ดึงผู้ค้า-โรงกลั่นสำรองน้ำมัน ชงสูตรใหม่ลุ้นลดราคาหน้าปั๊ม

ภาพ Pixabay

ผ่าแผนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ใหม่ “strategic oil reserve” รัฐสำรองลดลง ดึงผู้ค้า-โรงกลั่นสำรองเพิ่มขึ้น รื้อสูตรราคาตั้งแต่หน้าโรงกลั่น ตัดค่าพรีเมี่ยม ฝุ่นตลบพ่อค้ารุมค้าน ผู้บริโภคลุ้นจ่ายราคาหน้าปั๊มลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจน้ำมันถึงเวลาที่จะต้องปรับแก้ไขโครงสร้างราคาใหม่ ให้สะท้อนความเป็นจริงและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยจะมีการรื้อต้นทุนโรงกลั่น และตัดค่าพรีเมี่ยมออกไปจากโครงสร้างราคา ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างปรับปรุง 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันคือ 1.การปรับสูตรคำนวณราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ที่ดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ 2.การปรับสำรองน้ำมันดิบของโรงกลั่นน้ำมัน และปรับสำรองน้ำมันสำเร็จรูปของผู้ค้ามาตรา 7 ที่ดำเนินการโดยกรมธุรกิจพลังงาน

สำหรับโครงสร้างราคาใหม่ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ สนพ.ไปศึกษารายละเอียด และนำกลับมาพิจารณาในการประชุม กบง.ครั้งต่อไปในวันที่ 20 เมษายน 2561 มีสาระสำคัญของการปรับสูตรคำนวณโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น โดย สนพ.ได้นำเสนอให้ตัดออกจากสูตรโครงสร้างราคาน้ำมันคือ “ค่าพรีเมี่ยม” และให้ใช้สูตรราคาใหม่ที่อ้างอิงราคาตลาดโลกแทน เพื่อให้สะท้อนไปยังราคาขายปลีกน้ำมันที่ควร “ปรับลดลง” เพื่อลดภาระผู้บริโภค เนื่องจากขณะนี้การแข่งขันในตลาดน้ำมันมีการแข่งขันสูงมาก จึงควรปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะสมมากขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันระบุว่า ในช่วงหลายรัฐบาลที่ผ่านมามีการผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการรื้อสูตรคำนวณต้นทุนน้ำมันของโรงกลั่น แต่การจะล้วงลึกเข้าไปถึงต้นทุนโรงกลั่นค่อนข้างยากและมีความซับซ้อน และโรงกลั่นมักจะกล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลทางธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

อดีตผู้บริหารระดับสูงในแวดวงโรงกลั่นน้ำมันอย่าง นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ระบุว่า การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นนั้นประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง อีกทั้งสูตรคำนวณราคาที่ใช้ในปัจจุบันมีการใช้มาค่อนข้างนานแล้ว จึงควรปรับให้เหมาะสม เช่น ราคาน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันอิงกับราคาประกาศน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์ (MOP หรือ Mean Of Platt) ที่มีค่าปรับคุณภาพกำมะถัน 500 PPM และมีค่าปรับคุณภาพกำมะถันให้เป็น 50 PPM ตามมาตรฐานไทย ควรจะปรับลดลงได้ ในระดับ 20-30 สตางค์/ลิตร

จ่อปรับสำรองโรงกลั่น-ผู้ค้า

ส่วนในประเด็นการปรับการสำรองน้ำมันตามกฎหมาย กรมธุรกิจพลังงานได้วางกรอบไว้ว่า การสำรองน้ำมันทั้ง 2 ส่วนคือ การสำรองน้ำมันดิบโดยโรงกลั่นน้ำมันและการสำรองน้ำมันสำเร็จรูปของผู้ค้าน้ำมันเมื่อรวมกันแล้วจะต้องอยู่ในระดับร้อยละ 7 เหมือนเดิม ซึ่งในการหารือร่วมกันระหว่างกรมธุรกิจพลังงาน โรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน

โดยนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ระบุว่า ตามหลักการเบื้องต้นต้องการให้ภาพรวมสำรองน้ำมันของประเทศควรอยู่ที่ร้อยละ 7 จากเดิมที่ต้องมีสำรองน้ำมันที่ร้อยละ 6 ให้ปรับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5 ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันควรปรับเพิ่มสำรองจากเดิมที่ร้อยละ 1 ให้มาอยู่ที่ร้อยละ 2

นายวิฑูรย์กล่าวเสริมอีกว่า เหตุผลที่ต้องการให้ปรับปริมาณสำรองน้ำมันนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อ “ลดข้อจำกัด” ด้านถังเก็บน้ำมันของโรงกลั่น เพื่อให้สามารถบริหารการนำเข้าน้ำมันให้ได้ราคาที่ถูกลงด้วย เช่น การนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออก หรือจากแหล่งอื่น เพราะปัจจุบันการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยมาจากตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 50 เฉพาะแค่นำเข้าจากตะวันออกกลางก็เต็มศักยภาพของถังเก็บน้ำมันแล้ว ซึ่งหากลดปริมาณสำรองลง จะทำให้โรงกลั่นจะมีพื้นที่ถังเก็บมากพอที่จะบริการน้ำมันนำเข้าได้ดีขึ้น นั่นหมายถึงว่าราคาน้ำมันในประเทศจะปรับลดลงตามไปด้วย

เพิ่มสำรอง “พิเศษ”

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การหารือร่วมกับกรมธุรกิจพลังงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกเหนือจากจะมีการหารือเพื่อปรับปริมาณสำรองน้ำมันตามกฎหมายแล้ว ยังได้หารือในประเด็นการ “สำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์” (strategic oil reserve) เพิ่มเติมด้วย โดยกรมธุรกิจฯได้หารือว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพิ่มเติม ตามศักยภาพของแต่ละราย ซึ่งกลุ่มโรงกลั่นได้คัดค้านสุดตัว เนื่องจากการสำรองน้ำมันดังกล่าวถือเป็นเรื่องของความมั่นคง และควรดำเนินการโดยภาครัฐมากกว่า และจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอีกด้วย

“ไม่ควรนำประเด็นการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์มาหารือในเวลานี้ และควรแยกออกจากการปรับสำรองน้ำมันทางกฎหมายด้วย มันคือคนละเรื่องกัน อีกทั้งเมื่อดูสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้ถือว่าซัพพลายมากกว่าดีมานด์ด้วยซ้ำ เท่ากับว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบความมั่นคงทางพลังงาน จนต้องเร่งรีบ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ภาครัฐควรเป็นผู้ดำเนินการมากกว่า โดยอาจจะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือเข้ามาลงทุน