ถอดปัญหา “ทีวี-วิทยุ” พลิกบท กสทช.สู่ผู้สนับสนุน

วิทยุ-โทรทัศน์

ปัญหาระหว่างผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ กับการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังคงมีอยู่เป็นระยะ ๆ ในบางกรณีจบลงด้วยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลปกครอง เช่น การเรียกคืนค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ และการเรียงช่อง เป็นต้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในโอกาสที่สำนักงานศาลปกครอง ครบรอบ 21 ปี ได้จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ปัญหาการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับปัญหา และแนวทางการกำกับดูแลในอนาคต โดย 2 ใน 4 ผู้ร่วมเสวนาเป็นว่าที่ กสทช.ชุดใหม่

“สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอยู่กับปัญหานี้มา 8 ปี ตั้งแต่ทีวีดิจิทัลเปิดกิจการในเดือน เม.ย. 2557 อยู่ภายในการดูแลของ กสทช.ชุดรักษาการปัจจุบันที่ทำหน้าที่มายาวนานถึง 10 ปี ซึ่งต้องยอมรับว่า ทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นมาจากความไม่พร้อมของ กสทช. โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ และการแจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล

ต้องเข้าใจผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง กสทช. กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอาจ “ไม่มีใครผิด-ใครถูก” เพราะฝั่งผู้ประกอบการทีวีก็คาดหวังว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่น่าลงทุน เพราะขณะนั้นมีช่องฟรีทีวี 4 ช่อง คือ ช่อง 3, ช่อง 7, ช่อง 9 และช่อง 5 แต่ละรายมีกำไรเป็นหมื่นล้านบาท เมื่อ กสทช.จัดประมูลใบอนุญาตใหม่ ทุกคนจึงสนใจ และคิดแค่ว่าจะขอส่วนแบ่งตลาดแค่ 10% จากผู้ประกอบการรายเดิม

“ช่วงนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองยังประเมินว่าจะมีเม็ดเงินในการประมูลทีวีดิจิทัลที่ 13,500 ล้านบาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาประมูลรวมมูลค่าทะลุไปกว่า 35,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก เพราะทุกรายกลัวไม่ว่าจะไม่ได้ช่อง” สุภาพกล่าวและว่า

Advertisment

ท้ายที่สุดจึงมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งที่เกิดจากการประชาสัมพันธ์ และการแจกกล่องทีวีดิจิทัลล่าช้า รวมไปถึงสเป็กของกล่องที่แจกให้ประชาชน เป็นต้น ทำให้ทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พร้อมอะไรเลย เมื่อคนดูไม่ได้ ช่องทีวีก็ไม่สามารถขายโฆษณาได้ เพราะไม่มีคนดู ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขอยืดระยะเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาต

“ช่วงแรก บทบาท กสทช.ค่อนข้างเข้มงวดมาก ในฐานะผู้รักษากฎระเบียบ ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีปัญหาอะไรก็ต้องกอดกฎหมายไว้ก่อน เพราะเกรงจะโดนมองว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากกฎเกณฑ์การสรรหา กรรมการ กสทช.ที่มีข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติ”

“เช่น ต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารที่ปรึกษา และพนักงานของนิติบุคคลที่ทำธุรกิจด้านกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมในช่วง 1 ปีก่อนเข้าสู่กระบวนการสรรหา เป็นต้น ท้ายที่สุดทำให้กรรมการที่ได้มา ไม่เคยอยู่ในอุตสาหกรรม และไม่รู้ปัญหา ขณะที่ว่าที่กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ถือว่ามีความหวัง เพราะเข้าใจปัญหาของอุตสาหกรรมทีวี และวิทยุ”

แผนความถี่ “วิทยุ” ต้องชัด

ขณะที่ฟากผู้ประกอบการวิทยุ “สำราญ อิบรอฮึม” นายกสมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า ปัญหาทีวีดิจิทัลได้แก้ไขแล้ว แต่สำหรับวิทยุท้องถิ่นไทยยังไม่เกิดขึ้น ถ้าย้อนกลับไปยังรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อ เป็นที่มาของการที่บอกว่า “คลื่นความถี่ เป็นสมบัติของชาติ”

Advertisment

โดยสมาคมนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้จัดรายการวิทยุท้องถิ่น จากเดิมเป็นผู้เช่าเวลาจากสถานีของรัฐ หรือบริษัทใหญ่ที่ประมูลคลื่นความถี่ได้ มีเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหา และพัฒนาด้านต่าง ๆ หรือสนับสนุนพัฒนาการของท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ผ่านกระบวนการทำงานของวิชาชีพวิทยุท้องถิ่น

“ตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมปี 2546 ถึงปัจจุบันรวม 20 ปี ผู้ประกอบการวิทยุท้องถิ่นยังอยู่ในสถานะผู้ทดลองออกอากาศ ปัจจุบัน กสทช.กำหนดให้ผู้ประกอบการวิทยุต้องจดทะเบียนนิติบุคคล มีการจ้างงานคนในท้องถิ่น รูปแบบรายการต้องสอดรับกับคนในท้องถิ่น ตามกฎหมายทุกประการ แต่ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน แม้มีการเรียกร้องการปฏิรูปสื่อต่อเนื่อง แต่ยุทธศาสตร์ล่าสุดที่ กสทช.วางไว้กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อน้อยมาก โดยเฉพาะวิทยุ”

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการวิทยุท้องถิ่นคาดหวัง คือ แผนเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ชัดเจน และคลื่นความถี่ 87-108 MHz จะจัดสรรให้มีจำนวนสถานีเกิดขึ้นเท่าไร

“ถ้าแผนความถี่ชัดเจนจะนำไปสู่กระบวนการจัดสรรคลื่นที่โปร่งใส ได้รับการยอมรับจากทุกส่วน ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการวิทยุท้องถิ่นก็ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการขอใบอนุญาตวิทยุได้จึงต้องฝากความหวังไว้กับ กสทช.ชุดใหม่”

ขอบเขตอำนาจกับการกำกับดูแล

ด้านศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต นักวิชาการอิสระ และว่าที่ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ปัญหาการกำกับดูแลที่ค่อนข้างเป็นสุญญากาศของ กสทช.เกิดขึ้นมายาวนาน ซึ่งโดยส่วนตัวได้เข้าไปศึกษาเกี่ยวกับวิทยุชุมชน เมื่อปี 2551 โดยทำวิจัยให้มูลนิธิของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล ทำให้ได้ทำงานร่วมกับวิทยุชุมชน และภาคประชาชนจึงเห็นถึงพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ต้องยอมรับเรื่องสุญญากาศในช่วงที่ไม่เกิดคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ทำให้เกิดความวุ่นวายมาก และเมื่อมี กสทช.เกิดขึ้นก็ต้องดีไซน์รูปแบบให้มีการลงทะเบียนก่อนแล้วค่อยเข้าสู่กระบวนทดลองออกอากาศ ถือเป็นการทดลองที่ยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์”

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตอำนาจของ กสทช.มีหลายมิติ เช่น ขอบเขตด้านกฎหมาย เนื่องจาก กสทช.เป็นองค์กรทางกฎหมายดังนั้นจึงต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ขณะที่การกำกับดูแลในมิติเชิงสังคมต้องมีความสำคัญมากขึ้น

แม้ว่าในหลายส่วนขอบเขตอำนาจของ กสทช.ไปไม่ถึง อย่างการควบคุมเนื้อหาบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญ เมื่อทุกเนื้อหาย้ายขึ้นไปอยู่บนออนไลน์เกือบหมดแล้ว แต่ กสทช.ไม่มีอำนาจในการควบคุมเนื้อหาบนออนไลน์ เป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส)

พลิกบทบาทสู่ผู้สนับสนุน

“เคสที่เกิดขึ้นชัดเจน คือ การนำเสนอข่าวกราดยิงที่โคราช มีสถานีโทรทัศน์บางช่องไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนี้ กสทช.ทำหน้าที่ในการเข้ามาแทรกแซงทันทีด้วยการบอกให้หยุดไลฟ์ ซึ่งจริง ๆ แล้ว แพลตฟอร์มที่ออกอากาศเนื้อหา คือ เฟซบุ๊ก ถ้าตามขอบเขตอำนาจ กสทช.ทำไม่ได้ แต่กรณีนี้ กำกับดูแลได้ เนื่องจากผู้ออกอากาศเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นต้น”

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เกิดจากการดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดบริการ OTT (over the top) ถือเป็นความเหลื่อมล้ำของผู้กำกับดูแล เพราะผู้ประกอบการทีวีต้องเสียค่าใบอนุญาต ลงทุนด้านคอนเทนต์ ขณะที่ผู้ประกอบการ OTT ทั้งเน็ตฟลิกซ์, ยูทูบ, อ้ายฉีอี้ เป็นต้น ออกอากาศเนื้อหาเช่นเดียวกับทีวี และรับชมได้ทุกอุปกรณ์ (ดีไวซ์) เช่นเดียวกันการออกอากาศของผู้ประกอบการทีวีปัจจุบัน จึงเป็นความท้าทายของ กสทช. ซึ่งประเด็นการจัดเก็บภาษีอาจไม่เท่าไร แต่เป็นเรื่องของคุณภาพ “เนื้อหา” มากกว่า

ดังนั้น ต่อไปบทบาทของ กสทช.อาจไม่ใช่บทบาทของผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย การให้ใบอนุญาต หรือการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่เป็นการส่งเสริม และผลักดันให้อุตสาหกรรมเดินหน้าสู่ขั้นถัดไป ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ

“กสทช.เป็นองค์กรที่มีต้นทุนที่ดีมาก ในลักษณะของการเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในหลายด้าน ทั้งพร้อมด้วยงบประมาณ กำลังพล ด้วยศักยภาพเหล่านี้ คาดว่าจะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่ผลิตบุคลากร เช่น สถาบันการศึกษาทุกระดับ ในการงสร้างโอกาสในวิกฤตจากการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีได้”

ต้องสื่อสารกันมากขึ้น

ด้านพลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. และว่าที่ กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ กล่าวว่า ปัญหาการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ เป็นปัญหาที่สะสมมานาน เมื่อมี กสทช.ก็พยายามนำเข้าสู่ระบบ ให้เข้าถึงกระบวนการกำกับดูแล

โดยบทบาทหน้าที่ในฐานะนักเทคนิค และด้านกำกับดูแลสถานีวิทยุที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการวิทยุ ซึ่ง กสทช.มีวัตถุประสงค์ที่ดีในการผลักดันให้ผู้ประกอบการมีคลื่นเป็นของตัวเอง โดยเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ใบอนุญาต

ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) เป็นการทำแผนแบบกว้าง ๆ ให้สอดรับกับมาตรฐานสากล และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 27 ให้อำนาจ กสทช.จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่น หากโฟกัสเฉพาะความถี่วิทยุ 88-108 MHz เมื่อจัดสรรแล้วจะได้เพียง 20 สถานี

แต่หากแบ่ง 0.5 ลงไปอีกในเชิงเทคนิค พื้นที่เดียวเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล จะมีวิทยุช่องหลักได้ไม่เกิน 20-40 สถานี ขณะที่ในอดีต มีวิทยุหลักของรัฐ 300 สถานี จึงพยายามแบ่งสถานีให้ได้มากที่สุด ที่ 80 สถานีต่อพื้นที่

ที่ผ่านมา กสทช.ต้องทำตามกฎหมาย ไม่ใช่ทำแผนอย่างเดียว แต่ยังต้องให้ใบอนุญาต และตรวจสอบ ถ้าประชาชนมีปัญหาก็ต้องรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งในทางปฏิบัติยอมรับว่ายังทำงานเหมือนราชการ และทำตามหน้าที่ โดยส่วนกลางทำหน้าที่ออกใบอนุญาตเขียนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ส่วน กสทช.ในต่างจังหวัดก็กำกับดูแลไป อาจไม่สอดรับกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาจากการสื่อสารที่ต้องแก้ไข พูดคุยกัน

“หากต้องการให้ทุกส่วนเดินหน้าต่อได้ ก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน อย่างกรณีการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุที่มีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากร ถ้าตัวตั้งเป็นดีมานด์ซัพพลายที่ไม่สอดรับกัน ดีมานด์ไม่พอจะแก้ไขอย่างไร จะเปลี่ยนสู่วิทยุดิจิทัลหรือไม่ เมื่อสร้างวิทยุดิจิทัลขึ้นใหม่ ใครจะลงทุน ผู้ประกอบการเดิมพร้อมหรือไม่ ต้องพูดคุยกัน เพื่อให้เดินหน้าได้ตามสภาพความเป็นจริง”