The Birmingham Museum of Art “พิพิธภัณฑ์ชั้นดี” สะท้อนความเป็นอารยประเทศ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองเบอร์มิงแฮม (The Birmingham Museum of Art) รัฐแอละบามา สหรัฐอเมริกา กับเพื่อนที่เป็นนักศึกษาฝึกงานของที่นี่ค่ะ


นอกจากได้เยี่ยมชมแบบมีไกด์ส่วนตัว บรรยายให้ฟังเกือบทุกชิ้นงานที่เดินผ่านแล้ว จึงถือโอกาสสัมภาษณ์เพื่อนว่า เพราะอะไรคนที่นี่ถึงมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์กัน?

เพราะโดยส่วนตัว ผู้เขียนไม่ได้ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากนัก แต่เพราะเพื่อนชวนมา และในวันนั้นมี อาจารย์ของเพื่อนมาเล่าเรื่องราวของงานศิลปะที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของรัฐแอละบามา และเป็นช่วงที่มีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาบาร์บี้ ผู้เขียนเลยอยากไปฟัง ไปดูว่าจะเป็นยังไง

The Birmingham Museum of Art
ด้านหน้าของ The Birmingham Museum of Art | By Sean Pathasema https://commons.wikimedia.org
การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาบาร์บี้ // www.artsbma.org

แต่พอได้เข้าไปพิพิธภัณฑ์เท่านั้นแหละ ยิ่งเดิน ยิ่งชมก็ยิ่งเกิดความสนใจในความเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาทันที อาจเป็นเพราะความสวยงามของรูปภาพ ผลงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง รวมทั้งความน่าสนใจของแหล่งเรียนรู้ภายใน ทำให้เวลาในวันนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ก่อนจะเฉลยคำตอบข้างต้น ขอเล่าประวัติของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้พอสังเขปกันก่อนค่ะ

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองเบอร์มิงแฮม อยู่ภายใต้การดูแลของเมืองเบอร์มิงแฮม ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไป มีการจัดแสดงภาพวาด ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะการตกแต่งกว่า 20,000 ชิ้น จากหลากหลายประเทศทั่วโลก

ไม่เพียงแต่ผลงานเกี่ยวกับอเมริกา แต่ยังมีงานศิลปะจากฝั่งยุโรป แอฟริกา เอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งได้มาจากการจัดซื้อของเมืองเบอร์มิงแฮม และการบริจาคของเศรษฐีใจบุญทั่วโลก

The Birmingham Museum of Art
นิทรรศการ So close to haven จัดแสดงพระพุทธรูปจากประเทศต่างๆ ผู้อ่านทราบไหมคะว่า องค์ใดมาจากประเทศไทย

ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงผลงานทั้งในอาคาร และโซนพลาซ่าภายนอกอาคาร ให้ผู้เข้าชมได้เปลี่ยนบรรยากาศ ออกไปสูดอากาศ และกลับเข้ามาทัศนาความงามของศิลปะข้างในอาคารอีกครั้ง

แล้วก็ยังมีห้องไว้บรรยายงานศิลปะจากศิลปินหรือ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ห้องแสดงนิทรรศการที่หมุนเวียนการแสดงผลงานอยู่เป็นระยะ ห้องจัดเลี้ยง สังสรรค์ ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก

นอกจากนี้ ยังมีคลาสสอนงานศิลปะประเภทต่างๆ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย และแบบเสียค่าธรรมเนียมอยู่ตลอดปี

The Birmingham Museum of Art
ตัวอย่างการจัดแสดงผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์

สำหรับคำตอบของการมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ของคนที่นี่ เพื่อนผู้เขียนให้ข้อสังเกตว่า มีด้วยกัน 4 ข้อหลัก (เรียงตามข้อสังเกตของเพื่อน) ได้แก่

  1. มาเพื่อออกเดท (ฮิๆ) เขาสังเกตเห็นว่า มีหนุ่มสาวหลายคู่มาที่นี่ เพื่อออกเดทกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น อาจเป็นเพราะที่นี่เงียบ สงบ คนไม่พลุกพล่าน เหมาะแก่การเดินชมผลงานกันไป ถ่ายรูปให้กันและกัน พูดคุยกันไป ได้มีโอกาสศึกษานิสัยใจคอกันแบบไม่มีสิ่งแวดล้อมมาแทรกแซงมากนัก พอเบื่อๆ ไม่มีอะไรคุยกัน ก็ซึมซับความสวยงามของศิลปะกันอย่างชิลชิล
  2. เพื่อการศึกษา แน่นอนอยู่แล้วว่า การมาพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของวัยเรียน โดยเฉพาะผู้ที่เรียนเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ และศิลปะ กลุ่มวัยเรียนที่มาที่นี่มีตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถมาแบบเป็นกลุ่มโดยการจองล่วงหน้า ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะจัดเจ้าหน้าที่พาชมอีกด้วย รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศิลปะในยุคสมัยต่างๆ มาเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ค้นหาแรงบันดาลใจ ไอเดียใหม่ๆ เพื่อไปต่อยอดงานศิลปะ หรือบางคนมาเพื่อวาดภาพจากชิ้นงานที่จัดแสดงก็มี
  3. เพื่อการแสดงสถานะทางสังคม ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจกับคำตอบข้อนี้เล็กน้อย เพื่อนเลยขยายความว่า การมาพิพิธภัณฑ์ของคนที่นี่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุที่มาดื่มด่ำงานศิลปะ เป็นการบ่งบอกว่าตนมีรสนิยมชั้นสูง และเป็นอีกสัญลักษณ์แสดงฐานะ (status symbol) ที่ชี้ให้เห็นว่า บุคคลเหล่านั้นมีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงแล้ว จึงมีเวลามาผ่อนคลาย ชื่นชมผลงานที่มีมูลค่ามหาศาล ไปจนถึงผลงานที่ประเมินค่าไม่ได้ และหลายคนใช้พิพิธภัณฑ์เป็นที่แฮงก์เอาท์ จัดงานสังสรรค์ ที่นี่จึงมีคาเฟ่ ลานอเนกประสงค์ และห้องจัดเลี้ยงสำหรับเช่าจัดงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน
  4. เพื่อการบริจาค สืบเนื่องจากข้อ 3 เศรษฐีชาวอเมริกันหลายคนที่นี่บริจาคเงินให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากการแสดงสถานะและรสนิยมชั้นสูงแล้ว การบริจาคเงินให้กับพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของรัฐ ยังสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีที่เขาต้องจ่ายในแต่ละปีได้อีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม นักธุรกิจหลายคนของเมืองนี้จึงชอบมาพิพิธภัณฑ์ เพราะนอกจากการได้บริจาคเงิน ยังได้มาทำความรู้จักกับผู้คนในแวดวงธุรกิจ หรือการสร้างเครือข่ายนั่นเอง พิพิธภัณฑ์จึงเป็นช่องทางการต่อยอดทางธุรกิจแบบมีนัยสำคัญแฝงอีกทางหนึ่ง เรียกได้ว่าผลประโยชน์ต่างตอบแทนคงไม่ผิดนัก
Metal object: Wild Mustang 2000
ประติมากรรมภายนอกอาคาร Metal object: 1) Wild Mustang ปี 2000
Metal object: Reclining Nude ปี 1984 The Birmingham Museum of Art
Metal object: 2) Reclining Nude ปี 1984
The Birmingham Museum of Art
ตัวอย่างการจัดแสดงผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์
Dr.Jessica Dallow กำลังบอกเล่าเรื่องราวของ ผลงาน “Revolutionary” by Wadsworth A. Jarrell Sr., 1972

จากเหตุผลของการมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ของคนอเมริกาข้างต้น คงจะทำให้หลายคนนึกภาพออกว่า การบริหารจัดการของพิพิธภัณฑ์ที่นี่มีความพร้อมเพียงใด ถึงสามารถดึงดูดคนทุกช่วงวัยให้มาเยี่ยมชมและสามารถอยู่ได้ แม้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

เมืองไทยของเราก็มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง สิ่งของที่นำมาจัดแสดงก็มีมูลค่า สวยงาม และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่อเมริกา

อยู่ที่ว่าภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญต่อการจัดการ พัฒนา ปรับปรุงให้พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ควรพลาด ได้อย่างไรต่อไปค่ะ


หากคุณชอบงานศิลปะสไตล์ตะวันตก – ตะวันออก / งานวาด – งานประติมากรรม ลองดูบทความเหล่านี้ค่ะ

เมื่อศิลปะปะทะชุมชนนอกพิพิธภัณฑ์ จากผลลัพธ์สู่บทเรียน การจัด ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018’ งานศิลปะระดับโลกบนพื้นที่ชุมชนกรุงเทพฯ

เปิดว้าบ…งานศิลปะระดับโลก ให้โหลดฟรีมากกว่า 400,000 ภาพ