แม้ว่า 3D printing เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ใครหลายคนได้ยินกัน ทว่า ในยุคดิจิทัลนี้ เทคโนโลยี 3D printing ยิ่งเนื้อหอมขึ้นเรื่อยๆ เพราะอยู่ในฐานะนวัตกรรมแห่งยุคที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตหลากหลายประเภท ต่างนำมาปรับใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความล้ำสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิตสินค้าและบริการประเภทนั้นๆ ได้อย่างน่าพึงพอใจ

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะหยิบเอา 3D printing เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไปปรับใช้ก็จำเป็นต้องรู้ด้วยว่า ตอนนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ พัฒนาไปถึงขั้นไหนและนำไปปรับใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมระดับโลกด้านใดบ้าง ซึ่งจะเป็นแนวทางให้นักคิดและเหล่าผู้ประกอบการไทยได้ทราบและนำไปปรับใช้กับกิจการของตนได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ก็จะทราบด้วยว่าเทคโนโลยีนี้ยังมีข้อจำกัด อุปสรรคอะไรบ้าง


เจาะลึกหนทางสู่ ‘mass adoption’ ของ 3D printing เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในมุมมองของ SCB EIC

จากบทความ “หนทางสู่ mass adoption ของ 3D printing” ที่ นิธิ กวีวิวิธชัย ได้เขียนขึ้นและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 สิงหาคม 2018 และในเว็บไซต์ของ SCB Intelligence Center (SCB EIC) โดยผู้เขียนได้เกริ่นอัปเดตให้เห็นภาพก่อนว่า ล่าสุด เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ได้นำไปปรับใช้ในด้านใดแล้วบ้าง

“ในช่วงหลายปีมานี้ เรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D printing เป็นเรื่องที่เราเห็นอยู่เป็นประจำตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศ การสร้างรถยนต์ การสร้างบ้านทั้งหลังที่พร้อมเข้าอยู่จริง ภายในระยะเวลาเพียง 24-48 ชั่วโมง การสร้างปะการังเทียมเพื่อช่วยซ่อมแซมและรักษาระบบนิเวศในทะเล หรือแม้กระทั่งการสร้างอวัยวะเทียมต่างๆ เช่น หลอดเลือด ใบหู กะโหลก กระเพาะปัสสาวะ”

แต่ในบทความเดียวกันยังมองว่า ในตอนนี้ การนำ 3D printing มาใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น โดยอ้างอิงจากรายงานของ PwC ในปี 2017 ที่ระบุว่า ปัจจุบัน สินค้าที่จำหน่ายกันในท้องตลาดมีเพียง 0.01% ที่ผลิตด้วย 3D printing โดยการใช้งานส่วนใหญ่ของเทคโนโลยีชนิดนี้ ยังจำกัดอยู่เพียงการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (prototyping) และการพัฒนาสินค้าเป็นหลัก

โดย SCB EIC มองว่าการพัฒนาให้การใช้ 3D printing ขยับไปอยู่ในระดับ mass adoption ยังเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดที่ต้องก้าวข้ามอย่างน้อย 5 ปัจจัย ดังนี้

1. ขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้

เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทชั้นนำของโลก 900 บริษัท จัดทำโดย Ernst & Young พบว่าเกือบ 80% ของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ไม่มีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยี 3D printing ไปปรับใช้ ขณะที่อีกประมาณ 10% เพิ่งเริ่มรู้จักและได้ทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ แต่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะนำมาใช้ในธุรกิจของตัวเองอย่างไร และมีเพียง 5% ที่เข้าใจและได้นำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มาปรับให้เข้ากับวิธีการดำเนินธุรกิจแล้ว

2. ราคาของวัสดุ เครื่องพิมพ์ และเครื่องสแกน

ในข้อนี้ ผู้เขียนต้องการย้ำว่าราคาของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ 3D printing เป็นตัวแปรที่สำคัญมากสำหรับการใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ในวงกว้าง

โดยราคาของ 3D printing เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับการใช้งานอย่างง่ายๆ เพื่องานอดิเรก หรือการทำโมเดลที่ไม่ซับซ้อน อยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ในขณะที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมราคาจะอยู่ประมาณ 20,000 – 100,000 ดอลลาร์ เลยทีเดียว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องพิมพ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นๆ

3. ความเร็วในการพิมพ์และคุณภาพของชิ้นงาน

ผู้ใช้ต้องรู้ด้วยว่าหากต้องการแทนที่การผลิตแบบเดิมได้ 3D printer จะต้องสามารถผลิตสิ่งของได้ในระยะเวลาที่เร็วขึ้น ยกตัวอย่าง การพิมพ์ลูกกอล์ฟ 1 ลูก ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่มีราคาไม่แพงมากนัก ต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และถ้าต้องการพิมพ์สิ่งของที่มีรูปทรงซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในขณะเดียวกัน คุณภาพของชิ้นงานที่ได้จากการพิมพ์ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังไม่มั่นใจในผลงงานที่พิมพ์ออกจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ตัวเองมีด้วยซ้ำ

4. การรับประกันสินค้าที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

ปัจจัยเรื่องความมั่นใจในสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี 3D printing ก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้ใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ให้ความสำคัญ เช่น หากเราซื้อสินค้าที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และพบว่าสินค้ามีความเสียหาย หรือไม่มีคุณภาพเท่ากับที่โฆษณา การหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าวอาจเป็นปัญหาได้

เพราะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหลายราย เช่น ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ ผู้ผลิตไฟล์ CAD ที่ใช้ในการพิมพ์ หรือบริษัทที่รับจ้างพิมพ์ ดังนั้น กฎหมายและวิธีการดูแลผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนี้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

5. การจดทะเบียนสิทธิบัตรของสิ่งของที่ผลิตโดยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ

อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการลอกเลียนแบบสินค้า หรือการ copy สินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์นั้น เป็นปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลง หรือผลงานภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งไฟล์ CAD ที่ใช้สำหรับพิมพ์ 3 มิติ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูก copy ได้เช่นกัน กฎเกณฑ์ที่จะมาควบคุมและสร้างความมั่นใจให้เจ้าของผลงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกความกังวลใจแก่ผู้ใช้และผู้ต้องการจะใช้เทคโนโลยีนี้ในอนาคต


เปิดลู่ทาง 3D printing เขย่าวงการการผลิตสินค้าโลกได้แน่ หากส่งเสริมให้ถูกทาง

แม้จะยังต้องก้าวผ่านอีกหลายอุปสรรค กว่าที่จะนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มาเป็นเครื่องมือผลักดันให้วงการอุตสาหกรรม การผลิตของโลกก้าวหน้าไปไกลกว่าที่เคย แต่ผู้เขียนบทความนี้ก็ยังให้มุมมองในแง่บวกไว้ว่า

“อย่างไรก็ดี ในอนาคตอันใกล้คาดว่า 3D printing ก็ยังคงมีศักยภาพที่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมการแข่งขันในภาคธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและรูปแบบการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ยกกรณีความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะเข้ามามีส่วนในการยกระดับรูปแบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ ดังนี้”

  • spare part on demand

หมายถึง การลดการผลิตสินค้าคงคลังเกือบทั้งหมด (no inventory) โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์อะไหล่ตามคำสั่งของผู้ซื้อแทน การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ เพราะในปัจจุบัน พบว่ายอดการผลิตอะไหล่ต่างๆ สูงกว่าความต้องการใช้จริงอยู่ถึงประมาณ 20%

โดยการคาดการณ์นี้ ยืนยันได้ด้วยอีกบทความหนึ่งจากเว็บไซต์ thumbsup.in.th เรื่อง “3D printing ในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่งสัญญาณเติบโต 5 เท่าตัวใน 5 ปี” ที่รายงานว่า

จากการสำรวจล่าสุดพบว่าการประยุกต์ใช้งานพิมพ์วัตถุ 3 มิติหรือ 3D printing ในอุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะสร้างเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์ และในปี 2019 จะมีอัตราการเติบโตมากกว่า 5 เท่าตัว สะท้อนเทรนด์อนาคตว่า โลกกำลังมีธุรกิจดาวรุ่งเกิดขึ้นอีกดวง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้อุตสาหกรรมยานยนต์จะยังไม่พัฒนาถึงขั้นพิมพ์ชิ้นส่วนรถด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทยานยนต์ต้องเทงบประมาณเพื่องานพิมพ์แห่งอนาคต คือ การจำลองรถต้นแบบ จุดนี้นักวิเคราะห์ของ SmarTech อย่าง Scott Dunham เชื่อว่าในอนาคต รถต้นแบบที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะมีพัฒนาการจนถึงขั้นสามารถนำมาใช้กับการทดลองเครื่องยนต์ รวมถึงเพื่อสร้างเป็น concept car ก่อนการผลิตจริง เครื่องพิมพ์ 3 มิติในอนาคตจึงอาจมีขนาดใหญ่มากและมีราคาสูงด้วย

  • individualized products

หรือ การทำสินค้าเฉพาะบุคคล โดยสามารถผลิตสินค้าที่มีความละเอียดสูงและมีขนาดเฉพาะเจาะจงต่อความต้องการ เช่น ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ 3D printing ถูกนำมาใช้ในการผลิตอวัยวะเทียมแก่ผู้ป่วย โดยในปัจจุบันโมเดล 3 มิติ มีการใช้บ่อยครั้งในการวางแผนผ่าตัด และได้ต่อยอดมาเป็นโมเดลกายวิภาค 3 มิติ และซอฟต์แวร์วางแผน 3 มิติ ซึ่งนอกจากจะสร้างความสะดวกสบายในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังช่วยวางแผนทำความเข้าใจกับผู้ป่วยได้เช่นกัน

โดยล่าสุด มีผลงานวิจัยจาก The Cleft Palate-Cranioficial Journal ยืนยันว่าเทคโนโลยีนี้สามารถลดระยะเวลาในการผ่าตัดลงได้เคสละ 31 นาที จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดหนึ่งครั้งได้กว่า 3 หมื่นบาท

แต่ในมุมของความปลอดภัยด้านการใช้งานชิ้นส่วนที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก็ยังคงมีข้อมูลระบุว่า เทคโนโลยีนี้ยังไม่อาจใช้กับอวัยวะภายในร่างกายได้ แต่สามารถช่วยในการวิเคราะห์และผ่าตัด รวมถึงผลิตอวัยวะเทียมที่อยู่ภายนอกร่างกายได้ในปัจจุบัน

  • half mass produced – half customized

ถือเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการทำ mass customization โดยการเพิ่ม option ในการผลิต การออกแบบ โดยให้ลูกค้าแต่ละคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกมากขึ้น บริษัทอาจจะผลิตส่วนที่เป็นพื้นฐานของสินค้าโดยการผลิตแบบดั้งเดิม (traditional manufacturing) และผลิตส่วนที่สามารถทำ customization ได้ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

รูปแบบนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะนำวิธีนี้ไปใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต คือ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น การผลิตรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องดนตรี โทรศัพท์มือถือ งานออกแบบศิลปะ ของเล่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งต่างๆ เป็นต้น โมเดลธุรกิจแบบนี้จะช่วยลด lead time และยังช่วยเพิ่มความผูกพันกับลูกค้า (customer engagement) อีกด้วย ผู้เขียนบทความนี้ยืนยันในที่สุด


อย่างไรก็ดี ในบทความจาก SCB EIC ก็ยังสรุปใจความสำคัญไว้ในทำนองการมีความหวังกับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินี้ ดังนี้

“ดูเหมือนว่า หนทางสู่ mass adoption ของ 3D printing ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ เนื่องจากเทคโนโลยีชนิดนี้ยังอยู่ใน phase ต้นๆ ของการพัฒนา ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะ แต่ก็มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งในรูปของโอกาสและความท้าท้าย”

“ดังนั้นภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาและให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และการนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ รวมถึงผู้ประกอบการควรจับตามองการพัฒนาของ 3D printing อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม”


ที่มา : บทความ “หนทางสู่ mass adoption ของ 3D printing” ที่ นิธิ กวีวิวิธชัย ได้เขียนขึ้นและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 สิงหาคม 2018 และในเว็บไซต์ของ SCB Intelligence Center (SCB EIC)


ในยุคแห่ง นวัตกรรมและเทคโนโลยีครองเมือง ต้องไม่ตกทุกเทรนด์นวัตกรรม เรามีอัปเดตให้ได้อ่านกันต่อ

กันไว้ดีกว่าแก้! เช็คลิสต์ความเชื่อมั่นก่อนใช้งาน เอไอ ปัญญาประดิษฐ์ อย่างฉลาด & ยั่งยืน

จากพลังงานทางเลือกสู่พลังงานต้องเลือก ดัน ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ให้มาแรงแซงโค้ง ตัวช่วยลดมลพิษเมืองใหญ่

GISTDA เปิดตัวแพลตฟอร์มประมวลผล Big Data อัจฉริยะ ‘เอไอพี’ พร้อมใช้นำร่องวิเคราะห์ & เชื่อมโยงข้อมูลทุกด้านในอีอีซี

Previous articleเร่งสปีด…ไฮสปีด ส่งเงื่อนไข ให้นายกกดปุ่ม…บทบาทที่ผู้นำต้องตัดสินใจ!!
Next articleสาลิกาคาบข่าว Vol.41/62
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์