“ผมมองว่าประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบกับปัญหาขยะพลาสติก ที่มีปริมาณมาก และยังไม่ได้มีการจัดการ หรือดูแลอย่างเหมาะสมเลย และวิธีหรือไอเดีย ที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกนี้ได้ดีที่สุด คือ การรีไซเคิล Recycle และรียูส Reuse หรือการนำกลับมาใช้ใหม่” ข้อเท็จจริงที่ Georg Gafron ผู้แทนมูลนิธิ Konrad Adeneur Stiftung (KAF) ประจำประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์สาลิกาไว้ บ่งบอกชัดเจนว่า ขยะพลาสติก เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขของประเทศไทย ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้นักวิจัยไทยผลิต เครื่องขึ้นรูปผลิตจานใบไม้ รักษ์โลก ขึ้นมา


ผศ.ดร.เจษฎา ชัยโฉม
ผศ.ดร.เจษฎา ชัยโฉม

เพราะในรายงานผลงานวิจัยชิ้นนี้ ผศ.ดร.เจษฎา ชัยโฉม นักวิจัยจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ระบุแรงจูงใจในการคิดค้น เครื่องขึ้นรูปผลิตจานใบไม้ ไว้ว่า

“โลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติจากขยะพลาสติกสังเคราะห์ เช่นเดียวกับประเทศไทยกำลังมีปัญหาขยะท่วมเมือง โดยเฉพาะขยะจากบรรจุภัณฑ์ ถุง ภาชนะของใช้พลาสติกนานาชนิดทำให้ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ สัตว์ทะเล และห่วงโซ่อาหารของมนุษย์”


สานต่อแนวคิด ก่อเกิดนวัตกรรมร่วมลดขยะพลาสติกให้โลก

ผศ.ดร.เจษฎา สานต่อแรงบันดาลใจและแนวคิดในการร่วมลดขยะพลาสติกสู่โลก ด้วยการค้นคว้าหาวัสดุชีวภาพมาทดแทนการใช้จานชามพลาสติกหรือโฟม

“อย่างที่หลายคนทราบกันว่า จานชามพลาสติกหรือโฟม ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 300 ปี ซึ่งหากมองไปที่กระแสทั่วโลกก็กำลังให้ความสำคัญกับการลดขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามสิ่งแวดล้อมโลก ดังที่หลายประเทศได้ประกาศยกเลิกการผลิตถุงพลาสติก และอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น มีด ช้อน จาน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ สหรัฐ แคนาดา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เคนยา เมียนมา อินโดนีเซีย และนานาประเทศ”

ด้วยเหตุนี้ ความต้องการของตลาดภาชนะที่ย่อยสลายได้ง่าย จึงกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามอง และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรปก็ต่างสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการผลิตวัสดุชีวภาพ แทนพลาสติกสังเคราะห์อยู่แล้ว


เปิดตัว เครื่องขึ้นรูปผลิตจานใบไม้ หยิบใบสัก มาสร้างงานดีไซน์ลดขยะพลาสติก ดีต่อใจ ดีต่อโลก

เมื่อตกผลึกในแนวคิดการสร้างนวัตกรรม ผศ.ดร.เจษฎา จึงเริ่มมองหาวัสดุธรรมชาติที่จะมาใช้ทดแทนพลาสติกหรือโฟมที่ใช้ผลิตจาน ชาม และก็ได้ไปเจอกับ ใบสัก

“เนื่องจากประเทศไทยปลูกต้นสักเป็นจำนวนมาก และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ปลดล็อค พรบ.ป่าไม้ ให้ชาวบ้านและชุมชนสามารถสร้างสวนป่า ปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง อีกทั้งยังตัดต้นไม้ในที่ดินของตัวเองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ด้วยเหตุนี้ ผลิตผลจากต้นสัก โดยเฉพาะส่วนลำต้นและกิ่ง จึงถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เฟอร์นิเจอร์ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆมากมาย แต่ต้องรอให้ต้นสักมีอายุราว 20 ปี เพื่อให้ได้ลำต้นขนาดที่ต้องการ ดังนั้นช่วงเวลาก่อนหน้านี้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากใบสักได้ตลอดตั้งแต่อายุต้นสัก 5 ปี”

ดังนั้น ผศ.ดร.เจษฎา จึงเล็งเห็นว่า ด้วยต้นสักผลิตใบออกมาจำนวนมาก แต่ยังไม่มีงานวิจัยพัฒนาใดที่ใช้ใบสักซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติมาขึ้นรูปเป็นภาชนะ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขึ้นรูปใบไม้นั้นต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้ได้แรงอัด ความร้อน ที่พอดีกับใบสักด้วย

หลังจากผ่านกระบวนการทดลองและศึกษาวิจัย จึงได้ เครื่องขึ้นรูปผลิตจานใบไม้ ที่ตอบโจทย์การขึ้นรูปใบสักได้โดยอาศัยแรงอัด ความร้อน ส่วนผสมพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้อย่างลงตัว

ส่วนกลไกการทำงานของ สิ่งประดิษฐ์เครื่องขึ้นรูปจากใบไม้นี้ ได้รับการออกแบบให้สามารถทำงานอัตโนมัติโดยมีวัสดุ Layer 3 ชั้น ชั้นล่างสุดคือ ใบไม้สด ชั้นกลางคือวัสดุพลาสติกชีวภาพที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังหรืออ้อยที่จะช่วยให้ภาชนะประเภทชามทรงตัวขึ้นรูปได้เหมาะกับการใช้งาน ส่วนชั้นบนสุดจะเป็นใบไม้สด และตัวเครื่องจะผนึกวัสดุทั้ง 3 ชั้น ด้วยความร้อนสูงประมาณ 200 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นการทำให้แห้งและปลอดเชื้อ ถูกสุขอนามัย

“ผมมุ่งหวังให้นวัตกรรมนี้ มีส่วนในการส่งเสริมการใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แพร่หลาย ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้ภาชนะใบไม้แทนจานชามพลาสติก ซึ่งลักษณะของใบสักหรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆก็มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์ จึงมีคุณค่าทางด้านงานดีไซน์ด้วย”

“ในอีกด้าน ก็เป็นการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ เสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน การรีไซเคิลใบไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เกษตรกรและผู้ปลูกไม้สักมีรายได้ช่วงระหว่างรอต้นสักโต ส่งเสริมโอกาสในการส่งออกจานชีวภาพจากใบสัก รวมถึงวัสดุธรรมชาติอื่นที่มีศักยภาพ ให้สามารถส่งออกไปทำตลาดได้ทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและเทรนด์ของโลกที่ประกาศเลิกใช้ถุงและภาชนะพลาสติกหลายชนิด ในอีกด้านก็สอดคล้องกับการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตนเองและใช้ประโยชน์ได้อย่างที่กล่าวมาแล้วด้วย”


ต่อยอดนวัตกรรมสีเขียว สร้างงาน สร้างรายได้

เมื่อถามถึงการพัฒนาต้นแบบให้เป็นเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคตนั้น ผศ.ดร.เจษฎา อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ในตอนนี้เครื่องขึ้นรูปจากใบไม้ มีกำลังผลิตประมาณนาทีละ 3 ใบ ซึ่งผมมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จานใบไม้ จากใบสักเหล่านี้ จะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคหัวใจสีเขียว สามารถสร้างงานให้เกษตรกรและสร้างรายได้แก่ SME ทั่วประเทศ เพราะภาชนะรักษ์โลกนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี

ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“นอกจาก ใบสัก แล้วยังมีวัสดุธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ ใบบัว เนื่องจากบัวเป็นพืชโตเร็ว ขึ้นรูปง่าย มีกลิ่นเฉพาะ ซึ่งถ้าภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ อย่างใบสักและใบบัวเป็นที่ต้องการของตลาด ก็ต้องส่งเสริมให้มีการทำนาบัวเพิ่มมากขึ้นเพื่อป้อนตลาด และผมมองว่า กาบกล้วย ก็เป็นอีกวัสดุที่เราควรนำมาต่อยอด เพราะบ้านเรามีการปลูกต้นกล้วยเยอะ มีสวนกล้วยหอมจำนวนมาก โดยทั่วไป เมื่อชาวสวนกล้วยเก็บผลผลิตแล้ว ต้นกล้วยจะถูกฟันทิ้งไปอย่างสูญเปล่า ดังนั้น หากได้นำต้นกล้วยเหล่านี้มาใช้ จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก นับว่านวัตกรรมนี้เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็น Sharing and Caring Economy อีกทางด้วย”


อ่านบทความ นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย นำไปใช้ได้จริง

รีวิว 3 ต้นแบบ ‘ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ’ จากมันสมองคนไทย สร้างชื่อดังไกลทั่วโลก

เปิดผลงานวิจัยหนึ่งในร้อย ความหวังใหม่ของการ บำบัดน้ำเสีย อย่างได้ผล

คอนกรีตอัจฉริยะ ฝีมือนักวิจัยไทย ตอบโจทย์สองต่อ ลดทั้ง ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ทั้งฝุ่นละออง

แอปพลิเคชัน DeepEye ตรวจเบาหวานขึ้นตาได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน

Previous articleสาลิกาคาบข่าว Vol.285/61
Next articleดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยเบื้องลึก ‘4 ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ’ และวิธีสร้างภูมิคุ้มกัน
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์