มอเตอร์ไซค์มือ 2 ขาดตลาด เต็นท์รถแย่งซื้อจ่ายสดทันที

มอเตอร์ไซค์มือสอง

รถมอเตอร์ไซค์มือสองภาคเหนือ-ภาคใต้ขาดตลาดหนัก เหตุรถใหม่หยุดผลิต เต็นท์มือสองแข่งเดือดแย่งซื้อจ่ายเงินสดทันที ช้าอาจไม่ได้รถ แถมราคาพุ่งกว่าช่วงโควิด พ่อค้าถึงขั้นต้องสั่งซื้อรถข้ามเขตจากภาคอีสานไปขายแทน และแห่ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้กว้านซื้อกันอย่างหนัก “ฮอนด้า-ยามาฮ่า” ยอมรับรถใหม่ขาดช่วงเพราะปัญหาชิป ไฟแนนซ์ปรับเวลายึดรถ

นายอรรถพล ปักขีพันธ์ เจ้าของร้านโตยานยนต์ เทศบาลตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง รับซ่อมและซื้อขายจักรยานยนต์มือสอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รถจักรยานยนต์มือสองกำลังขาดตลาดหนักตั้งแต่ต้นปี 2565 จากเดิมในกลุ่มเครือข่ายมีการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 100 คัน/เดือน มาปีนี้แทบหาซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีรถบอกขาย เริ่มตั้งแต่ จ.พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช ไปถึงกระบี่ ทำให้พ่อค้ารถจักรยานยนต์มือสองจากหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ต้องไปร่วมจัดเอเย่นต์ เพื่อหาซื้อรถในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ยังมีจักรยานยนต์มือสองอยู่ในระดับหนึ่ง บางสัปดาห์หาซื้อได้ลอตละ 7-8 คันเท่านั้น ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

แข่งซื้อจ่ายสดวันต่อวัน

หลังเกิดปัญหาขาดตลาด ทำให้ธุรกิจรับซื้อรถจักรยานยนต์มือสองเกิดการแข่งขันกันสูง ปกติราคารถที่ทางร้านรับซื้อมีหลายระดับราคาตั้งแต่ 10,000-30,000 บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับรุ่นและสภาพรถ แต่เมื่อตลาดเจอปัญหาแบบนี้ ทำให้ต้องมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพราะต้องรับซื้อรถทันทีแบบวันต่อวัน เมื่อมีผู้บอกขายในวันนี้ก็ต้องรีบซื้อวันนี้ทันที หากช้าไปเพียงวันเดียวก็จะไม่ได้รถ เพราะมีร้านอื่นซื้อตัดหน้าไป

“เดิมพ่อค้ารถจักรยานยนต์มือสองจะหาซื้อและขายได้จำนวนหลายสิบคัน แต่ต้นปีที่ผ่านมาจำนวนหดหายไปครึ่งต่อครึ่ง เพราะผู้ใช้รถจักรยานยนต์เก่าไม่ขายออก ถ้าต้องซื้อใหม่ก็จะมีภาระค่าผ่อนอีก ซึ่งเศรษฐกิจตอนนี้ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น คนเริ่มหันมาใช้รถจักรยานยนต์กันมากขึ้นด้วย ซึ่งราคาในระดับ 15,000 บาท ลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้า”

ขณะที่ตลาดนี้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทุกวัน โดยเฉพาะกลุ่มเต็นท์รถยนต์มือสองต่างหันมาขายรถจักรยานยนต์มือสองด้วย เนื่องจากขั้นตอนสั้น จ่ายเงินจบ ต่างจากรถยนต์มือสองต้องผ่านไฟแนนซ์ ระยะผ่อนส่งอีกนาน

ผู้เล่นหน้าใหม่โดดร่วมวง

นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า รถจักรยานยนต์มือสองยอดนิยมยังเป็นยี่ห้อเดิมคือ ฮอนด้า ยามาฮ่า สำหรับฮอนด้าตั้งแต่รุ่น 110-125 ทั้งนี้ พ่อค้าจะได้ส่วนต่างหรือกำไรสุทธิ 2,000-2,500 บาทต่อคัน โดยหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น นายหน้า ค่าขนส่ง ฯลฯ แต่มีอีกส่วนหนึ่งเมื่อรับซื้อมาแล้ว ถ้าเป็นเจ้าของร้านรับซ่อมรถจักรยานยนต์ จะยกเครื่องซ่อมใหม่ จะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่กิจการร้านซ่อมจักรยานยนต์ก็เช่นกัน มีทิศทางที่ดี โดยมีผู้นำรถเข้ามาใช้บริการจำนวนมากขึ้นในแต่ละวัน ถือเป็นรายได้ที่ดี ซึ่งขณะนี้ร้านรับซ่อมรถจักรยานยนต์ได้ขยายออกไปนอกเขตเมืองลงในระดับหมู่บ้านมากขึ้น แทบจะทุกหมู่บ้าน บางหมู่บ้านมีถึง 3-4 ร้าน

นายสัญญา ศรีสมพงศ์ เจ้าของร้านแสงอรุณเซอร์วิส รับซ่อมรับซื้อจำหน่าย และอะไหล่รถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกค้ามีความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์มือสองกันมาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ดี เจ้าของรถเก่าไม่ต้องการขาย

ขณะที่ราคาอะไหล่รถปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันปรับแล้ว 20-30% ตั้งแต่โซ่ สเตอร์ ยาง น้ำมันเครื่อง ฯลฯ ทำให้การขายหน้าร้านต้องปรับตัวตามความต้องใช้ของลูกค้า

เชียงใหม่มอเตอร์ไซค์มือสองขาดหนัก

นายจำเริญ ยศ เจ้าของร้านลุงเริญมอเตอร์ ตลาดรวมโชค เทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รถมอเตอร์ไซค์มือสองที่เชียงใหม่ก็ขาดแคลนมาก เป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เนื่องจากคนที่ต้องการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ต้องใช้เวลาสั่งจองรถล่วงหน้า 2-3 เดือน รถเก่าที่มีก็ไม่ขาย ทำให้ร้านไม่มีสินค้ามาให้ลูกค้าเลือก แต่ราคาขายไม่ได้ปรับเพิ่ม เพราะเศรษฐกิจไม่ดี

แห่ซื้อรถขอนแก่นไปขาย

นายวรเชษฐ ตั้งจิตรเที่ยง เจ้าของร้านตี๋ พี.เค.มอเตอร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นร้านค้าส่งและค้าปลีกรถจักรยานยนต์มือสองทั่วประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุเกิดจากบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ใหม่ชะลอการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งได้มาสั่งซื้อรถมือสองจากทางร้านส่งไปขาย

ส่วนสถานการณ์รถจักรยานยนต์มือสองในภาคอีสานไม่มีปัญหาขาดตลาด แต่ราคาจะสูงขึ้นเท่าช่วงก่อนโควิด-19 เช่น Honda รุ่น Scoopy-i มือสองก่อนหน้านี้เคยรับซื้อที่ราคา 10,000 บาท ตอนนี้ต้องรับซื้อราคา 14,000-15,000 บาท ปัจจุบันทางร้านมีสาขารับซื้อรถอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ หลายจังหวัด หากสาขาบอกมีคนเสนอขายรถ ร้านจะโอนเงินสดให้ทันที เมื่อได้หลายคันแล้วค่อยไปรับสินค้า

“เราอยู่วงการนี้มา 10 ปี คนที่มาซื้อรถจากร้านมั่นใจได้ถึงคุณภาพ ทำให้มีร้านค้าจากหลายภาคมาซื้อรถเราไปขายต่อ ปัจจุบันไฟแนนซ์มีการเช็กประวัติลูกค้าเข้มงวด เพราะบางคนซื้อแล้วไม่ผ่อนต่อกัน”

ปัญหาชิปกระทบหนัก

นายณัฐชัย ศรีโสวรรณา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานวางแผนธุรกิจ บริษัท ไทยฮอนด้า จํากัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ช่วงที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตรถจักรยานยนต์ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564

นอกจากจะส่งผลต่อตลาดรถจักรยานยนต์ใหม่แล้ว มีกระทบรถจักรยานยนต์มือสองด้วยเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีรถหมุนเวียนเข้าสู่ตลาด ประกอบกับผู้ใช้รถใหม่ระยะหลังยืดอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น และรถใหม่ในตลาดก็มีน้อยลง ทำให้ในบางพื้นที่ประสบภาวะขาดแคลนรถจักรยานยนต์ไปบ้าง ซึ่งเป็นไปตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย และกระทบต่อราคาขายรถมือสองด้วยที่อาจจะขายแพงขึ้น

“แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก เริ่มใกล้เคียงกับปกติแล้ว วันนี้ราคามือสองอยู่ที่ 70-75% ของราคารถใหม่ สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ปีนี้ความต้องการตลาดรถจักรยานยนต์ใหม่อยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ส่วนรถมือสองและรถต่อแลก รวมกันมีความต้องการอยู่ราว ๆ 6.8-7 แสนคันต่อปี แบ่งเป็นรถจากไฟแนนซ์ 150,000 คัน รถจากดีลเลอร์ 35,000 คัน และรถในกลุ่มรถต่อแลกอีก 85,000 คัน เชื่อว่าตลาดรถมือสองจะเริ่มเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติราวไตรมาส 2 ของปี 2566”

ไฟแนนซ์ปรับเวลายึดรถ

นายภาณุพล กิตติคำรณ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสฝ่ายวางแผนการขายและการตลาด และผู้บริหารระดับสูง บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากรถใหม่ขาดตลาดในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสถาบันการเงินเปลี่ยนเงื่อนไข เช่น มีการยืดระยะเวลายึดรถหรือ “โอเวอร์ดีล” ให้มากขึ้น จาก 1.5% เป็น 2.5-3% ทำให้ตัวเลขรถยึดลดลง อยู่แค่ 3-4% เท่านั้น ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์การผลิตเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง เชื่อว่าตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมน่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

“ต้องยอมรับที่ผ่านมารถจักรยานยนต์มือสองราคาดีมาก เกรดเอบางรุ่นใช้ไปไม่เกิน 5,000 กิโลเมตรหรือ 1 ปี ราคาขายต่อแทบไม่ตก อยู่ที่ 80-85% ส่วนรถเกรดบี ราคาจาก 60% ขยับเพิ่มเป็น 70% ก็มี ราคาบางรุ่นก็เกือบเท่ารถใหม่หรือราคาโฮลเซลเลย”