กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 142 ปี เสด็จเตี่ย พระบิดาแห่งกองทัพเรือ

กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 142 ปี เสด็จเตี่ย พระบิดาแห่งกองทัพเรือ
ภาพจากเว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม

วันที่ 19 ธันวาคม 2423 เป็นวันประสูติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือที่นักเรียนนายเรือเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย”

นอกจาก “เสด็จเตี่ย” แล้ว พระองค์ยังได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” ก่อนจะมีการแก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

ในโอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมประวัติและเรื่องราวอันเป็นที่จดจำของ “เสด็จเตี่ย” ซึ่งเป็นที่รักและเคารพของทั้งเหล่าทหารเรือและคนไทยจำนวนมาก

พระประสูติกาล

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2423

พระองค์ทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และต่อมาได้แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก

บทความเรื่อง 19 พฤษภาคม: วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ “กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เล่าถึงกรณีที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” โดย พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า “อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้”

เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรามราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2460 จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”

กองทัพเรือ

ปัจจุบันกองทัพเรือไทยได้วิวัฒน์พัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นกองทัพเรือชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศักยภาพของกองทัพเรือไทยเกิดมีขึ้นมาได้ก็ด้วยพระปรีชาและสายพระเนตรอันกว้างไกล ในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ข้อมูลจากกองทัพเรือระบุว่า เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาวิชาการทางด้านทหารเรือจากประเทศอังกฤษ และเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ทรงได้เข้ารับราชการทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโทผู้บังคับการ” ในวันที่ 23 มิถุนายน ปี 2443 นับแต่เมื่อพระองค์เข้ารับราชการพระองค์ทรงริเริ่มและพัฒนากิจการต่าง ๆ ในกองทัพเรือมาตามลำดับ อาทิ

  • ทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณธงสองมือและโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพล “อาณัติสัญญา” (ทัศนสัญญาณ)
  • ทรงจัดตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระ
  • ทรงจัดระเบียบการบริหารราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่
  • ทรงจัดทำโครงการสร้างกำลังทางเรือ
  • ทรงจัดทำโครงการศึกษาสำหรับนายทหารสัญญาบัตร
  • ทรงนำนักเรียนนายเรือไปฝึกภาคต่างประเทศเป็นครั้งแรก

กิจการทั้งหลายทั้งปวงที่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงริเริ่มทรงดำเนินการไว้เป็นแนวทาง เปรียบเสมือนรากแก้วที่หยั่งรากลึกลงส่งผลให้กองทัพเรือ มีการวิวัฒน์พัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อเนื่องมาโดยลำดับ ยังผลให้ราชนาวีไทยยังคงดำรงไว้ซึ่งศักยภาพ แสนยานุภาพ ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และนำเกียรติยศ ความภาคภูมิใจมาสู่กำลังพลกองทัพเรือไทยตราบถึงปัจจุบัน

พระอุปนิสัย-พระจริยวัตรของ “กรมหลวงชุมพรฯ”

บทความเรื่อง พระอุปนิสัย-พระจริยวัตรของ “กรมหลวงชุมพรฯ” ที่คนเคารพนับถือ และแง่ความศักดิ์สิทธิ์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เล่าว่า พระอุปนิสัยซึ่งมีพระเมตตาต่อผู้คนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงสามารถผูกใจนักเรียนที่มีนิสัยนักเลงได้ด้วยความเป็นนักเลงที่เหนือกว่า กล่าวคือ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีฐานันดรศักดิ์และความรู้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อประกอบเข้ากับการดำเนินพระจริยวัตรในทางที่นักเลงสมัยนั้นนิยมกัน เช่น เก่งฉกาจในวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวทุกรูปแบบ

มีคาถาวิทยาคมเพราะทรงมอบพระองค์เป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ผู้คนสมัยนั้นเชื่อและนับถือว่าเป็นพระอาจารย์ด้านเวทมนตร์คาถา จนเป็นที่ร่ำลือว่า ทรงอยู่ยงคงกระพัน สามารถหายตัวได้ จนทรงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เหล่าลูกศิษย์รู้สึกว่าพระองค์ทรงสามารถเป็นที่พึ่งได้ คือทรงมีทั้งพระบารมี มีทั้งความเป็นนักสู้และนักเลงที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง

พระจริยวัตรสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความไม่ถือพระองค์ ทรงแสดงให้ทุกคนประจักษ์และซาบซึ้งในพระคุณสมบัติส่วนนี้ตลอดพระชนมชีพ ดังที่มีเรื่องเล่าลือสืบมาว่า ทรงรักและเอาพระทัยใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในเวลาและนอกเวลางาน เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเวลาค่ำขณะประทับพักผ่อนที่วังนางเลิ้ง มีผู้วิ่งมาทูลว่า ทหารเรือชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกรุมต่อยตีจากคู่ต่อสู้ที่ตลาดนางเลิ้ง

เมื่อทรงรู้ข่าวก็เร่งเสด็จไปสถานที่เกิดเหตุทันที ทรงช่วยทหารเรือผู้นั้นให้รอดจากการถูกคู่วิวาทฟันด้วยการเอาพระองค์เข้ารับคมดาบโดยไม่เป็นอันตราย หรือโปรดเสด็จไปสู่ขอผู้หญิงให้ลูกศิษย์ด้วยพระองค์เองในฐานะพระอาจารย์ มิใช่ในฐานะเจ้า หรือโปรดให้ตั้งฌาปนกิจสถานสำหรับทหารเรือขึ้นเพื่อช่วยในการฌาปนกิจศพทหารเรือทุกระดับชั้นอย่างสมเกียรติยศ เป็นต้น

ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ

บทความจากศิลปวัฒนธรรมระบุถึงการออกราชการของกรมหลวงชุมพรในปี 2454 โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวถึงพระสุขภาพของพระองค์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมหลวงชุมพรฯ เป็นผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออยู่ได้เพียง 1 ปี ว่า

“…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2460 จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…” ตามคำสั่งกองทัพเรือที่ลงพระนามโดย พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

ซึ่งในกรณีที่กรมหลวงชุมพรทรงออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุนเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 นั้น คุณศรัณย์ ทองปาน นักเขียนผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สังคมวัฒนธรรมไทย กลับมีความเห็นต่างออกไป โดยเห็นว่า

“…ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงพิโรธดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

‘…ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนามของทหาร… สมควรจะลงโทษให้เป็นตัวอย่าง…’

ประกอบมีข่าวลือว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์กับกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กำลังวางแผนก่อกบฏ ชิงราชสมบัติ โดยแม้ว่าพระองค์ทรงออกจากราชการแล้ว ทางการก็ยังให้ตำรวจท้องที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของพระองค์…”

บทความเดียวกันนี้ยังเล่าถึงการที่กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการอีกครั้ง ระบุว่า หลังจากพระองค์กลับมารับราชการอีกครั้ง เมื่อปี 2460 ต่อมาพระองค์ทรงออกจากราชการอีกครั้งเมื่อปี 2466 แต่คราวนี้ทรงลาออกเองโดยสมัครใจ ซึ่ง คุณอัจฉรา ทองรอด ได้เขียนเกี่ยวกับกรณีนี้ในหนังสือ “ทหารเรือ หมอยา คาถา ศิลปิน” ความว่า

“…พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงทหาร ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2466 แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันทรงกราบบังคมลาราชการออกไปเพื่อรักษาพระองค์จากพระอาการประชวร”

ส่วน คุณศรัณย์ ทองปาน เขียนไว้ว่า “เสด็จในกรมฯ ได้กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ เนื่องจากทรงประชวรพระโรคภายใน…”

พระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่ด้านใต้ปากน้ำเมืองชุมพร อันเป็นที่ที่ทรงจองไว้จะทำสวน ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ชุมพร ประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่เนื่องจากถูกฝน ประชวรอยู่เพียง 3 วันก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ ตำบลหาดทรายรี สิริพระชันษาได้ 44 ปี

สิ้นพระชนม์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์กรณีสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ ในพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ปรากฏในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพของกรมหลวงชุมพรฯ ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ดังนี้

“…แต่เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ได้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือนั้น เป็นพระโรคภายในประชวรเสาะแสะอยู่แล้ว พอทรงรับตำแหน่งแล้วก็กราบบังคมลาออกไปเปลี่ยนอากาศที่ชายทเล ข้างใต้ปากน้ำเมืองชุมพร ณ ที่ซึ่งได้ทรงจองไว้หมายจะทำสวน ผเอิญไปถูกฝน เกิดเป็นโรคหวัดใหญ่ ประชวรอยู่เพียง 3 วัน ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปีกุญ พ.ศ. 2466 ประมวลพระชันษาได้ 44 ปี”