“สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน” รับมือกระแสต้านทารุณสัตว์ ดันไทยพลิกโฉมผลิตภัณฑ์หนังรักษ์โลก

สัมภาษณ์

เขตประกอบการอุตสาหกรรมฟอกหนัง ถนนสุขุมวิท กม.30 และ กม.34 จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นที่ตั้ง 130 โรงงานฟอกหนังแหล่งใหญ่ของประเทศไทย ปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกระแสต่อต้านการนำหนังสัตว์มาทำผลิตภัณฑ์กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานฟอกหนัง จ.สมุทรปราการ ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนัง และเครื่องหนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมหนัง และเครื่องหนังต่อกระแสดังกล่าว และทิศทางการเติบโตของธุรกิจ

 

ต้านใช้หนังยอดลดราคาดิ่ง

สุวัชชัยบอกว่า กระแสต่อต้านจากกลุ่มพวกกินผัก เป็นกระแสแรง และใหญ่มากในระดับโลก มีการรณรงค์ลดการใช้หนัง การเลี้ยงวัว และมีกระแสในเรื่องการบริโภคเนื้อวัวที่ทำจากพืช รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทแข็ง และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้ปี 2562 ภาพรวมอุตสาหกรรมหนัง และเครื่องหนังในเชิงของออร์เดอร์ อยู่ในภาวะทรง ๆ และถดถอยลง ทุกบริษัทยอดขายตกก็จริง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่ราคาหนังดิบทั่วโลกต่ำลงมาก ๆ จนน่ากลัว ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงปัจจุบัน เช่น หนังวัว ปกติราคาขาย 70-80 เหรียญต่อตัว ตอนนี้เหลือ 30 เหรียญต่อตัว ราคาตกลงมา 40%

เทรนด์รักษ์โลก+วัสดุอื่นมาแรง

ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน ความต้องการสินค้าในตลาดมีการพิจารณาเรื่องคุณลักษณะการใช้งานมากขึ้น มีการใช้หนังน้อยลง การผลิตกระเป๋า 1 ใบ ต้องใช้วัสดุหลากหลาย เช่น ผ้า ดังนั้นสมาคมพยายามผลักดันไปยังตลาดใหม่ให้ดีไซเนอร์ ผู้ผลิตรองเท้า ผู้ผลิตเครื่องหนังมองเห็นตลาด และยอมรับที่จะใช้หนังประเภทนี้ เพื่อทำงานร่วมกับสินค้าประเภทอื่น ๆ ยกตัวอย่าง กลุ่มเครื่องนุ่งห่มในเมืองไทยเอง มีผ้าใยสับปะรดขายได้ดีในตลาดญี่ปุ่น รวมถึงการใช้ผ้าพื้นเมืองมาใช้ประกอบเป็นกระเป๋า หากมีการนำผ้าในลักษณะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผนวกกับหนังที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะทำให้ตัวสินค้ามีมูลค่าในตัวเองมากขึ้น

Advertisment

อนาคตหนังที่ใช้ทำรองเท้า กระเป๋า ต้องผลิตด้วยกระบวนการรักษ์โลกมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การฟอกหนังที่ใช้โลหะหนักโครเมียม มีราคาถูกและทนทาน ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เคมีออร์แกนิก ย่อยสลายเร็วกว่าวัสดุที่ทำจากผ้า แต่ต้นทุนเพิ่ม 10-15% การฟอกหนังใช้วิธีใหม่ ๆ เพื่อประหยัดสารเคมี ประหยัดน้ำ และนำกลับมารีไซเคิลได้ และตัวหนังเองย่อยสลายได้ง่าย เปอร์เซ็นต์ที่มีสารตกค้างน้อย ปัจจุบันตลาดต้องการสินค้าเหล่านี้

ดัน FTA หนังแกะภาษี 0%

สุวัชชัยบอกว่า ตอนนี้ทางสมาคมกำลังผลักดันการนำหนังแกะ และหนังแพะมาใช้แทนหนังวัว ด้วยคุณสมบัติ 1.น้ำหนักเบา 2.ผิวพรรณมีความละเอียดมากกว่า รองเท้าที่ทำมาจากหนังแกะ หนังแพะ ขายได้ราคาได้สูงกว่าหนังวัว แต่เวลาคนฟอกหนังดิบขาย ราคาหนังวัวจะแพงกว่า เพราะคิดตามน้ำหนัก

“ในฐานะที่เป็นนายกบริหารสมาคมเห็นว่า ในเมื่อตลาดหนังวัวไปไม่ได้แล้ว มีการตีตลาดจากเมืองจีนเข้ามา มันควรจะออกตลาดไปในรูปเครื่องหนังทดแทน เช่น หนังของสัตว์อื่น ๆ เลยโฟกัสไปตลาดหนังแกะ หนังแพะ ให้ตลาดเกิดการรับรู้ให้มากขึ้น เชื่อว่าถ้าดีไซเนอร์ คนผลิตออกแบบสินค้าโดยใช้หนังแกะ หนังแพะ เช่น กรอบไอโฟนหนังแกะ หนังแพะ ราคาจะดีกว่าการผลิตจากหนังวัว คุณค่าแวลูจะต่างกัน เชื่อว่าถ้าทำให้เกิดการรับรู้ เมืองไทยจะมีตลาดเกิดใหม่ขึ้นมา”

วัตถุดิบหนังแกะ หนังแพะ ต้องนำเข้าจากประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ ตุรกี มีข้อจำกัดเรื่องภาษีนำเข้า 5% ตอนนี้ทางสมาคมได้ทำหนังสือไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่าขอให้เจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน และ FTA ไทย-ตุรกี ให้ภาษีนำเข้าเหลือ 0%

Advertisment

ชงพัฒนาวัวไทยเพิ่มมูลค่า

สุวัชชัยบอกว่า ธุรกิจฟอกหนังส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อของโรงงานผลิตรองเท้าแบรนด์ดัง ๆ ทำให้มียอดนำเข้าหนังดิบ และหนังสำเร็จรูป ปี 2562 อยู่ที่ 39,000 ล้านบาท ยอดส่งออก 35,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาทางสมาคมพยายามหาวิธีการ จะทำอย่างไรให้หนังดิบไทยมีราคาที่อยู่กันได้สมเหตุสมผล ปัจจุบันราคาหนังวัวดิบของไทย 9 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหนังวัวดิบต่างประเทศ คุณภาพดีอยู่ที่ 30 เหรียญ/กก. (ประมาณ 948.42 บาท/กก.) วัว 1 ตัวน้ำหนักหนัง 30 กิโลกรัม เพราะคุณภาพดีกว่า ขณะที่วัวไทยคุณภาพต่างกัน ลักษณะการเลี้ยงไม่เหมือนกัน เกษตรกรเลี้ยงกัน 5-10 ตัว แต่ต่างประเทศเลี้ยงเป็นระบบฟาร์ม การจัดส่ง ฆ่า ถลกหนัง เก็บรักษา มีคุณภาพ พร้อมส่งออกต่างประเทศ เกษตรกรไทยต้องพัฒนาการเลี้ยง

โควิด-19 ตัวแปรทิศทางปี’63

สุวัชชัยบอกว่า ภาพรวมธุรกิจเครื่องหนังปี 2563 พอกับปีที่แล้ว มีปัจจัยที่เป็นตัวแปรจากความต้องการการใช้หนังลดน้อยลง ในเรื่องราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ตกต่ำ สงครามการค้า ค่าเงินต้องการความมีเสถียรภาพอย่าขึ้น-ลงเร็ว และมาเรื่องไวรัสโควิด-19 หากแพร่ระบาดไป 6 เดือน ปีนี้น่าจะเหนื่อยมาก ๆ เพราะสมาชิกสมาคมมีการส่งสินค้าเข้าเมืองจีน 40% ที่เหลือเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย เราไม่ได้ห่วงเมืองจีนอย่างเดียว แต่เราห่วงประเทศคู่ค้าอื่นชัตดาวน์ไปด้วย ตอนนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการแก้ปัญหาเรื่องไวรัสเลย

ตอนนี้เอเชียมีการชะงัก ปัญหาน่าจะมีมากในปีนี้ ภาวนาให้ทางเมืองจีนจบเรื่องไวรัสได้เร็ว เพราะเมืองจีนเป็นฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ ของโลก จะเกิดการขาดแคลนซัพพลายอัตโนมัติ เวลาเราไปเดินห้างจะไม่มีสินค้ารองเท้ารุ่นใหม่ออกมาวางขาย ขณะที่สินค้ารุ่นเก่าจะหมดไป

ในภาคธุรกิจมองว่า ภายใน 1 เดือนจะเกิดปัญหาชอร์ตซัพพลายเออร์ในการผลิตสินค้าป้อนตามออร์เดอร์ของลูกค้าจากทั่วโลก ตอนนี้รอดูว่ารองเท้าหลายแบรนด์ใหญ่ มองปัญหาตรงนี้อย่างไร และหาวิธีแก้ไขอย่างไร

คาดการณ์ว่าถ้าจีนปิดโรงงาน ออร์เดอร์อาจจะไหลออกมาผลิตในต่างประเทศ เช่น ย้ายมาผลิตรองเท้าที่เวียดนาม ก็อาจจะมาสั่งหนังฟอกจากเมืองไทยเข้าไปผลิต ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงเวียดนาม และไทยที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหนังหลักให้กับกลุ่มผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์ดัง