เงินเดือน-ค่าตอบแทน “ทันตแพทย์” รายได้เท่าไร เรียนที่ไหนได้บ้าง

ทันตแพทย์
ภาพจาก : Pixabay

เปิดรายได้ทันตแพทย์ แต่ละเดือนได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 4-8 หมื่นบาท จบแล้วไม่เป็นหมอ แต่ขายเครื่องมือทันตกรรม รับเฉลี่ย 1-2 แสนบาท/เดือน มหาวิทยาลัย 18 แห่งเปิดหลักสูตรผ่านการรับรองจากทันตแพทยสภา

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันตแพทย์ หรือหมอฟัน เป็นอาชีพทางการแพทย์ ที่ช่วยรักษาเกี่ยวกับสุขภาพภายในช่องปาก ตั้งแต่ฟัน เหงือก กระพุ้งแก้ม และอื่น ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความต้องการตัวสูง และมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง

มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งบางกอกสไมล์ เดนทัล กรุ๊ป รายงานไว้ว่า ค่ารักษาพยาบาลของไทยถูกกว่าในประเทศต่าง ๆ เกือบ 3 เท่า อาทิ สิงคโปร์, จีน, ออสเตรเลีย ฯลฯ โดยเทียบค่าบริการทันตกรรมในต่างประเทศ 1,000,000 บาท สามารถใช้บริการในไทยได้ในราคา 300,000 บาท

ทั้งนี้ ก่อนจะเป็นทันตแพทย์ได้ต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพก่อน ซึ่งเส้นทางสู่อาชีพคือต้องเริ่มจากการเรียนในสายวิทย์-คณิต และเข้าเรียนด้านทันตแพทยศาสตร์ ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ต้องได้รับการรับรองก่อน ผู้เรียนจึงจะมีสิทธิสอบใบประกอบวิชาชีพหลังเรียนจบ

ล่าสุดทันตแพทยสภา ประกาศรายชื่อสถาบันที่หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ที่ผ่านการรับรองปี 2566 ซึ่งการรับรองปริญญา และหลักสูตรสำคัญมาก เพราะผู้ที่จะสมัครสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ จะต้องเรียนจบจากสถาบันที่หลักสูตรผ่านการรับรองเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า หากใครเข้าเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะหมดสิทธิ์สอบใบประกอบวิชาชีพ และจะไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย

สำหรับข้อมูลนี้ได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 18 สถาบัน 20 หลักสูตร บางสถาบันมีหลักสูตรปกติ/นานาชาติ ดังนี้ 

เรียนทันตแพทย์ได้ที่ไหนบ้าง

1.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2566-2572 

2.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  • หลักสูตรปกติ ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2562-2569 
  • หลักสูตรนานาชาติ ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2565-2572 

3.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2565-2572

4.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2562-2569 

5.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2561-2568 

6.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2562-2569 

7.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • หลักสูตรปกติ ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2564-2571
  • หลักสูตรทวิภาษา ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2564-2571

8.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2561-2568

9.วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2572

10.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2566

11.สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2564-2571

12.สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2572

13.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2572

14.วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2567

15.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2567

16.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2566

17.คณะทันตแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2567

18.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

  • ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2568

ทั้งนี้ แต่ละหลักสูตรจะได้รับระยะเวลาการรับรองไม่เหมือนกัน โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรอง 7 ปีคือเป็นหลักสูตรที่ผ่านการรับรองปกติ ส่วนสถาบันที่ได้รับการรับรอง 1 ปี คือได้รับการรับรองแบบมีเงื่อนไข มักจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดหลักสูตร มหาวิทยาลัยจะต้องมีการส่งข้อมูลเพื่อรับรองอย่างต่อเนื่อง 

ทันตแพทย์มี 12 สาขาเฉพาะทาง

ในการเรียนทันตแพทยศาสตร์ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลจะต้องทำงานใช้ทุนคืน เช่นเดียวกับเรียนคณะแพทยศาสตร์ เนื่องจากการเรียนการสอนใช้งบประมาณสูงเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนก็ไม่ต้องใช้ทุน ซึ่งหลังจากใช้ทุนครบ ทันตแพทย์ทุกคนก็สามารถไปทำงานตามคลินิก โรงพยาบาล เปิดคลินิกของตัวเอง หรือเรียนต่อเฉพาะทางตามปกติได้เลย โดยสายงานทันตแพทย์แบ่งออกได้ 12 สาขาเฉพาะทาง ได้แก่

    1. สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
    2. สาขาปริทันตวิทยา
    3. สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก
    4. สาขาทันตกรรมจัดฟัน
    5. สาขาทันตกรรมประดิษฐ์
    6. สาขาทันตสาธารณสุข
    7. สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์
    8. สาขาทันตกรรมหัตถการ
    9. สาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก
    10. สาขาทันตกรรมทั่วไป
    11. สาขาทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า
    12. สาขานิติทันตวิทยา

ปี’66 ทันตแพทย์จบการศึกษา 624 คน

ข้อมูลจากทันตแพทยสภา แต่ละปีมีทันตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมเฉลี่ยที่ 500-600 คน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีจำนวนมากขึ้นโดยปี 2564 อยู่ที่ 806 คน ปี 2565 มี 875 คน ขณะที่ปีล่าสุด 2566 มี 624 คน (ข้อมูลอัพเดทเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566)

เรียนจบทำอาชีพอะไรได้บ้าง ?

จากข้อมูลมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นระบุว่า ถ้าเป็นทันตแพทย์ในโรงพยาบาล อนามัย หรือคลินิกทั้งของรัฐและเอกชนมีเวลาเข้างาน และเลิกงานเหมือนกับงานราชการ ไม่ค่อยมีการทำงานล่วงเวลา ลักษณะการทำงานขึ้นอยู่กับคนไข้ที่เข้ามาทำการรักษา และให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพช่องปากกับคนไข้ งานทันตแพทย์ในโรงพยาบาลจะเจอคนไข้มากกว่าคลินิก

นอกจากนั้นยังสามารถเป็นอาจารย์สอนและวิจัยในคณะทันตแพทยศาสตร์ สอนนักศึกษาทันตแพทย์ให้จบมาเป็นทันตแพทย์ที่มีคุณภาพ แต่การจะมาเป็นอาจารย์สอนได้ต้องจบอย่างน้อยปริญญาโท และต้องทำวิจัยด้วย

หรือจะเป็นผู้จำหน่ายเครื่องมือทันตแพทย์ ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องมือทันตแพทย์ และมีหน้าที่ออกไปพบลูกค้า ให้ข้อมูลที่ตัวเองดูแลกับทันตแพทย์ผู้ใช้เครื่องมือและผลิตภัณฑ์

ทำงานด้านวิจัยในปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและโรคในช่องปาก ค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับโรคและสุขภาพช่องปาก ศึกษา ค้นคว้า เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในประเด็นที่ศึกษา ทำการทดสอบ ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ ให้งอกงามเป็นองค์ความรู้ใหม่

ประกอบอาชีพอิสระในการตั้งคลินิกรักษาหรือโรงพยาบาลเอกชน ถ้าใช้ทุนหมดแล้วสามารถเปิดคลินิกอิสระหรือทำงานในโรงพยาบาลเอกชนได้

เงินเดือน ค่าตอบแทน ทันตแพทย์

มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นระบุอีกว่า ทันตแพทย์ จะมีรายได้อยู่หลายช่องทาง รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 40,000-80,000 บาทหรือมากกว่าเมื่อเรียนต่อเฉพาะทาง รายละเอียดดังนี้

  • ฐานเงินเดือน ในโรงพยาบาลรัฐประมาณ 18,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนประมาณ 22,000 บาทขึ้นไป 
  • ค่าใบประกอบวิชาชีพ 5,000 บาท หมายความว่า ทุกคนที่มีใบประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ จะได้รับเงินเพิ่มอีก 5,000 บาท แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่สามารถทำงานได้
  • ค่าเบี้ยเลี้ยง กรณีประจำในพื้นที่ที่ทุรกันดารมากก็จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยง เริ่มที่ 10,000-20,000 บาท ยิ่งทุรกันดารมาก ก็จะได้เพิ่มมากขึ้น
  • ค่าไม่ทำเวชปฏิบัติ ในระหว่างที่ทำการใช้ทุน ถ้าไม่ได้ไปทำงานให้กับคลินิกเอกชนจะได้เงิน 10,000 บาท 
  • ค่าทำงานล่วงเวลา ในบางกรณี หากต้องรับเคสคนไข้เพิ่ม หรือมีเคสคนไข้ฉุกเฉินเข้ามา จะได้รับเงินเพิ่ม วันละ 500 บาทขึ้นไป

หากทำคลินิก ค่าตอบแทนคิดเป็น 50% ของการรักษา ถ้าเป็นผู้ขายเครื่องมือทันตแพทย์ เงินเดือนทั่วไปประมาณ 15,000-25,000 บาท สามารถเบิกค่าน้ำมันได้ทั้งหมด ทั้งนี้ยังมีค่าคอมมิชชั่นประมาณ 100,000-200,000 บาท (ตามยอดขาย มีทั้งรายบุคคล เป็นทีม)

อย่างไรก็ตามยอดรายได้ต่าง ๆ เป็นการประมาณการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระบบโครงสร้างแต่ละองค์กร