“น้ำยางสด” ดิ่งพิษโควิด 2 เด้ง “มาเลย์” ล็อกดาวน์-โรงงานล้อยางจีนลดผลิต

เกษตรกรสวนยางกระอัก 2 เด้ง ราคา “น้ำยางสด” ร่วงไม่หยุด เหลือ 44 บาทต่อ กก. เหตุมาเลเซียประกาศ “ล็อกดาวน์” ประเทศต่อเนื่องไม่มีกำหนด ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง โรงงานผลิตถุงมือยางส่งออกเบอร์ 1 ของโลกในมาเลย์ชะลอการผลิตลง 50% โรงงานอุตสาหกรรมถุงมือยางขนาดเล็กหยุดการผลิต ขณะที่โรงงานแปรรูปยาง ล้อยางในประเทศจีน ลดกำลังการผลิตเหลือ 40% กระทบชิ่งตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ราคาดิ่ง ด้านโรงงานน้ำยางข้นกดราคารับซื้อ

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันกลุ่มเกษตรกรแปรรูปยางพาราส่งออกรายใหญ่ของภาคใต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ยางพาราขณะนี้กำลังถดถอยลงทุกตัว ทั้งน้ำยางสด ยางรมควัน ฯลฯ เริ่มขยับลงมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากประเทศมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564

และจะขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในประเทศมาเลเซียต้องปิดตัวเองไปชั่วคราว

นอกจากนี้จากการพูดคุยกับพ่อค้าในประเทศจีนทำให้ทราบว่า ประเทศจีนลดกำลังการผลิตแปรรูปยาง ล้อยาง ลงมาเหลือที่ประมาณ 40% ออร์เดอร์จากประเทศจีนจึงลดลงตามไปด้วย

ปัจจัยสำคัญ 2 ประการนี้ส่งผลให้ราคายางพาราขยับลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน วันละ 1-2 บาทต่อ กก. โดยเฉพาะราคาน้ำยางสดที่ส่งออกประเทศมาเลเซียอันดับ 1 จากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ราคาน้ำยางสดของไทยอยู่ที่ประมาณ 60 บาทต่อ กก.

วันนี้ (1 ก.ค. 64) ราคาอยู่ที่ 44 บาทต่อ กก. และยางแผ่นรมควันจากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 65 บาทต่อ กก. วันนี้ (1 ก.ค. 64) ราคา 57.47 บาทต่อ กก. ส่วนตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ทยอยลดลงทุกวันเช่นกัน

“สถานการณ์ยางพาราขณะนี้ยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่าจะมีทิศทางอย่างไร และไม่ทราบว่ารัฐบาลจะออกแบบวางมาตรการรองรับกันอย่างไร ตอนนี้มีแต่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยธุรกิจ กยท.ได้เข้ามาซื้อยางพาราในตลาดกลางยางพาราของ กยท.ที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช

และ จ.สงขลา เพื่อเก็บเอาไว้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีพ่อค้ายางพาราเข้ามาประมูลยาง ทาง กยท.จึงเข้ามาซื้อทดแทนเพื่อเก็บยางพาราเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางอัดก้อนไว้ก่อน

ในขณะที่ยางพาราลดลง แต่สินค้าตัวอื่น ๆ กลับขยับขึ้น เช่น น้ำมัน เหล็ก โลหะ ฯลฯ ต่างขยับราคาขึ้น” นายกัมปนาทกล่าวและว่า

จากการหารือกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมยางในต่างประเทศทำให้ทราบว่า เมื่อมาเลเซียล็อกดาวน์ประเทศต่อเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตถุงมือส่งออกยางรายใหญ่ของโลกในประเทศมาเลเซีย ต้องสั่งปิดโรงงานต่ออีกระยะหนึ่ง

โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กปิดตัวแทบทั้งหมด ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ต้องชะลอการผลิต เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาด โรงงานที่มีพนักงานจำนวนมากต้องลดจำนวนคนลงเหลือเพียง 50% ต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือเพียง 50% ตามมาตรการของรัฐ หากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมาย ทำให้ต้องชะลอการสั่งน้ำยางข้นจากประเทศไทยไปจำนวนหนึ่ง ส่งผลกระทบไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น เพื่อส่งออกไปประเทศมาเลเซีย ต้องชะลอรับซื้อน้ำยางสดในที่สุด

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นที่จะรับซื้อน้ำยางสด มีแทงเกอร์เก็บน้ำยางสดในปริมาณจำกัด จึงเป็นเงื่อนไขชะลอการรับซื้อ ส่วนบางแห่งที่มีการรับซื้ออยู่จะถูกกดราคาลง

ทั้งนี้ แนวโน้มราคาน้ำยางสดจะปรับตัวขึ้นเมื่อไหร่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ส่วนตลาดยางพาราโลกที่มีการซื้อขายล่วงหน้าราคาถดถอยลงเช่นกัน เนื่องจากตลาดในประเทศจีนค่อนข้างนิ่งเช่นกัน

“ราคายางรมควันดีมาตลอด ตอนนี้โรงงานแปรรูปยางรมควันจึงมีทิศทางที่ดี แต่โรงงานยางรมควันกลับประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และในส่วนน้ำยางสดไม่มีแทงเกอร์เก็บ” นายกัมปนาทกล่าว

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรสวนยาง สกย.นาทวีอ.นาทวี จ.สงขลา เปิดเผยว่า ยางพาราโดยราคาน้ำยางสดค่อย ๆ ขยับลง เนื่องจากได้หน่วยธุรกิจ กยท.มาซื้อชี้นำค้ำราคาไว้

หากไม่มีการชี้นำค้ำราคาไว้โดย บียู.อยู่จะเข้ามาชี้นำค้ำราคา ประมาณ 5 วัน/สัปดาห์ ส่วนปริมาณยางพาราภาคใต้ตอนนี้ออกสู่ตลาดปริมาณน้อย โดยในเครือข่ายออกสู่ตลาดประมาณ 60%

เนื่องจากฝนตกไม่สามารถกรีดยางได้เต็ม ขณะเดียวกันมีการโค่นยางพาราหันไปปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน สวนสละ และสวนผลไม้อื่น ๆ ความจริงราคาน้ำยางที่เหมาะสมกับปริมาณยางที่ลดลงน่าจะอยู่ที่ 50 บาทต่อ กก.

นายสมพงศ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีการนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องกรณีหากมีปริมาณน้ำยางสดล้น จากการชะลอการรับซื้อด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทางการควรลงทุนก่อสร้างบอยเลอร์กักเก็บน้ำยางสด รับซื้อน้ำยางสดมาพักไว้

เพื่อรอให้ราคาปรับตัวดีขึ้น และขณะนี้จะเอาน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นยางรมควันที่ระยะห่างระหว่างน้ำยางสดกับยางรมควันกว่า 10-15 บาทต่อ กก. โรงยางรมควันมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในที่สุดโรงงานยางรมควันต้องนำน้ำยางสดออกมาขายด้วย

“เป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว ที่ชาวสวนยางพาราอยู่ในสภาพราคาไม่เสถียร ความจริงตอนนี้น่าจะได้ราคาที่ดี จากหลายปัจจัย เช่น ยางพาราออกสู่ตลาดปริมาณน้อย ประมาณ 60% จากที่กรีดได้เต็มที่ เพราะฝนตกต่อเนื่อง สวนยางพาราปริมาณลดลง จากที่หันไปปลูกสวนทุเรียน ผลไม้ และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น”

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการยางพาราเปิดเผยว่า สถานการณ์ยางพาราจะต้องถูกกดดันเรื่องราคา เพราะน้ำยางสดไม่มีแทงเกอร์เก็บ โรงงานยางรมควันขาดแคลนแรงงานจะต้องทำน้ำยางสดออกขาย

ขณะที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้งที่มีเครื่องมือสำคัญคือ หน่วยธุรกิจ (บียู) แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งที่ทำธุรกิจการค้ายางพาราได้ หากได้ทำธุรกิจการค้าสร้างแบรนด์ยางพาราไทยของ กยท.ได้ ก็ขับเคลื่อนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาได้

“หน่วยธุรกิจ กยท.ไม่มีแบรนด์ยางพาราเพื่อส่งออก ทั้งที่เครือข่ายยางพารา ทั้งสหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชนยาง กลุ่มเกษตรกรยาง มีวัตถุดิบพร้อมอยู่แล้ว จะต่างกับต่างประเทศที่หน่วยธุรกิจยางพาราเป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินการช่วยเหลือได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการแข่งขันกันกับกลุ่มค้ายางรายใหญ่ภายในประเทศเพื่อการส่งออก สำหรับยางพาราไทย กยท.คือเสือตัวที่ 6 นอกจาก 5 เสือ ผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่แล้ว”