เปิดรายละเอียดหลักสูตรควบ 2 ปริญญา จุฬาฯ ทันตแพทย์-วิศวกรรมชีวเวช

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรญณ์มหาวิทยาลัย
ภาพจาก : คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดรายละเอียดหลักสูตรควบข้าม 2 ปริญญา ของ จุฬาฯ ป.ตรี ทันตแพทย์ ป.โท วิศวกรรมชีวเวช ระยะเวลาเรียน 6 ปี รับปีการศึกษาละ 10 คน โครงการมีจุดเด่นอย่างไร ? เรียนจบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ?

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวหลักสูตร 2 ปริญญาข้ามศาสตร์ ระหว่างปริญญาตรีทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ซึ่งใช้เวลาเรียน 6 ปี เรียนจบจะได้ 2 ปริญญา เพื่อหวังผลิตทันตแพทยที่มีคุณภาพ และมีความรู้ด้านวิศวกรรมชีวเวช หรือมีความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เมื่อจบการศึกษา 

ประชาชาติธุรกิจ ได้สรุปรายละเอียดของหลักสูตร 2 ปริญญาข้ามศาสตร์ดังกล่าว ว่ามีจุดเด่นอย่างไร เหมาะกับใคร และต่างจากหลักสูตรเดิมอย่างไร โดยรวบรวมข้อมูลจากคณะทันตแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมชีวแพทย์ ดังนี้

เรียน 2 หลักสูตร รับ 2 ปริญญา

  1. หลักสูตรมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมชีวเวช ให้สามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ ตามความสนใจ และสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม
  2. นิสิตจะได้รับ 2 ปริญญา ได้แก่ ปริญญาตรีทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาที่สั้นที่สุดเพียง 6 ปี
  3. นิสิตสามารถสมัครเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ได้เมื่อเรียนรายวิชาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตครบ 120 หน่วยกิต (จบชั้นปีที่ 3) ทำให้มีเวลาเรียนรู้และวางแผนชีวิตในช่วงชั้นปีก่อนสมัครเรียนปริญญาโท

เหมาะกับใคร ?

หลักสูตรเหมาะกับนิสิตทันตแพทย์ที่มีศักยภาพ และความสนใจด้านวิศวกรรมชีวเวช ต้องการเป็นแพทย์ที่เป็นนักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน

แผนรับนิสิต 10 คนต่อปีการศึกษา

โครงการจะคัดเลือกนิสิตในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ประมาณ 10 คนต่อปีการศึกษา โดยบางส่วนในจำนวนนี้จะมีทุนสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาโทให้นิสิต 

ต่างจากหลักสูตรเดิมอย่างไร ?

ชั้นปีที่ 1-6 นิสิตจะเรียนรายวิชาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกับนิสิตทันตแพทย์คนอื่น สำหรับนิสิตที่สนใจเข้าเรียนหลักสูตรควบข้ามระดับจะมีแผนการศึกษาเพิ่มเติมจากหลักสูตรปกติดังต่อไปนี้

  • ชั้นปี 2-3 นิสิตที่สนใจเข้าร่วมหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช สามารถเริ่มหาหัวข้องานวิจัย และอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย ซึ่งมีคณาจารย์ในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และคณาจารย์หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช เป็นที่ปรึกษาร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช
  • ชั้นปีที่ 4 เมื่อนิสิตมีหน่วยกิตสะสมในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตครบ 120 หน่วยกิต และมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนด จะมีสิทธิสมัครรับการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช แผน ก แบบ ก1 (ทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว 36 หน่วยกิต) ที่ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปีได้
  • ชั้นปีที่ 5-6 นิสิตที่ได้รับคัดเลือกหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช ใช้เวลาเรียนในช่วงเวลาของรายวิชาเฉพาะ (เลือกบังคับ) หรือช่วงเวลาลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต และมีรายวิชาสัมมนาทางวิศวกรรมชีวเวช รวมทั้งการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ และการสอบวิทยานิพนธ์ตามระเบียบของบัณฑิตวิทยาลัย
  • ชั้นปีที่ 6 นิสิตที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาของสองหลักสูตร สามารถได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต พร้อมกับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช

เงื่อนไขสำเร็จการศึกษา

  1. สำเร็จการศึกษาหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
  2. ลงทะเบียนเรียนและมีหน่วยกิตสอบได้ตามที่หลักสูตร
  3. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช กำหนด 36 หน่วยกิต
  4. มีระยะเวลาการศึกษาไม่เกินระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร หรือไม่เกิน 4 ปีการศึกษา
  5. ต้องสอบผ่าน การสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์การสอบวิทยานิพนธ์และปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นของหลักสูตร
  6. ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้รับการเผยแพร่ตามข้อกำหนดของหลักสูตร

ค่าใช้จ่ายในการเรียน

  1. จัดเก็บค่าเล่าเรียนทั้งสองหลักสูตรในอัตราตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องอัตราการเรียกเก็บค่าเล่าเรียน และเงินเรียกเก็บประเภทอื่น ๆ สำหรับนิสิต
  2. โครงการมีทุนการศึกษาระดับปริญญาโทเพื่อสนับสนุนนิสิตที่มีศักยภาพที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรให้ความเห็นชอบ

เรียนจบจากหลักสูตรนี้ไปทำอะไรได้บ้าง ?

  1. เป็นทันตแพทย์ นักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมชีวเวช ที่สร้างสรรค์ผลงานวิชาการองค์ความรู้ วิจัย และนักนวัตกรรม
  2. ศึกษาต่อสาขาทันตแพทย์เฉพาะทาง ทั้งระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (1 ปี) ปริญญาโท (2 ปี) ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง/วุฒิบัตร 3 ปี ปริญญาเอก (3-4 ปี)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง