เกณฑ์ทหาร 2567 ชายไทยต้องทำอะไรบ้าง ใครได้รับการยกเว้น

เกณฑ์ทหาร 2567

เกณฑ์ทหารปีนี้ ชายไทยต้องทำอะไรบ้าง บุคคลใดที่ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ต้องการผ่อนผันต้องทำอย่างไร

วันที่ 2 เมษายน 2567 กองทัพบกได้ทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (เกณฑ์ทหาร) ประจำปี 2567 โดยการตรวจเลือกทหารกองประจำการมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 เมษายน 2567 ซึ่งจะจับใบดำ-ใบแดงเหมือนเดิม

ก่อนที่จะรับจดหมายถึงที่บ้าน ควรทราบรายละเอียดต่าง ๆ สำหรับการสมัครคัดเลือก หรือรับการผ่อนผัน และบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร

เกณฑ์ทหารคืออะไร

การเกณฑ์ทหารเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของชายไทย ส่วนในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชาย ที่มีสัญชาติเป็นไทย ตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดขั้นตอน เกี่ยวกับการรับราชการทหารไว้ตั้งแต่การลงบัญชีทหารกองเกิน การรับหมายเรียก การตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ การเรียกพล การระดมพล และการปลด โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กระทรวงกลาโหม

Advertisment

ใครบ้างที่ต้องเกณฑ์ทหาร

1.เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

2.เกิดนอกราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาไม่มีสัญชาติ

3.เกิดในราชอาณาจักรไทย (นอกจากผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ที่มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว และขณะที่เกิดบิดามารดาเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต หรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางการทูต หรือพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ และคนในครอบครัว ซึ่งเป็นญาติอยู่ในอุปการะ หรือคนใช้ ซึ่งเดินทางมาอยู่กับบุคคลดังกล่าว)

4.ผู้ที่ได้แปลงสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย

Advertisment

5.บุคคลที่ได้กลับคืนสัญชาติไทย ชายที่มีสัญชาติไทย เริ่มผูกพันกับกฎหมายรับราชการทหาร ตั้งแต่อายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรืออายุย่างเข้า 18 ปี ในวาระแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนทหารที่อำเภอตามที่กฎหมายกำหนด

เกณฑ์ทหาร 2567

เกณฑ์ทหารต้องมีอายุเท่าไร

1.อายุ 17 ปี บริบูรณ์ (ย่าง 18 ปี) ชายไทยแสดงตนขึ้นทะเบียนทหารภายในปี พ.ศ. นั้น

2.อายุ 20 ปี บริบูรณ์ (ย่าง 21 ปี) รับหมายเรียก เพื่อไปแสดงตนที่อำเภอท้องถิ่นที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตนใน พ.ศ. นั้น

3.เข้ารับการตรวจคัดเลือก (เกณฑ์ทหาร) ตามวัน และเวลาที่กำหนดในหมายเรียก

4.เข้ารับการเรียกพลทหารกองหนุน เข้ารับฝึกวิชาทหาร ตามที่กำหนด

การตรวจเลือกหรือการเกณฑ์ทหาร

บุคคลซึ่งจะเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้นต้องมีขนาดรอบตัวตั้งแต่เจ็ดสิบหก เซนติเมตรขึ้นไปในเวลาหายใจออก และสูงตั้งแต่หนึ่งเมตรสี่สิบเซนติเมตรขึ้นไป ถ้าขนาดสูงหรือขนาดรอบตัวอย่างใดอย่างหนึ่งต่ำกว่ากำหนดนี้ ให้ถือว่าเป็นคนไม่ได้ขนาดจะส่งเข้ากองประจำการไม่ได้

การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือที่รู้จักกันดีคือการเกณฑ์ทหารนั้น ตามปกติกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ในเดือนเมษายน (วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 11 เมษายนของทุกปี) ดังนั้นทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้วจะต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดในหมายเรียก

ทั้งนี้ โดยนำหลักฐานต่าง ๆ ได้แก่ ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9), หมายเรียก (แบบ สด.35), บัตรประจำตัวประชาชน, ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานทางการศึกษา ไปแสดงด้วย หากทหารกองเกินผู้ใดไม่ไปถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และในวันตรวจเลือกนั้น

ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทุกคน จะได้รับใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ (แบบ สด.43) หรือที่รู้จักกันคือ ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร

บุคคลได้รับการยกเว้นเกณฑ์ทหาร

1.บุคคลที่มีร่างการพิการ ทุพพลภาพ

2.บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ

3.พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ชั้นเปรียญ นักบวชนิกายมหายาน

4.บุคคลที่ได้รับการยกเว้น เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกรับราชการทหารในยามปกติ

5.สามเณร ภิกษุ นักบวชพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ

6.นักบวชศาสนาอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้

7.นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม

8.บุคคลที่ผ่านการเรียนนักศึกษาวิชาทหาร (เรียน รด.) ครบตามหลักสูตรที่กำหนด

9.นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ

10.นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม

11.ครูในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้

ใครฝ่าฝืน ไม่รับหมายเรียก รับบทลงโทษอะไรบ้าง

บุคคลที่อยู่ในกำหนดออกหมายเกณฑ์ให้มาตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ คือ ผู้ที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้แล้ว โดยความผิดผู้ที่ฝ่าฝืนไม่มารับหมายเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 300 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และถ้าฝ่าฝืนไม่ไปรับการตรวจเลือก (ไม่ไปรับการคัดเลือกทหาร) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

ข้อมูล : การเกณฑ์ทหารในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497