4 ทักษะที่อาชีพ ‘ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน’ ต้องมี เพื่อดันไทยเป็นฮับการบินของอาเซียน

ช่างเทคนิควิศวกรรม หรือ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นหนึ่งในสายงานซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลก จากข้อมูล Pilot & Technician Outlook 2019-2038 โดยบริษัทโบอิ้งคาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปี ทั่วโลกจะมีความต้องการช่างเทคนิคด้านอากาศยานอีกกว่า 769,000 คน และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งเดียวมีสัดส่วนความต้องการถึง 35% ของความต้องการทั่วโลก


ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการบิน

  • ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มุ่งจะเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านนโยบาย EEC ทั้งการขยายสนามบินอู่ตะเภา การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) และการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือ Maintenance, Repair and Overhaul (MRO)
  • จากข้อมูลการเดินทางทางอากาศของการท่าอากาศยานไทยปี 2561 มีจำนวนเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศโตขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 5.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการมีจำนวนเครื่องบินเข้าออกในประเทศเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงความต้องการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มากขึ้นไปด้วย นั่นเป็นโอกาสสำหรับอาชีพ ‘ช่างเทคนิควิศวกรรม’ หรือ ‘ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน’ ที่มีแนวโน้มจะมีความต้องการมากขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศและภูมิภาค 
  • การพัฒนาทักษะสำหรับช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน จึงเป็นปัจจัยหนี่งที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ MRO ได้ในอนาคต

จาก รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน ของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า

  1. อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานทั่วโลกมีมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 17% อยู่ในอันดับสามรองจากอเมริกาเหนือ (35%) และยุโรปตะวันตก (22%) ตามลำดับ
  2. คาดการณ์มูลค่ารวมของค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานในเอเชียแปซิฟิกระหว่างปี 2558-2567 ไว้ที่ 167 พันล้านดอลลาร์

ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร วิเคราะห์จุดแข็งเพื่อจัดทำแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยเผยให้เห็นว่า ต้นทุนด้านแรงงานมีฝีมือต่ำเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ถือเป็นจุดแข็งหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากพื้นที่ทำเล การเชื่อมต่อกับตลาดการบินของอาเซียน การมีฐานการผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมอากาศยาน การมีความสามารถด้านเทคนิคในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลาง MRO ในภูมิภาค

ฮิวจ์ วนิชประภา

ในฐานะที่ โรลส์-รอยซ์ เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้าน MRO และอุตสาหกรรมการบิน โดยให้บริการสายการบินมากกว่า 400 แห่ง มีลูกค้าทั้งที่เป็นกองทัพ, กองทัพเรือ, ลูกค้าด้านพลังงานและนิวเคลียร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีประจำมหาวิทยาลัยจำนวน 29 แห่ง และมีแผนพัฒนาทักษะบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ ฮิวจ์ วนิชประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินในไทยว่า

“หากดูที่ประเทศไทย เรามีการเดินทางทางอากาศในปี 2561 เผยให้เห็นว่าสนามบินนานาชาติทั้ง 6 แห่งของไทย ประกอบด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต และเชียงราย มีจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมกันทั้งปีเกือบ 9 แสนเที่ยวบิน (โต 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน) เช่นเดียวกับสายการบินต้นทุนต่ำที่มีการเติบโตมากขึ้น มีจำนวนเที่ยวบินทั้งปี 4 แสนกว่าเที่ยวบิน (โต 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน) แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจการบิน เมื่อมีจำนวนเที่ยวบินเข้ามามากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดความต้องการช่างเทคนิควิศวกรรมในการบำรุงรักษาเครื่องบินมากขึ้นตามไปด้วย” 

ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO

ปัจจุบันไทยมีสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานและวิศวกรรมการบิน 7 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรได้ 300-400 คนต่อปี ขณะที่ความต้องการของตลาดมีมากกว่า 400 คนต่อปี โดยประเทศไทยมีจำนวนช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่ราว 8,000-9,000 คน (ประมาณ 50% เป็นช่างของการบินไทย) อย่างไรก็ตาม มีเพียง 10% ในจำนวนนี้เท่านั้น ได้รับใบอนุญาตที่เป็นสากล โดยช่างส่วนใหญ่จะได้ใบอนุญาตของไทย คือ Thai DCA ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานร่วมกับนานาชาติได้

จากข้อมูลข้างต้นบอกได้ว่า “โอกาส” และ “ตำแหน่งงาน” สำหรับคนที่ต้องการก้าวเข้าสู่สายอาชีพนี้ยังมีอีกมาก ฮิวจ์จึงแนะนำ 4 ทักษะสำคัญที่ช่างเทคนิควิศวกรรมต้องมี ทั้งทักษะด้านความรู้ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ – สังคม (Soft skills) เพื่อเสริมสร้างบุคลากรในสายงานการบินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ดังนี้


 1
ทักษะด้านดิจิทัล

เป็นทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการสื่อสาร การปฏิบัติงานและการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นับเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

การมีทักษะด้านนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ช่างเทคนิควิศวกรรมให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การใช้แบบจำลอง (Model) กระตุ้นการทำงานของเครื่องยนต์เครื่องบิน เพื่อทดสอบภาวะวิกฤตที่เครื่องยนต์สามารถรับได้ (Stress-Test) หรือการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อติดตามการทำงานของเครื่องยนต์เครื่องบินว่ายังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 2 
ทักษะด้านเครื่องจักรกล

การทำงานซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เครื่องบิน จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะด้านเทคนิคและวิศวกรรมเครื่องกลเข้ามาเกี่ยวข้อง และด้วยความแตกต่างของเครื่องยนต์เครื่องบินแต่ละรุ่นและยี่ห้อ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันจึงต้องมีการใช้เครื่องมือกลพิเศษ (Special Tools) ที่ออกแบบมาเพื่อใช้เฉพาะตัว

นอกจากนี้การเติบโตของเทคโนโลยีและการคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก ก่อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ช่างเทคนิควิศวกรรมจึงต้องหมั่นเพิ่มเติมความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัยของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการดูแลเครื่องยนต์เครื่องบิน


 3 
ทักษะด้านไฟฟ้า

เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญสำหรับช่างเทคนิควิศวกรรมในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องบิน นอกจากระบบไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องโดยทั่วไปแล้ว เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุคของการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและระบบพลังงานใหม่ในอนาคต 

นอกจากนี้การที่สังคมทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างที่ได้มีการเปิดตัวเครื่องบินไฟฟ้า เมื่อไม่นานมานี้ จึงยิ่งเพิ่มโอกาสที่ช่างเทคนิควิศวกรรม ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบำรุงรักษาเครื่องบิน จะได้ใช้และพัฒนาทักษะด้านไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นในอนาคต


4
ทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft skills)
โดยเฉพาะการสื่อสารและความมีวินัย

การสื่อสารเป็นอีกทักษะหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากในสายอาชีพนี้ โดยเฉพาะ การสื่อสารภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาสากลของประเทศที่เป็นต้นกำเนิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี ฉะนั้นช่างเทคนิควิศวกรรมจึงจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้ภาษาเพื่อให้สามารถสื่อสาร อ่านคู่มือช่าง เขียนรายงานการซ่อมตามมาตรฐาน และสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้

แต่การจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ MRO ในภูมิภาค นอกจากต้องมีทักษะด้านความรู้และการสื่อสารตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การมีวินัยก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งคนที่มาเป็นช่างซ่อมต้องมีวินัยโดยเริ่มจากใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของตัวเองก่อน

ด้วยความต้องการบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานตามที่กล่าวมา ฮิวจ์ให้คำแนะนำปิดท้ายว่า

“ภาครัฐควรขยายหลักสูตรด้านวิศวกรรมการบิน และผลิตช่างเทคนิคด้านนี้เพิ่ม รวมทั้งต้องเข้ามาลงทุนในภาคส่วนนี้ เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือในอุตสาหกรรมการบินมีมูลค่าสูงกว่าพันล้านบาท หากผู้เรียนจะซ่อมเครื่องยนต์ก็ควรศึกษาจากเครื่องยนต์จริงก่อน โดยประสานงานกับสายการบินเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสสัมผัสและฝึกอบรมจากเครื่องบินจริง จะช่วยสร้างประสบการณ์ในการทำงานจริงได้ตรงจุดที่สุด” 


อ้างอิงข้อมูลจาก