ซื้อเครื่องสำอางปลอดภัย...ให้ดูที่ฉลาก

หน้าหลัก » บทความสุขภาพ » Knowledge » ซื้อเครื่องสำอางปลอดภัย...ให้ดูที่ฉลาก

ซื้อเครื่องสำอางปลอดภัย...ให้ดูที่ฉลาก

 

ปัจจุบันเครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสะอาด และความสวยงาม นำไปสู่สุขอนามัยที่ดี และสุขภาพจิตที่ดีดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จักเครื่องสำอางให้มากขึ้นก่อนจะตัดสินใจซื้อ
 
นิยามความหมายของ “เครื่องสำอาง”ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 กำหนดไว้ว่า
 
     (1) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือ กระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่าง กายเพื่อความสะอาดความสวยงาม หรือ ส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นผิวต่างๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับ และเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
 
      (2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ
 
      (3) วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง
 
      ทั้งหมดนี้ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะกับผิวกายภายนอกเท่านั้น เช่น ผิวหนัง ริมฝีปาก เส้นผม เล็บ ใช้เพื่อ ทำความสะอาดในชีวิต ประจำวัน เช่นขจัดคราบเหงื่อไคล สิ่งสกปรกที่ผิวกาย และเส้นผม ใช้เพื่อระงับกลิ่นกาย แต่งกลิ่นหอมใช้เพื่อปกป้อง หรือ ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีปรับแต่งให้ดูดีโดยที่ไม่สามารถไปมีผลต่อโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายมนุษย์ และไม่มีคุณสมบัติที่จะสามารถบำบัดบรรเทารักษาโรคใดๆ ได้
 
      ปัจจุบันพบว่า ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ซื้อเครื่องสำอางโดยละเลยไม่ได้ให้ความสนใจที่จะอ่านข้อความในฉลากเครื่องสำอางก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วฉลากเครื่องสำอางเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอาง เนื่องจากรายละเอียดบนฉลากจะสามารถบอกได้ถึงคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกซื้อเครื่องสำอางได้อย่างตรงใจ ปลอดภัย และคุ้มค่าต่อเงินที่จะจ่ายไปด้วย
 

 

     ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าเพื่อซื้อเครื่องสำอางแต่ละตัว สาวๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า บนฉลากมีข้อความดังต่อไปนี้หรือไม่
 
 
     1. ชื่อเครื่องสำอาง และชื่อทางการค้าในส่วนนี้ผู้ขายมักจะให้ความสำคัญอยู่แล้ว การแสดงชื่อเครื่องสำอางบนฉลากจึงมีความชัดเจนโดดเด่นอย่างมาก แต่จะมีข้อควรระวังอยู่บ้างก็คือ เครื่องสำอางมักจะมีความหลากหลายในชื่อรุ่นเฉดสี หรือ กลิ่นโดยผู้บริโภคต้องพิจารณาชื่อผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนซื้อ
 
     2. ประเภท หรือ ชนิดของเครื่องสำอาง เช่น ครีมป้องกันแสงแดด สบู่ ครีมบำรุงผิว แชมพูสระผม เป็นต้นเพื่อแสดงให้ทราบว่า เครื่องสำอางนี้เป็นผลิตภัณฑ์อะไร ใช้เพื่ออะไร
 
     3. ส่วนประกอบสำคัญ (ชื่อสารทุกชนิดที่เป็นส่วนผสม)ข้อมูลนี้จะมีประโยชน์มากหากเราใช้เครื่องสำอางแล้วเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง จะได้จดจำไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวว่าแพ้สารประเภทใดหรือ ถ้าทราบว่ามีประวัติแพ้สารใดมาก่อน ก็สามารถตรวจสอบรายละเอียดของส่วนประกอบในเครื่องสำอางก่อนซื้อ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงสารเคมีที่แพ้ได้ง่ายขึ้น
 
     4. วิธีใช้ เมื่อซื้อเครื่องสำอางมาแล้ว ต้องศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียด เพื่อที่จะได้เกิด ประโยชน์อย่า งคุ้มค่า และปลอดภัย เช่นควรมี กันแดดควรทาก่อนออกแดดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพในการใช้ หรือ ครีมบำรุงผิวหน้าบางชนิดต้องใช้ทาเฉพาะกลางคืน เพื่อมิให้ผิวหนังบริเวณนั้นถูกแสงแดดเพราะแสงแดดอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ดังนั้นถ้าไม่ศึกษาวิธีใช้ให้ดี ทาครีมดังกล่าวตามความพอใจ ทาตอนกลางวันแล้วออกไปโดนแสงแดด แทนที่จะเกิดผลดีกลับกลายเป็นผลร้าย เพียงเพราะใช้ไม่ถูกวิธีนั่นเอง เครื่องสำอางบางชนิดใช้แล้วต้องล้างออกด้วยน้ำ บางชนิดไม่ต้องล้าง ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 
     5. คำเตือน (ในบางกรณี) เครื่องสำอางบางประเภทจะต้องแสดงคำเตือนที่ฉลากด้วยเนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ง่าย เช่น ผลิตภัณฑ์ย้อมผม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงข้อควรระวังในการใช้เครื่องสำอางนั้นๆ เช่น ให้หยุดใช้เมื่อเกิดอาการระคายเคือง และควรพบแพทย์ทันที ดังนั้นอย่าลืมศึกษาคำเตือนให้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
 
     6. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ในส่วนนี้จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบของเจ้าของผลิตภัณฑ์หากผู้บริโภคเกิดปัญหาใดๆ ก็สามารถติดต่อไปยังผู้รับผิดชอบได้ทั้งในกรณีเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ
 
      7. ปริมาณสุทธิ ในส่วนนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบระหว่างเครื่องสำอางในประเภทเดียวกันได้ว่า ปริมาณและราคาของเครื่องสำอางนั้นแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้เลือกซื้อเครื่องสำอางอย่างคุ้มค่า สมราคา
 
      8. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต การแจ้งครั้งที่ผลิตจะทำให้ทราบถึงรุ่นที่ทำการผลิต เช่น ในกรณีที่ต้องอ้างอิงสินค้าที่เกิดปัญหาขึ้น
 
      9. วันเดือนปีที่ผลิต การแจ้งวันเดือนปีที่ผลิตจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างยิ่งเพราะจะทำให้ทราบถึงอายุของผลิตภัณฑ์ ณ วันที่ซื้อว่าผลิตมานานแค่ไหน
 
      10. วันเดือนปีที่หมดอายุ การแจ้งวันเดือนปีที่หมดอายุจะทำให้ทราบถึงอายุของผลิตภัณฑ์ เช่นกัน แต่กฎหมายให้ระบุวันเดือนปีวันหมดอายุ เฉพาะเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือนเท่านั้น
 
      11. เลขที่ใบรับแจ้งเป็นเลข 10 หลัก บนฉลากเครื่องสำอาง เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นได้มาแจ้งรายละเอียดตามข้อกำหนดการผลิตเพื่อขาย หรือ นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอาง กับสำนักงานคณะกรรมการ หรือ อย. เรียบร้อยแล้ว เช่น 10-1-5401422 เป็นต้นโดยสามารถใช้เลข 10 หลักในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้

     นอกจากข้อความที่ต้องแสดงไว้บนฉลาก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีข้อความที่นอกเหนือจากที่แสดงบนฉลาก ซึ่งจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 30(1) คือ ต้องใช้ข้อความที่ตรงต่อความเป็นจริง และไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
 
      ถึงแม้ว่าเครื่องสำอางจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายภายนอกและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายค่อนข้างน้อยกว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆเช่น ยา อาหาร เป็นต้น แต่เครื่องสำอางส่วนใหญ่ผลิตจากเคมีภัณฑ์นานาชนิด บางตัวมีการลักลอบใช้เคมีภัณฑ์หรือสารที่ อย. กำหนดห้ามใช้รวมไปถึงกระบวนการกรรมวิธีการผลิตที่ไม่เหมาะสม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ และถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานคือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้กำกับดูแลอยู่ก็ตาม ผู้บริโภคก็ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อเลือกใช้เครื่องสำอางด้วยตัวเอง โดยจะต้องดูฉลากเครื่องสำอางก่อนซื้อ ฉลากต้องเป็นภาษาไทย บนฉลากมีข้อความที่แสดงอย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อประโยชน์แก่ตัวคุณเอง
 
 
ขอขอบคุณ นิตยาสารเพื่อนแพนฉบับที่ Vol.30 No.188 ISSUE 1/2556 
Special Scoop : 18A - 19A

จำนวนเข้าชม 16137 ครั้ง | หมวด Knowledge | บทความโดย : Call Center | เมื่อ : 18 มีนาคม 2558, 11:36:19

Health Tips Recommend

บทความโดย แพนคลินิก | 1771 views
บทความโดย ศิริรัตน์ | 73 views