ยางทำนิวไฮทะลุ 63 บาท/กก. ชาวสวนจับตาราคาติดจรวด

ราคายางพาราในประเทศพุ่งรับปีมังกร แค่ 5 วัน ยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ประมูลในตลาดกลางสงขลาขยับขึ้นมา 5 บาทกว่า/กก. หรือราคายางยืนอยู่เหนือ 63 บาท/กก. ดันราคาน้ำยางขึ้นมา 60 บาทเช่นกัน ชาวสวนหวั่นราคาขึ้นเร็ว ต้องจับจังหวะซื้อขายยางล่วงหน้าให้ดี ส่วน “เพิก เลิศวังพง” ยืนยันราคายางกำลังปรับฐาน ผลปราบยางเถื่อน ดันโครงการล้อยาง “Thai Tyre” ไปตลาดโลก

ราคายางพาราในประเทศได้ขยับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ กก.ละ 55.02 บาท (ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา) ในวันที่ 19 ธันวาคม 2566 มาถึงวันนี้ (16 มกราคม 2567) ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ได้ขยับขึ้นมาถึง กก.ละ 63.09 บาท หรือราคาปรับขึ้นมาถึง 8 บาท/กก.ในช่วงเวลาแค่เดือนเดียว

สอดคล้องกับราคาน้ำยางสด ณ โรงงานก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยขณะนี้ราคาน้ำยางอยู่ที่ กก.ละ 60 บาท (บ.ศรีตรัง กก.ละ 59 บาท-ไทยรับเบอร์ 58 บาท-เซาท์แลนด์ 56 บาท) ส่วนราคา FOB RSS3 (Bangkok) อยู่ที่ 68.59 เหรียญ หรือปรับขึ้นมาจากช่วงวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ 60.52 เหรียญ

ย้อนหลังไป 5 วันที่ผ่านมาจะพบว่า ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ กล่าวคือ ในช่วงระยะเวลาเพียง 5 วัน (10 ม.ค.-16 ม.ค. 2567) ราคายางแผ่นขยับขึ้นมาถึง 5.74 บาท/กก.หรือเกือบ 6 บาท ท่ามกลางการจับจ้องของชาวสวนยางทั่วประเทศที่ว่า ราคายางจะพุ่งขึ้นไปถึงกี่บาท

จากปรากฏการณ์ที่ราคายางเคยขึ้นเร็วลงเร็วหรือลงมาวันละกว่า 5 บาท/กก.ก็เคยมีมาแล้ว ในขณะที่ชาวสวนยางพาราบางส่วนก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นการปั่นราคาของพ่อค้ายาง เพื่อให้เกษตรกรขายสต๊อกยางออกมาในช่วงผลผลิตยางลดลงก็ได้

เพิก เลิศวังพง
เพิก เลิศวังพง

วันเดียวน้ำยางพุ่ง 3 บาท

นายเพิก เลิศวังพง ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากติดตามสถานการณ์ยางพาราเฉพาะเมื่อวานนี้ (15 มกราคม 2567) วันเดียว ราคาน้ำยางในประเทศขยับขึ้นไป 2.60-3.00 บาทต่อ กก. จนถึงขณะนี้ทะลุ 60 บาทไปแล้ว ในส่วนนี้เป็นผลจากการปฏิบัติการหลายส่วนที่ได้เดินหน้าทั้งระบบหลังบ้าน-หน้าบ้าน

เริ่มจากการจับ “ยางเถื่อน” ซึ่งมีการดำเนินการอย่างจริงจังโดยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่ได้ประกาศสงครามกับยางเถื่อนไปก่อนหน้า และเมื่อยางเถื่อนไม่เข้ามาทำลายกลไกตลาดในประเทศ ราคายางพาราก็จะไม่ลดลง

ส่วนด้านหน้าบ้านก็มีการเดินสายเจรจากับผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยได้พบกับสมาคมยางพาราไทย เพื่อขอความร่วมมือในการรับซื้อยาง เพราะระบบของยางยังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากโรงงานใหญ่เพิ่มการรับซื้อก็จะมีผลทำให้ราคายางขยับขึ้นด้วย

“ระดับราคายางที่ปรับขึ้นตอนนี้ ผมว่าไม่ใช่ช่วงสั้นแน่นอน แต่เรากำลังปรับฐานลากยาว เป้าหมายของผมเราไม่ได้พูดตัวเลขราคา 60 บาท แต่เรามุ่งดูแลเรื่องความเป็นธรรม จากเดิมที่ไม่เคยมี แต่ต่อไปต้องมี อย่างน้อยราคายางต้องไม่ต่ำกว่านี้ เป้าหมายผมจริง ๆ ต้องการเห็นราคายางพาราในเลข 3 หลัก แต่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

แต่ทุกคนรับรู้แล้วว่า ศักยภาพยางไทยไปได้ในโลกนี้ ดังนั้นสิ่งที่ผมจะทำก็คือ การกำหนดราคายางเอง ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้ในตลาดโลกเริ่มหันมามองเราแล้ว จากเดิมที่เราต้องมองเขา จากสิ่งที่เราทำในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทุกอย่างมีผลหมด ทั้งปัจจัยภายใน การดำเนินการภายในของเราเอง และปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องโรงงานยางพาราที่จีนไฟไหม้” นายเพิกกล่าว

ขายโครงการยางล้อ Thai Tyre

นอกจากนี้เรายังพยายามคอนโทรลปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาด โดยใช้กลไกการบริหารจัดการ ตอนนี้เราเริ่มคอนโทรลได้บางส่วนแล้ว ทั้งจากเรื่องการทำโฉนดไม้ การทำตลาด 500 ตลาด และการทำโรงงานยางล้อ โครงการยาง Thai Tyre เปรียบเสมือนแก้มลิงที่จะดึงยางออกไป ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณทำให้ผู้ซื้อเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ สามารถทำได้จริง ๆ จากเดิมที่มองว่า “ไทยไม่สามารถทำได้”

“การคอนโทรลปริมาณยาง หมายถึง จะปล่อยผลผลิตยางออกสู่ตลาดเท่าไร เราสามารถทำได้ จากการที่เรามุ่งไปส่งเสริมการสร้างผลผลิตยาง โดยเฉพาะการทำโรงงานยางล้อ โดยการจ้าง OEM โรงงานยางล้อในจีน ซึ่งทำให้เราสามารถดึงผลผลิตยางออกจากตลาด 400,000 ตันต่อปีหรือคิดเป็น 10% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด 4 ล้านตัน

ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับราคาแบบที่ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดอย่างที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ไม่ต้องพูดถึง เพราะที่ผ่านมาทำแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ราคาขยับสูงขึ้น ทางเราจึงไม่ทำประกันรายได้” นายเพิกกล่าว

สำหรับโรงงานยางล้อ จะเป็นการจ้างผลิต OEM โดยที่ไม่ได้มีการลงทุนตั้งโรงงานเอง ขณะนี้ได้หารือกับโรงงานที่มีอยู่แล้ว ทั้งจีนและไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้มารับจ้างผลิตยางล้อให้ ส่วนเราทำหน้าที่คุมเรื่องมาตรฐานอย่างเดียว ซึ่งพอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Thai Tyre” กำลังจดเครื่องหมายการค้า จากนั้นจะไปขึ้นรูปแม่พิมพ์เพื่อดำเนินการผลิตต่อไป

“โครงการ Thai Tyre จะดึงผลผลิตยางมาได้ 400,000 ตัน/ปี สำหรับราคาที่ยกระดับขึ้นทำได้ทะลุ 60 บาทไปแล้ว มีผู้รับซื้อทั้ง 61-62 บาทลดหลั่นกันไป ชาวสวนก็อยู่ได้ เพราะราคายางดีขึ้นพอสมควร และมาตรฐานที่เราทำ เราก็ยังส่งสัญญาณไปถึงโรงงานว่า วัตถุดิบที่จะส่งออกไปขึ้นอยู่กับเราด้วย เพราะเราวางบทบาทว่าเราจะเป็นผู้เล่นที่สามารถผลิตวัตถุดิบได้ดีที่สุด” นายเพิกกล่าว

สำหรับการปรับฐานราคายางพาราที่จะขยับขึ้นนี้ จากที่ดูในส่วนของโครงสร้างราคา ผู้ที่ทำหน้าที่จ่ายค่ายางคือ ผู้ใช้ยาง ซึ่งเดิมกระบวนการผลิตยางล้อ มีขั้นตอนคือ เกษตรกรขายให้โรงงาน แล้วโรงงานก็นำไปขายโรงงานยางล้อ ส่วนต่างขั้นแรก 10% ส่วนต่างของโรงงานคนกลางที่ได้ 10-20%

ส่วนปลายทางอาจจะได้กำไรจากผู้บริโภค 50% แต่สิ่งที่เราพยายามดำเนินการคือ ขอให้ปลายทางพยายามเกลี่ยกำไร 50% คืนกลับมาทางต้นน้ำบ้าง ซึ่งการที่เราจะขยับราคายางขึ้นไปสู่เลข 3 หลัก ผู้ประกอบการเพียงแค่ลดกำไรลง

“การดำเนินการเรื่องนี้สามารถช่วยบรรเทาลดปัญหาราคายางที่ปกติมักจะปรับราคาลดลงในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตลาดก็จะรับรู้ว่าจีนจะหยุดซื้อยางก่อนตรุษจีน 10 วัน ผู้ประกอบการก็จะนำมาเป็นข้ออ้างในการลดราคารับซื้อยางจากเกษตรกร ทั้งที่ในความเป็นจริงช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไม่มีการซื้อขายและส่งมอบยางอยู่แล้ว เพราะเขาทำสัญญาล่วงหน้า ทำให้ปีนี้ไม่มีเรื่องราคายางลดลงแน่นอน” นายเพิกกล่าว

ราคาพุ่งรับสารพัดข่าวในประเทศ

มีการตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางถึงราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วว่า เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่มีข่าวออกมาว่า โรงงานยางจีน ในเขตการค้าเสรีฉินหวงเต่า เมืองชิงเต่า เกิดไฟไหม้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับผลิตภัณฑ์ยางในโกดังประมาณ 9,600 ตัน

โดยข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2567 ราคายางก็ขยับขึ้นมาจาก 57 บาทเป็น 58 บาท/กก.ทันที พอมาวันที่ 12 ม.ค. ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ประมูลกันในตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ก็ไต่ขึ้นมายืนเหนือระดับ 60 บาท/กก.เป็นครั้งแรก และราคาก็ขยับขึ้นมาวันละ 1 บาทกว่า จนถึงวันนี้ที่ราคา 63.09 บาท/กก.

“มีความพยายามออกข่าวกันว่า ที่ราคายางขยับขึ้นเป็นเพราะเรามีการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางแผ่นดิบจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างได้ผล ในส่วนนี้เห็นว่า จะเข้มงวดหรือไม่เข้มงวด ยางจากประเทศเพื่อนบ้านก็ทะลักเข้าสู่ไทยตามแนวชายแดนเป็นปกติอยู่แล้ว

เพราะเขาไม่มีตลาดขาย ค่าแรงกรีดยางต่ำกว่าไทย ตลาดยางในไทยก็รับรู้แล้วว่า ทุกปีจะมียางจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาเท่าไหร่ตามการคาดการณ์ พท.ปลูกยาง มันไม่ได้ทำให้ไปกดราคายางภายในประเทศมากมายเท่าไหร่นัก

ตอนนี้ที่ยางราคาขึ้นผิดปกติ อาจเป็นช่วงผลผลิตยางเข้าสู่ตลาดน้อย ในภาคอีสานหยุดกรีดยางไปแล้ว ส่วนที่ภาคใต้ก็เกิดโรคยาง ทำให้ยางเข้าสู่ตลาดน้อย ตอนนี้สหกรณ์การเกษตร-สถาบันเกษตรกรที่จะขายยางต้องติดตามสถานการณ์ในตลาดยางอย่างใกล้ชิด เพราะราคายางขึ้นเร็วลงเร็วในชั่วเวลาแค่ข้ามคืน”