ถุงมือยางล้นตลาด ราคาดิ่ง “จีน-มาเลย์” ดัมพ์ระบายสต๊อก

rubber gloves

ธุรกิจถุงมือยางโลกเดือด จีน-มาเลเซีย ระบายสต๊อก ดัมพ์ราคาถล่มตลาด ทำราคาร่วงหนัก 100 ชิ้น ต่ำกว่า 1 เหรียญ กระทบผู้ผลิตถุงมือยางไทย เผยราคาที่อยู่ได้ต้อง 2 เหรียญขึ้น ผู้ส่งออกยางแผ่นดิบรมควัน-น้ำยางข้น-น้ำยางสด โอดโดนหางเลขด้านผู้ส่งออกรายใหญ่เผยต่างประเทศชะลอออร์เดอร์ทำสต๊อกล้น ราคารับซื้อดิ่ง ลดซื้อน้ำยาง

ดร.สมบูรณ์ วราห์บัณฑูรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ด๊อกเตอร์ บู จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดถุงมือยางโลกมีการแข่งขันราคากันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจีน และมาเลเซีย ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งต้องการระบายสต๊อกสินค้า เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีการลงทุนตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการจำนวนมาก

โดยโรงงานของมาเลเซียเริ่มระบายสต๊อกด้วยการดัมพ์ราคาก่อน ตามมาด้วยโรงงานในจีน ซึ่งส่วนหนึ่งของสต๊อกเกิดจากยุโรปมีการตั้งกำแพงภาษีสูงถุงมือยางจีน

การเร่งระบายสต๊อกของมาเลเซียและจีนส่งผลให้ถุงมือยางในตลาดโลกราคาตกต่ำ จากเดิมช่วงโควิด-19 ถุงมือยางสังเคราะห์ จำนวน 1 คาร์ตัน (carton) หรือ 100 ชิ้น ราคาประมาณ 6-8 เหรียญ และราคาลงมาเรื่อย ๆ เคยลงไปต่ำกว่า 1 เหรียญ ปัจจุบันปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.80 เหรียญต่อคาร์ตัน และราคาถุงมือยางธรรมชาติถูกกดราคาลงไปใกล้เคียงกัน ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 1.7 เหรียญต่อคาร์ตัน โดยปกติถุงยางธรรมชาติจะถูกกว่าถุงมือยางสังเคราะห์เล็กน้อย

ดร.สมบูรณ์ยังคาดการณ์ด้วยว่า ตลาดถุงมือยางโลกช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีการแข่งขันรุนแรงเรื่องราคาและอาจจะลากยาวไปอีก 1-2 ปี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการถุงมือยางยังต้องเผชิญกับปัจจัยสำคัญเรื่องปัญหาแรงงานขาดแคลนหายาก รวมถึงเรื่องการเมืองภายในประเทศไทยที่ยังไม่นิ่ง ส่งผลกระทบเศรษฐกิจกำลังซื้อโดยภาพรวม

Advertisment

ประกอบกับปัจจุบันต้นทุนสินค้าวัตถุดิบหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นมาก โดยราคาถุงมือยางที่เหมาะสมและธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ ไม่ควรต่ำกว่า 2 เหรียญต่อคาร์ตัน

ชี้การแข่งขันในตลาดรุนแรง

การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตถุงมือยางของไทยเช่นกัน เพราะอัตราการเติบโตของตลาดถุงมือยางสหรัฐเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 4-5% ต่อปี ถือเป็นอัตราการเติบโตปกติ ไม่ได้พุ่งสูงเหมือนช่วงโควิด-19 ที่ผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์ ธุรกิจเติบโต มีกำไร และมีบริษัทใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งของความต้องการถุงมือยางช่วงโควิดน่าจะเป็นดีมานด์เทียมด้วย ทำให้ตอนนี้หลายโรงงานที่ขยายกิจการบางรายก็เจ็บตัวไปตาม ๆ กัน หรือบางรายที่เพิ่งลงทุนเปิดโรงงาน ตอนนี้บางบริษัทยังไม่ทันได้เปิดกิจการก็ต้องปิดตัวลง นักธุรกิจหน้าใหม่ที่จะลงทุนเรื่องถุงมือยางก็หยุดกันไป

“ถือเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับเมื่อเกือบ 35 ปีก่อนที่เกิดโรคเอดส์ ประมาณปี 2531 สมัยนั้นมีผู้ประกอบการยื่นขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง ประมาณ 100 กว่าโรง โดยด๊อกเตอร์ บู ถือเป็นหนึ่งในโรงงานที่ขอตั้งครั้งนั้น ถึงวันนี้เหลือไม่กี่โรง

และในช่วงโควิด บริษัทตั้งเป้าจะขยายโรงงานใหม่เพิ่มอีก 3 โรงงาน แต่ค่อย ๆ ขยายตามความต้องการของลูกค้าที่มีแน่นอน ตอนนี้จึงลงทุนไปโรงงานเดียว ส่วนที่เหลืออีก 2 โรงงานเบรกไป ปัจจุบันยอดขายของบริษัทใกล้เคียงกับที่ตั้งเป้าไว้ ปี 2566 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,000 ล้านชิ้นต่อปี มียอดขายประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี”

Advertisment

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรแปรรูปยางพาราภาคใต้เพื่อส่งออกรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงขณะนี้ ภาวะยางพาราไทยตกอยู่ในภาวะทรง ๆ และทรุดมาตลอด เพราะตลาดโลกตอบรับการเสนอขายในราคาต่ำและชะลอออณ์เดอร์ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราประสบภาวะขาดทุน

ยางค้างสต๊อก ต้องลดกำลังการผลิต

โดยบริษัทผลิตล้อยางจากยางพาราแทบทุกบริษัทระบุว่า ยังมียางค้างสต๊อกอยู่ ต้องลดกำลังการผลิต ลดกำลังซื้อ และลดคนงานลง ส่วนผู้ผลิตถุงมือยางจากพาราธรรมชาติในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ตอบรับการซื้อ เพราะใช้ถุงมือยางจากยางเทียม หรือยางไนไตรล์ (nitrile)

ปัจจัยข้างต้นดังกล่าวส่งผลถึงการขายน้ำยางข้น น้ำยางสด การทำยางแผ่น รวมยางรมควัน ยางพาราทุกตัว ภาวะการซื้อขายทรุดลงหมด ราคายางตกต่ำ เช่น ยางแผ่นรมควัน ราคาเหลือ 47-47.34 บาท/กก. น้ำยางสด บางพื้นที่ 38-39 บาท และบางพื้นที่ 40 บาท/กก. น้ำยางข้นราคา 27 บาทเศษ/กก. (วันที่ 13 ก.ค. 66)

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) และประเทศสหรัฐ ที่เป็นตลาดใหญ่ ก็มีเรื่องนโยบายมาตรฐานของสภาพิทักษ์ป่า (FSC) โดยไม่ตอบรับการซื้อยางพาราที่อยู่ในพื้นที่ป่า ดังนั้นต้องทำให้สวนยางพาราอยู่บนที่ดินให้ถูกต้อง อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่สงวนก็ต้องทำให้เป็นที่ดินอย่างถูกต้อง โดยให้รัฐบาลต้องออกใบรับรองเป็นที่ทำกินให้มีที่มาที่ไปของยางพาราชัดเจนจึงจะส่งออกขายไปยังกลุ่มตลาดประเทศสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกาได้

สำหรับที่ดินในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้หารือและเตรียมความพร้อมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว และจากการประชุมกับ กยท.เขตใต้ล่าง (วันที่ 13 ก.ค. 66) รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการหาทางออกอย่างทันท่วงที เพราะขณะนี้เศรษฐกิจการเกษตรเฉพาะในส่วนยางพาราตกต่ำมาก โดยเฉพาะภาคใต้ที่ทำอาชีพสวนยางกว่า 70-80%

นายกัมปนาทกล่าวว่า นอกจากนี้สถานการณ์โรคใบร่วงยังทำให้น้ำยางสดหดตัว ยางพาราหายไปจากตลาดประมาณ 60-70% เฉพาะในกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์เคยรับซื้อน้ำยางสดประมาณ 30,000-40,000 กก./วัน ตอนนี้เหลืออยู่ที่ประมาณ 3,000 กก.

ส่วนตลาดกลางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั่วภาคใต้ จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี ก็มีผลผลิตน้อย บางครั้งมีประมาณ 300,000 ตัน จากเดิมที่เคยมีจำนวนหลายแสนตัน ทำให้ปี 2565-2566 โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราขาดเริ่มแคลนยางพารา ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการเดินเครื่องการผลิต

ฉะนั้น โรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรกรยางพารา สหกรณ์ยางพารา ไปจนถึงบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่ของโลกหลายแห่งในไทย ต่างประสบภาวะขาดทุนกันแทบทุกราย ตั้งแต่ 400,000 บาท ไปจนถึง 1 ล้านบาท ราคาในตลาดหุ้นก็ต่างถดถอยไป เป็นสัญญาณบ่งว่าเศรษฐกิจยางพาราอ่อนแอมาก และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ตลอดทั้งปี 2566

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ปี 2565 ยอดการจำหน่ายถุงมือยางทางการแพทย์ภายในประเทศหดตัว 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการจำหน่ายอยู่ที่ 1,621.2 ล้านชิ้น และการส่งออกถุงมือยางในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 หดหัว 53.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรืออยู่ที่ 1,108.3 ล้านชิ้น โดยราคาเฉลี่ยลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19

ขณะเดียวกัน GLOBAL ได้คาดการณ์ดีมานด์-ซัพพลายโลก ปี 2019-2026 ว่า ตลาดจะเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 2568 และตลาดโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี