‘โรงจำนำ’ ในประเทศไทย ถ้าเป็นโรงจำนำของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรียกว่า ‘สำนักงานธนานุเคราะห์’ ถ้าเป็นโรงจำนำของกรุงเทพมหานคร เรียกว่า ‘สถานธนานุบาล’ ถ้าเป็นโรงจำนำของเอกชน เรียกว่า ‘โรงรับจำนำ’


ตามบันทึกของทางราชการ การรับจำนำในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการตราเป็นพระราชกำหนดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2234 เพื่อควบคุมการรับจำนำ โดยกำหนดให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน การรับจำนำให้แต่คนที่รู้จักกันดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 มีการตราพระราชบัญญัติ กำหนดไม่ให้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน

จากนั้น ในช่วงรัชกาลที่ 5 มีการตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ รัตนโกสินทร์ศก 114 ขึ้นบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2439 กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาต มีการกำหนดค่าธรรมเนียม และระยะเวลาการใช้ใบอนุญาต กำหนดเวลาจำนำ การไถ่ถอนกำหนด การจัดทำตั๋วจำนำ การลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน และกำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนำ

จนถึงก่อนสมัยของจอมพล ป. และหลังยุคจอมพล ป. เรื่อยมา มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจโรงรับจำนำเป็นอย่างมาก อาทิ การตั้งโรงรับจำนำต้องกระทำโดยวิธีประมูลทุกระยะเวลา 5 ปี และกำหนดให้ผู้รับจำนำต้องเสียค่าใบอนุญาตเป็นรายเดือน

โรงจำนำแห่งแรกที่สี่แยกสำราญราษฎร์ปัจจุบัน

จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจโรงรับจำนำ หรือ ‘เถ่าชิ่ว’ ได้ให้ข้อมูลว่า พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ได้วางอัตราดอกเบี้ย 2,000 แรก 2 บาท ส่วนที่เกิน 2,000 บาท ร้อยละ 1.25 บาท

สมมุติว่า จำนำ 10,000 บาท ดอกเบี้ยเดือนละ 140 บาท กล่าวคือ 2,000 แรก ร้อยละ 2 บาท = 40 บาท อีก 8,000 บาท ร้อยละ 1.25 บาท (หรือ ห้าสลึง) = 100 บาท รวมเป็นเดือนละ 140 บาท

เมื่อตีราคาแล้วเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย และ ‘หลงจู๊’ หรือผู้จัดการโรงรับจำนำจะมอบหมายให้เสมียนไทยและเสมียนจีน ออกตั๋วจำนำให้แก่ลูกค้า เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันในวันชำระดอกเบี้ยค่างวด และวันไถ่ถอนทรัพย์สินคืนจากโรงรับจำนำ โดยมี ‘พะจั๊บ’ เป็นเด็กยกของประจำร้าน

และมีเงื่อนไขกำหนดว่า หากตั๋วจำนำขาดอายุ 4 เดือน 30 วัน (หรือ 5 เดือน) ตามกฎหมาย ภายใน 15 วัน ให้คิดดอกเบี้ยครึ่งเดือน แต่ถ้าเกิน 15 วัน ให้คิด 1 เดือน

กิจการโรงรับจำนำจึงมีพัฒนาการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

นอกจากโรงรับจำนำของรัฐแล้ว โดยส่วนใหญ่ธุรกิจโรงรับจำนำของเอกชนมักเป็นของพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ เห็นได้จากชื่อโรงจำนำส่วนใหญ่จะเป็นภาษาจีน และประกอบกิจการสืบทอดกันมาในครอบครัว จนบางยุคบางสมัยคล้ายเป็นธุรกิจผูกขาดที่อยู่ในมือคนเพียงกลุ่มเดียว เนื่องจากความยากของการขอใบอนุญาต

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดโรงรับจำนำของเอกชนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะต่างจังหวัด ทำให้โรงรับจำนำของรัฐต้องพากันปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจกับโรงรับจำนำเอกชนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้ในการบริการรับจำนำจากประชาชน

ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากขาดเงินทุนหมุนเวียน กิจการก็จะหยุดชะงัก ขาดสภาพคล่อง ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างเอกชนด้วยกันเอง

เนื่องจากปัจจุบัน มีการรวมกลุ่มของคนที่เคยเป็นลูกค้าโรงรับจำนำในอดีต เช่น กลุ่มคนรักนาฬิกาข้อมือ กลุ่มคนเล่นพระเครื่อง กลุ่มคนเล่นของเก่า ที่มีเรื่องล้อกันในอดีตเกี่ยวกับโรงจำนำ

คือ รับจำนำตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่โรงรับจำนำในอดีตรับจำนำตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เครื่องเพชร เครื่องพลอย เครื่องทอง ทั้งทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง นาฬิกา แว่นตา ปากกา กล้องถ่ายรูป ไปจนถึงเสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล กางเกง ผ้าถุง ฟันปลอมเลี่ยมทอง ค้อน เลื่อยลันดา และครก

แต่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้ามีราคาถูกลงอย่างมาก ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องนำไปจำนำ และโรงจำนำหลายแห่งก็ไม่มีที่เก็บเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่

ประกอบกับมีการรวมกลุ่มของชุมชนที่สนใจสิ่งของเฉพาะทางดังได้กล่าวไปแล้ว ทำให้ธุรกิจโรงรับจำนำต้องปรับตัวขนานใหญ่

ยิ่งในยุคข้าวยากหมากแพงอย่างในปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดธุรกิจกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ หนี้นอกระบบ

โดยหากพูดถึงเฉพาะหนี้ในระบบที่ธนาคาร ไฟแนนซ์ และสถาบันการเงินขนาดเล็กเกิดใหม่ต่างๆ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินกู้ในลักษณะเดียวกับโรงรับจำนำในอดีต คือต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งในรูปของสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์

ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์นั้น คงจะประกอบกิจการยากกว่าสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินมูลค่ามาก คือ อาคารบ้านเรือนและที่ดิน

ดังนั้น บรรดาธุรกิจที่รับจำนองจำนำสังหาริมทรัพย์จึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถยนต์ หรือบริการเงินด่วนต่างๆ ที่บางครั้งแทบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่อย่างใด

ยังไม่นับร้านทองที่มีระบบรับฝากขาย ทั้งทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง ฯลฯ

อันนำไปสู่ การ Rebranding ของธุรกิจโรงรับจำนำ ที่เป็นการรับช่วงต่อของทายาทเถ้าแก่ ปรับเปลี่ยนโฉมมาสู่ธุรกิจเงินด่วน ตามอย่างธุรกิจรถแลกเงิน บ้านแลกเงิน เช่น โรงรับจำนำ ปิ่นเกล้าคู่ขนานลอยฟ้า หรือ Money Café Pinkoo (ปิ่นคู่) ที่มี Money Café Shop ที่ Siam Square ซอย 3 แผนกขายของหลุดจำนำ Brand-named เกรดระดับ Pre-owned พร้อมบริการ Coffee Bar

นอกจากนี้ สำนักธนานุเคราะห์ (สธค.) โรงรับจำนำของรัฐ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ Upgrade บริการด้วยระบบ Pawn Shop on Mobile แจ้งเตือนทรัพย์จะหลุดจำนำในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อรักษาทรัพย์ลูกค้าไม่ให้หลุดจำนำ หรือหลุดจำนำน้อยที่สุด

นับเป็นปรากฏการณ์ที่เสมือนการ Startup ใหม่อีกครั้ง ของธุรกิจโรงรับจำนำจากอดีตจนถึงปัจจุบันนั่นเองครับ


อ่านบทความอื่นๆ โดยผู้เขียนคนเดียวกัน

ญี่ปุ่น 5.0 การทลายกำแพง 5 ชั้น ของญี่ปุ่นเพื่อเข้าสู่ยุคของสังคม 5.0

ที่สุดของ Innovation คือ “นวัตกรรมหัวใจ”

ความรักของหุ่นยนต์ (ภาคหนึ่ง)