Cassette Tape “สื่อโบราณ” ที่ไม่ยอมถูก Disrupt (ตอนแรก)

ห้วงปี-สองปีมานี้ วงการเพลงไทยมีบรรยากาศการลุกขึ้นยืนและปรบมือต้อนรับการกลับมาของ “Cassette Tape” หรือที่เราคุ้นเคยกับคำเรียกว่า “เทป” กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง


แม้สนนราคาการหวนคืนวงการครั้งนี้ ราคา Cassette Tape จะดีดตัวขึ้นมาเป็น 10 เท่า คือจาก 65 บาท กลายมาเป็น 650

ไม่เฉพาะศิลปินไทย เพราะบรรดานักดนตรีรุ่นใหม่ทั่วทุกมุมโลก ได้หวนกลับมาทำเทปออกวางแผงกันใหม่ในยุคที่วงการเพลงก้าวสู่ความเป็น Digital อย่างเต็มรูปแบบ

แม้ผลงานของเหล่านักร้องชาวไทยจะมีการผลิตเทปใหม่กันในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่า มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความคึกคักแก่วงการได้พอสมควร

โดยเฉพาะศิลปินต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีแถวหน้า ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ต่างก็มีการออกผลงานอัลบั้มใหม่ในรูปแบบเทปกันเป็นจำนวนมาก

ถ้าไล่เรียงจากรายชื่อกันจริงๆ เราจะพบว่าศิลปินชั้นแนวหน้าในวงการเพลงสากลจำนวนมากหวนกลับมาออกอัลบั้มในรูปแบบ Cassette Tape ที่หลายคน หลายวง หลายอัลบั้ม Sold-out หรือขายหมดเกลี้ยงแผงทันทีในวันแรกที่ประกาศวางจำหน่าย

ชี้ให้เห็นความต้องการของแฟนเพลง ที่ถ้าดูจากชื่อเสียงเรียงนามศิลปินแล้ว หลายชื่อ เป็นศิลปินรุ่นใหม่ แน่นอนว่า กลุ่มแฟนคลับย่อมต้องเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยกันที่อุดหนุนเทปเหล่านี้

หันมาดูในบ้านเรา แม้คลองถมจะเปลี่ยนรูปแบบไป แต่วงการขายของออนไลน์ในหมวดเทปมือสองยังได้รับความสนใจอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความต้องการของแฟนเพลงชาวไทยเช่นเดียวกัน

จากการพูดคุยกับคนในวงการเทปเกี่ยวกับราคาค่างวดของ Cassette Tape ยุคนี้ ว่าเหตุใดถึงแพงมาก บางม้วนตั้งราคา 750 ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจะ Sold-out เกลี้ยงแผงในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิด Pro-order ใน Facebook

ผู้คร่ำหวอดในแวดวงเพลงไทยให้ข้อมูลว่า เพราะในบ้านเราไม่มีโรงงานปั๊มเทปเหลืออยู่อีกแล้ว เทปที่ผลิตขึ้นในห้วงปี-สองปีมานี้ ล้วนเป็นการว่าจ้างโรงงานต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ราคาจึงแพงอย่างที่เห็น

ผมยังจำได้ดี เมื่อครั้งที่เทปตายไปจากวงการเพลงใหม่ๆ ในยุค CD กำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด ราคาเทปมือสองที่คลองถมบางม้วน 5 บาท ยังไม่มีใครเอา

แต่หลังจากช่วงเวลาทองของ CD ได้ถูก Disruption โดย Music Streaming กลายเป็นว่า ทั้งเทปเก่า และ CD โบราณกลายเป็น “ของสะสม” ที่มีมูลค่าซื้อขายกันในตลาดมือสอง ไม่แพ้วงการพระเครื่องแต่อย่างใด

วงการเทปมือสองนั้น มีการปั่นราคากันสนุกมาก เนื่องจากสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด ตามหลักเศรษฐศาสตร์ Demand-Supply แม้เทปจะเป็นสื่อที่มีการปลอมมากที่สุด ทว่า การดูเทปปลอมไม่ยากเท่าดูพระเครื่อง

โดยเฉพาะเมื่อมี “เกจิเทป” บ้านเราที่ผมเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่า “เซียนพระ” หลายเท่าคอย Screen ตลาดให้อยู่

เราคงเอาราคาเทปมือสองไปเทียบกับ CD มือสอง หรือแผ่นเสียงมือสองไม่ได้นะครับ เพราะต้องถือว่าเป็นสินค้าคนละประเภทกัน แม้จะเป็นสื่อบันทึกเพลงเหมือนกัน

โดยต้องยอมรับว่า ในบรรดาสื่อดนตรีทั้งหมด เทปมีคุณภาพเสียงที่แย่และเสื่อมสภาพเร็วที่สุด รองลงมาคือ CD และแผ่นเสียงที่คู่คี่กัน แต่แผ่นเสียงจะมีราคาแพงกว่าในตลาดของมือสอง เนื่องจากรสนิยมการฟังแผ่นเสียงเคยเป็นกลุ่มเฉพาะในหมู่คนมีกะตังค์ในยุคที่ CD เป็นของดาษดื่น และแผ่นเสียงปลอมนั้นมี 0% ต่างจาก CD ประมาณ 20% และเทปราว 30%

จุดเด่นของเทปคือ มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาง่าย มีข้อมูลในปกเทปสีสันสดใสให้อ่านและเก็บบันทึกเป็นของสะสมสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความคลาสสิกมาก และได้กลับมาฮิตในหมู่ Hipster รุ่นใหม่ Gen Y ที่ยุคนี้ต่างโหยหาสื่อบันทึกเสียงรุ่นพ่อรุ่นแม่เอาไว้อวดเพื่อน

ประกอบกับมีการนำเข้าเครื่องเล่นเทป “ซาวน์ดเบ๊า” ชนิดพกพา หรือ Walkman ที่เคยรุ่งเรืองในยุค 80 กันตาม Facebook ต่างๆ มีบริการร้านซ่อมและร้านอะไหล่ให้เสร็จสรรพ และสนนราคาที่ไม่แพงคืออยู่ระหว่าง 1,000 ไม่เกิน 2,500 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ Gen Y รับได้

เหตุดังนั้น เราจึงได้เห็น่เทปของศิลปินไทย โดยเฉพาะนักดนตรีอินดี้หลายเบอร์ที่เปิดจองเทปกันไม่กี่ชั่วโมงก็พรึ่บเกลี้ยงแผง วันรุ่งขึ้นเทปดังกล่าวถูกปั่นราคาขึ้นอีก 2 เท่า 3 เท่า และกลายเป็นของหายากไปในที่สุด ทว่า ก็อุตส่าห์ยังมีคนไถ่ถามตามหามาเป็นเจ้าของ!

และแทบไม่น่าเชื่อว่า จะมีการทำ “เทปผี” กันออกมาอีกในยุค Music Disruption นี้!!

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าตลาดเทปมือสองจะขายดีและราคาแพงจากการปั่นกันทุกม้วนทุกเบอร์ เพราะเทปก็เหมือนพระเครื่อง ที่มีพิมพ์นิยม และเอกลักษณ์แบรนด์เฉพาะตัว

เพราะราคาเทปมือสองที่แพงๆ นั้น ก็เป็นเฉพาะศิลปินระดับหัวแถวยุค 80 90 หรือที่ภาษาคนในวงการเรียกกันว่า “เบอร์หัวๆ” เท่านั้น

และสนนราคาก็มีการไล่ระดับลงมาเรื่อยๆ จากหลาย 1,000 หรืออาจเกือบแตะหลัก 10,000 บาท ไปจนถึงราคา 5 บาท หน้าแผงคลองถมดังที่ผมได้กล่าวไปนั่นเองครับ!!!


วงการเทปในกระแส Music Disruption ยังมีอะไรที่คาดไม่ถึงให้ติดตามกันในตอนต่อไป


ติดตามความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเพลงอยู่ใช่ไหม บทความเหล่านี้อาจถูกใจต่อคุณ

ใครช่างคิด ประดิษฐ์ “ซาวเบ๊า” ต้นแบบการฟังเพลงจากมือถือ

Disruption ซ้อน Disruption เมื่อ MP3 หายไปจากโลก

‘ยุคมือถู’ ศัตรูตัวฉกาจ วงการบันเทิง โลกวรรณกรรม ธุรกิจบริการ