่าสี่หมื่นตำแหน่ง และยังส่งผลให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งานต่อ เพราะผลงานไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง
  • กระทบภาคอุตสาหกรรมคอนเทนต์​ สูญจีดีพีถึง 0.55 % ลดการจ้างงานถึง 37,956 ตำแหน่ง 
  • เสนอแนวทางการบังคับคดีโดยเอกชน สร้างบรรทัดฐานการใช้กฎหมายพร้อมสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย
ย้อนดูกฎหมายไทยยังอ่อน
ผู้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ทำได้เพียงยื่นคำร้องขอให้ระงับหรือบล็อกการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนกระบวนการบังคับคดีกระทำได้โดยรัฐเท่านั้น จึงมีการเสนอทางเลือกใหม่ด้วยกลไกการค้า ใช้การบังคับคดีโดยเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการหรือแพลตฟอร์มนั้นๆ สามารถแจ้งเตือนผู้ละเมิดให้เอาเนื้อหาออก (Notice & Takedown) ตลอดจนดำเนินคดีฟ้องร้องได้เอง ลดภาระเจ้าของลิขสิทธิ์ พร้อมกระตุ้นความรับผิดชอบฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มให้มากขึ้น ย่อมส่งผลให้เชิงบวกกลับสู่อุตสาหกรรมของสื่อออนไลน์ในไทยได้อย่างแน่นอน
ปัจจุบันนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์กระตุ้นให้เกิดบริการบนอินเทอร์เน็ตที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถรับชมเนื้อหาวิดีโอบนแพลตฟอร์ม และยังสามารถเผยแพร่วิดีโอของตนเองบนแพลตฟอร์มได้หรือ VSP (Video-sharing platforms) โดยมีบริการ VSP หลายราย เช่น LINE TV, Vimeo, Facebook, Dailymotion, YouTube ตลอดจนเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้บุคคลทั่วไปหันมาเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อหรือผู้ผลิตเนื้อหาเอง ทั้งการคิดขึ้นใหม่ และรีมิกซ์ พร้อมอัพโหลดเนื้อหาของตนเองขึ้นแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างอิสระและง่ายดาย

ขณะเดียวกันผู้ผลิตสื่อดั้งเดิมก็ได้ปรับเปลี่ยนมาให้บริการและเผยแพร่สื่อของตนผ่านทางช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ส่งผลในเชิงบวก ทำให้เกิดเนื้อหาจำนวนมากและมีความหลากหลายขึ้น นับเป็นโอกาสใหม่ที่ผู้สร้างสรรค์จะเผยแพร่และหารายได้จากผลงานของตน
ส่วนผลกระทบเชิงลบคือ เมื่อการแบ่งปันหรือเผยแพร่วีดิโอของตนเองได้ง่าย ทำให้ผู้ใช้บริการอาจละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ง่ายทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา อีกทั้งเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ยังมีคุณภาพทัดเทียมกับต้นฉบับ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เกิดการเสพสื่อและส่งต่อสื่อละเมิดนั้นต่อไปไม่สิ้นสุด และยังเป็นเครื่องมือ “ปั่นยอดวิว” สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับผู้กระทำผิดละเมิดโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมาก
ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการละเมิดลิขสิทธิ์บน VSP ก่อให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างมาก โดยจะก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพราะรายได้บางส่วนที่ผู้ผลิตเนื้อหาควรจะได้รับจากการรับชม ได้ตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรืออาจจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจเลย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับทั้งห่วงโซ่มูลค่าของการผลิตเนื้อหาทั้งในด้านผลผลิตและการจ้างงาน และสุดท้ายยังจะลดแรงจูงใจในการผลิตเนื้อหา ส่งผลให้คุณภาพและความหลากหลายของเนื้อหาลดลง 

จากการศึกษาใน “โครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ออุตสาหกรรมของสื่อออนไลน์ในไทยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกฎหมาย (COPYRIGHT & VIDEO SHARING PLATFORM)”  ซึ่งจัดทำขึ้นโดยศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบความเสียหายของการละเมิดลิขสิทธิ์บน VSP ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2017 อยู่ระหว่าง 58,575 to 92,519 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.35 ถึง 0.55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รวมทั้งยังผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยตรง ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สูงสุดรวมกว่า 44,782 ล้านบาท ทำให้การจ้างงานลดลงเป็นจำนวน 24,030 ถึง 37,956 ตำแหน่งเลยทีเดียว
อีกทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ยังเป็นปัญหาสําคัญที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนได้ นอกจากนั้นอิทธิพลจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานของตนเอง ยังส่งผลให้ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์รู้สึกหมดกำลังใจในการผลิตงานออกสู่สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ และยังส่งผลให้แพลตฟอร์มที่มีการดำเนินการซื้อขายคอนเทนต์อย่างถูกต้องได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากงานอันมีลิขสิทธิ์อาจถูกละเมิดโดยไม่ได้รับการชดเชย หรือมีการนำไปใช้เพื่อการแมชอัป โดยเจ้าของลิขสิทธิ์เองไม่ได้รับส่วนแบ่งด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์บน VSP โดยเฉพาะในหมู่ผู้สร้างสรรค์งาน ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายก็ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ออกมาตามสื่อสาธารณะต่างๆ ว่า ได้รับความเสียหายจากการไม่บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ดีและชัดเจนพอบน VSP ในประเทศไทย ควบคู่ไปกับประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์
เนื่องจากวิดีโอที่นำเข้าสู่ระบบ ได้แก่ การโพสต์หรือถ่ายทอดสดวิดีโอของบุคคลอื่นซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งการไลฟ์ อาทิ การโพสต์หรือถ่ายทอดสดวิดีโอของตนเองที่มีงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นเป็นองค์ประกอบสำคัญ ตลอดจนการโพสต์หรือถ่ายทอดสดวิดีโอของตนเองที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น ยังมีความล่อแหลม และยากต่อการประเมินว่าอาจมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งบางกรณีก็เห็นได้ชัด บางกรณีก็ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ในขณะเดียวกัน หากย้อนมองกลับมาที่กฎหมายไทยในปัจจุบัน ผศ.ดร.ปิยะบุตร เผยว่าจากการการศึกษาในโครงการฯ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้ผู้ให้บริการ VSP รายใหญ่มีการทำข้อตกลงกับผู้ถือลิขสิทธิ์บริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ระดับโลกและในไทย เกี่ยวกับค่าลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับด้วยการต่อสัญญาระยะยาว โดยมีตรวจจับลิขสิทธิ์อัตโนมัติอย่าง Content ID ทำให้สามารถเรียกร้องสิทธิของตนเองผ่านกระบวนการการแจ้งเตือนให้เอาเนื้อหาออก (Notice and Takedown) สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กๆ กลับไม่ได้รับความคุ้มครองแบบเดียวกัน ในขณะที่ข้อกฎหมายและการบังคับใช้ทางกฎหมายก็ยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของแพลตฟอร์ม ไม่สามารถจัดการสกัดกั้นกับผลงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันที แม้จะมีเทคโนโลยีรองรับแล้วก็ตาม ก็จะต้องมีขั้นตอนในการขอหมายศาล ต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาเสียก่อน จึงเกิดความยุ่งยากให้กับทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะดำเนินการเอาผิดผู้ละเมิด

ด้วยเหตุที่กระบวนการบังคับคดีโดยรัฐและการมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอาญาเป็นหลักนั้น ยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เห็นได้ชัดจากกรณีข่าว เด็กทำกระทงละเมิดลิขสิทธิ์โดราเอมอนและคาแรกเตอร์อื่นๆ ซึ่งต่อมาขยายผลเป็นเรื่องการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์เพื่อสร้างรายรับหรือประโยชน์อันไม่ควรได้เข้ากระเป๋าตัวเอง จึงควรที่จะพิจารณาเพิ่มทางเลือกในการบังคับคดีโดยเอกชน ที่ผู้ประกอบการสามารถใช้กระบวนการในลักษณะเดียวกันกับการแจ้งเตือนให้เอาเนื้อหาออก (notice & takedown) โดยเฉพาะการแจ้งเตือนไปยัง VSP หรือเจ้าของแพลตฟอร์มนั้นๆ ที่ควบคุมดูแลเนื้อหาโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้ VSP มีความรับผิดชอบที่จะต้องเอาเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออก ภายหลังถูกแจ้งว่าละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว (editorial control) และช่วยให้เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการบังคับคดีโดยรัฐอีกต่อไป
นับเป็นการสร้างระบบนิเวศในการผลิตคอนเทนต์และเผยแพร่ที่ปลอดภัยและสมบูรณ์และสร้างบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาระการจัดการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย ทั้งในแง่ของภาษีและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพอย่างเร็วที่สุด เพื่อยับยั้งการกระทำผิดด้านละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศ และเพิ่มแรงขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์ผลงานของนักคิดและผู้ผลิตคอนเทนต์คุณภาพต่อไป