เอ่ยถึง เกษตรอินทรีย์ หรือวิถีออร์แกนิคใครๆ ก็รู้ว่าเป็นกระแสที่กำลังมาแรง ทั้งในมุมของผู้บริโภคที่นิยมชมชอบและซื้อหาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มารับประทานมากขึ้น และในมุมของคนทำธุรกิจ ที่พากันผันตัวจากการผลิตสินค้าทั่วไป มาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าแบรนด์ตนเองกันมากขึ้น ขณะที่ ก็มีผู้ประกอบการใหม่หรือเหล่าสตาร์ทอัพ “เกิด” ในแวดวงธุรกิจจากการจับตลาดเกษตรอินทรีย์ไม่น้อย


โดยเทรนด์ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ยืนยันได้ด้วยรายงานการศึกษาฉบับล่าสุด ปี 2018 “The World of Organic Agriculture” (เก็บข้อมูล ณ สิ้นปี 2016) โดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM – Organics International) ที่แสดงถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าออร์แกนิคที่กำลังเพิ่มขึ้น มีเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

และจากรายงานเดียวกันนี้พบว่ามีถึง 178 ประเทศที่มีการทำเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็น 57.8 ล้านเฮคตาร์ มูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ใกล้แตะ 9 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งจากรายงาน ในปี 2016 มีผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมากถึง 2.7 ล้านคน โดยประเทศอินเดียกำลังกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์สูงสุด (835,200 คน) ตามมาด้วย อูกานดา (210,352 คน) และเม็กซิโก (210,000 คน)

ประจักษ์กันแล้วด้วยข้อมูลทางสถิติว่า เทรนด์การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นเทรนด์ระดับโลก ที่กลายมาเป็นความหวังของการทำเกษตรยุคนี้ไปแล้ว ทว่า การทำเกษตรอินทรีย์และการผลิตอาหารอินทรีย์นั้นไม่ง่าย และต้องใช้ความมุ่งมั่นและความใส่ใจในรายละเอียดอย่างจริงจัง ต้องได้รับการตรวจสอบย้อนกลับได้จากฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหารโดยหน่วยตรวจรับรองอิสระอาหารอินทรีย์ ที่ต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนและเข้มงวด กว่าที่จะติดฉลากสินค้าออร์แกนิคบนบรรจุภัณฑ์ได้ จะต้องผลิตขึ้นโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มาจากธรรมชาติ ใช้พลังงานน้อยและคำนึงถึงความเป็นอยู่ของสัตว์ ซึ่งก็เป็นแหล่งที่มาของปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในฟาร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้จริงอาหารที่กินเข้าไปนั้นไร้สารพิษอย่างแท้จริง

และต่อไปนี้ คือปัจจัยที่ผู้ผลิต เกษตรอินทรีย์ ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตผลิตผลเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างแบรนด์เกษตรอินทรีย์ที่ผู้บริโภคสามารถไว้วางใจได้ ซึ่ง “ความไว้วางใจ” นี่เอง ที่จะนำสู่ความสำเร็จของคุณ


ความเสี่ยงต่อยาฆ่าแมลงต้องเป็นศูนย์

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ไม่อนุญาตให้ใช้สารกำจัดแมลงสังเคราะห์ และห้ามโดยสิ้นเชิงไม่ให้ใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น ไกลโฟเสต แต่อนุญาตให้ใช้สารกำจัดแมลง 20 ชนิดที่ได้จากส่วนประกอบธรรมชาติ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

ด้วยเหตุนี้ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ต้องลดการแทรกแซงธรรมชาติ โดยการปลูกพืชหมุนเวียนและสร้างความหลากหลายโดยเลือกพืชที่ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช เกษตรกรอินทรีย์จึงสามารถจะลดปัญหาโรคพืช และลดความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีลงได้จริง

ยกตัวอย่าง สารประกอบเคมีรุนแรงที่ใช้ในการฆ่าหญ้า อย่าง ไกลโฟเสต ที่พบในขนมปัง ซึ่งจะติดตามเมล็ดข้าวสาลีและไปอยู่ในอาหารในที่สุด จากการทดสอบการปนเปื้อนของสารกำจัดแมลงในอาหารพบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของขนมปังตรวจพบไกลโฟเสต แต่ผู้ผลิตไกลโฟเสตยังยืนยันว่า “อยู่ในระดับที่ปลอดภัย” ในขณะที่รายงานจากหน่วยงานค้นคว้าวิจัยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อสรุปแล้วว่า ไกลโฟเสต  มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง รายงานได้ตีพิมพ์ และชี้ให้เห็นว่า ไม่มีระดับปลอดภัยสำหรับไกลโฟเสตในอาหาร เราต้องเอายาฆ่าหญ้าออกจากอาหาร และจากร่างกายของเรา การใช้ไกลโฟเสตและผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเสตเป็นส่วนประกอบในการปฏิบัติก่อนการเก็บเกี่ยวเป็นหลักการที่ผิดมหันต์ และเราต้องเรียกร้องให้ยุติการกระทำเช่นนี้ทันที


หยุดการตัดแต่งพันธุกรรม ก้าวสู่การเป็นออร์แกนิคที่แท้จริง

ถ้ามาประมวลอุตสาหกรรมตัดแต่งพันธุกรรมที่ผ่านมา ซึ่งได้ประกาศตัวว่าพืชตัดแต่งพันธุกรรมจะปฏิวัติเกษตรกรรม แก้ปัญหาความหิวโหยในโลกนี้ แต่คำสัญญานั้นไม่เคยเป็นจริง การให้คำสัญญาถึงผลผลิตและคุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้น ไม่สามารถแม้แต่จะผลิตตัวอย่างที่จะขายได้จริงทางการค้า คำอวดอ้างถึงสายพันธุ์พืชที่ต้านทานแมลงศัตรูพืช ทนต่อการความเสียหาย ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ที่สามารถผลิตได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน ผ่านเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม ล้วนแต่ไม่เคยเข้าใกล้ความเป็นจริงเลย

ขณะที่ต้นทุนที่เกษตรกรต้องจ่ายเพื่อใช้ยาฆ่าแมลงอันตรายมากขึ้นๆ อุตสาหกรรมตัดแต่งพันธุกรรมยังกีดกันเกษตรกรจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ แต่ต้องซื้อจากบริษัทแทน เพราะนอกจากพืชตัดแต่งพันธุกรรมจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้แล้ว แต่มันยังส่งผลต่อเกษตรกรที่ไม่ได้ใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมแต่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนด้วย


ความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยงก็สำคัญ

ออร์แกนิคหมายถึงมาตรฐานสูงสุดสำหรับความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงอินทรีย์จะต้องไม่มีการให้ยา สารปฏิชีวนะ และยาถ่ายพยาธิ และต้องเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เป็นอิสระ มีพื้นที่ว่างที่มีสัดส่วนเหมาะสมกับจำนวนสัตว์ซึ่งจะช่วยลดความเครียดและการติดโรค เลี้ยงด้วยอาหารที่เป็นธรรมชาติ ปลอดจีเอ็มโอ ต้องมีทุ่งหญ้าหรือแปลงพืชอาหารสัตว์ที่เป็นอินทรีย์ ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ ห้ามใช้สารเคมีกำจัดแมลง และในการเลี้ยงสัตว์ต้องไม่มีการให้ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าพยาธิ


เกษตรอินทรีย์ ต้องดีต่อทุกชีวิตในระบบนิเวศ

ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นบ้านสำหรับผึ้ง นก และผีเสื้อ เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ก็เหมือนมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลสรรพสัตว์โดยการจัดการดูแลระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ของเหล่าสัตว์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉลี่ย พืช แมลง และนก ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ยังเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตอื่นๆอีกหลากหลายสายพันธุ์ด้วย

เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่าง ผึ้ง ที่เป็นสัตว์ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ระบบนิเวศเกษตรอินทรีย์ได้ดีที่สุด เพราะผึ้งมีหน้าที่ผสมเกสรทั้งผักและผลไม้ ซึ่งพืชหลายๆชนิดไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ถ้าไม่มีผึ้งหรือตัวช่วยผสมเกสร ไม่เพียงเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และผึ้งคือหนึ่งในความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ที่สุด ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์บนโลกใบนี้ ครึ่งทศวรรษหลังผึ้งถูกทำร้ายด้วยยาฆ่าแมลง โรคภัยและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ เห็นได้จากจำนวนผึ้งที่ลดลงมาก แต่การทำเกษตรอินทรีย์และเปลี่ยนเรือกสวนไร่นาของเราให้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการช่วยสร้างถิ่นที่อยู่สำหรับนักผสมเกสรเหล่านี้


โลกจะดีขึ้นได้ ด้วยเกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์ เหมือนการจับมือเป็นมิตรกับธรรมชาติ ต้องไม่มีการฝืนธรรมชาติ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำเกษตรทั่วไป หรือ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำและสุขภาพของดิน ขณะเดียวกัน การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้พึ่งพาปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีกำจัดแมลง ย่อมช่วยลดการปนเปื้อนในน้ำและดินได้อย่างมีนัยสำคัญ สิ่งมีชีวิตอยู่รอด  เกษตรอินทรีย์จึงเป็นความหวังของการปรับอากาศที่เราสูดเข้าไปให้สดชื่นได้ด้วย

เกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก การทำเกษตรอินทรีย์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยช่วยเพิ่มการสะสมคาร์บอนในดิน โดยลดการใช้ปุ๋ยแร่ธาตุ ดินที่มีสุขภาพดีจะดูดซับคาร์บอนไว้มากกว่า 3 เท่าของบรรยากาศ และมากกว่า 5 เท่าของป่าไม้ ถ้าฟาร์มทั้งประเทศเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้เกือบเท่าๆกับการปล่อยก๊าซจากรถยนต์ 1 ล้านคัน ทีเดียว

ท้ายที่สุดแล้ว คนทั่วไปมักคิดว่า อาหารออร์แกนิคมีราคาแพง แต่ในความเป็นจริงอาหารออร์แกนิคไม่ได้แพงกว่าเสมอไป เพราะปัญหาใหญ่ของอาหารที่วางขายทั่วไป คือ ต้นทุนที่แท้จริงของอาหารไม่ได้ถูกแสดงอยู่ในราคาสินค้า ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ อาหารที่ถูกผลิตด้วยกรรมวิธีที่ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ หรือทำให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะในผู้คน อาจจะดูราคาถูกในร้านค้า แต่ราคาจริงที่เราต้องจ่ายนั้นจริงๆ แล้วแพงกว่านั้นมาก ดังนั้น การลงทุนเปลี่ยนมากินอาหารออร์แกนิค ไม่ใช่จะแค่ได้ทุนคืนเป็นสุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยสร้างสังคมเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อโลกด้วย


ที่มา : บทความเรื่อง “เกษตรอินทรีย์แตกต่างอย่างไร?” http://actorganic-cert.or.th/th


http://actorganic-cert.or.th/th/world-of-organic2018/

Previous articleสาลิกาคาบข่าว Vol.156/61
Next articleสาลิกาคาบข่าว Vol.157/61
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์