ค่าการกลั่นน้ำมัน มาจากไหน ใครเป็นคนกำหนด ทำไมเพิ่มสูงขึ้น ?

น้ำมัน ค่าการกลั่น

ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้โรงกลั่นได้กำไรจาก “ค่าการกลั่น” เพิ่มขึ้นด้วยจริงหรือไม่ แล้วค่าการกลั่นคืออะไร อะไรเป็นตัวกำหนด 

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้เปิดการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซภายในประเทศ เพื่อขอความร่วมมือให้นำส่ง “กำไรส่วนที่เพิ่มขึ้น” มาช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับประชาชน โดยนำส่งเงินเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เป็นเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2565)

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังมีรายงานว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจำนวน 6 แห่ง ในช่วงไตรมาส 1/2565 อยู่ระหว่าง 6-22 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจัดเป็นอัตราทำกำไรขั้นต้นของโรงกลั่นน้ำมันที่สูงมาก สอดคล้องกับการคำนวณค่าการกลั่นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม 2565) อยู่ที่ 3.27 บาท/ลิตร

โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาท/ลิตร (คำนวณจากส่วนต่างของราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนของปริมาณการผลิตของประเทศ กับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 3 แห่งสำคัญ ดูไบ-โอมาน-ทาปิส) ซึ่งสูงกว่าค่าการกลั่นในภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เคยอยู่ระหว่าง 2-2.50 บาท/ลิตรเท่านั้น

ค่าการกลั่นคืออะไร ?

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปความหมายของคำว่า “ค่าการกลั่น” เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าแท้จริงแล้วจะหมายถึงกำไรตามที่หลายคนเข้าใจ ได้หรือไม่ ?

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ค่าการกลั่น ตามคำนิยามของ สนพ.หมายถึง กำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยกำไรของโรงกลั่นจะยึดโยงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้

ดังนั้น ยิ่งค่าการกลั่น (GRM) สูงขึ้นเท่าไร หมายความว่า การทำกำไรเบื้องต้นจากการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นก็จะสูงขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (กลุ่มโรงกลั่น) ระบุว่า ค่าการกลั่นไม่ได้แสดงถึงกำไรของโรงกลั่น เนื่องจากโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ หลายรายการที่ต้องหักออกก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นกำไรก่อนหักภาษี

ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูป หรือน้ำมันดิบอ้างอิง ต้องหักลบด้วย ค่า Crude Premium (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่น เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง), ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าความร้อน และหักลบด้วยค่าดำเนินการของโรงกลั่น ได้แก่

  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  • ค่าดอกเบี้ย / ค่าเสื่อมราคา
  • กำไรขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยง ด้านราคา
  • กำไรขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน

เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดข้างต้นแล้ว จึงจะเหลือเป็นกำไรก่อนหักภาษี

โรงกลั่น ไม่ได้กำหนดค่าการกลั่น ?

กลุ่มโรงกลั่นระบุด้วยว่า ค่าการกลั่น ไม่ได้ถูกกำหนดโดยโรงกลั่น แต่จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น โดยโรงกลั่นจะไม่สามารถควบคุมค่าการกลั่นได้

ค่าการกลั่นยังต่ำกว่าภาวะปกติ

กลุ่มโรงกลั่นชี้ว่า ปัจจุบันค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาค่าการกลั่นเฉลี่ยในช่วงโควิดจนถึงปัจจุบัน พบว่า ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวการณ์ปกติ หรือช่วงก่อนโควิด-19

ภาวะดังกล่าวยังส่งผลให้โรงกลั่นทั่วโลกปิดตัวจากพิษโควิดเป็นจำนวนมาก การคว่ำบาตรน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซีย ทำให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว และระดับสต๊อกน้ำมันทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก

ที่ผ่านมา มีโรงกลั่นหลายแห่งทั่วโลกได้ปิดกิจการไป โดยกำลังการผลิตรวมที่ปิดกิจการไปแล้วกว่า 3 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากโรงกลั่นอยู่ในกลุ่มที่ลงทุนสูงมาก มีความสามารถในการทำกำไรไม่สูง (เฉลี่ยประมาณ 3% ของรายได้) และยังต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โรงกลั่นต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าการกลั่นในตลาดโลก เพื่อความอยู่รอด