การบังคับใช้กฎหมายกรณีการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

         จากสถิติเรื่องร้องเรียนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณาพบว่า สถิติเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษอันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมาก และกระจายอยู่ในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียงและมลพิษทางน้ำ ก่อให้เกิดอุปสรรคการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่

การแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกรณีการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจึงเป็นภารกิจในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่สอดรับกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 53 ที่กำหนดให้รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  ซึ่งลักษณะเรื่องร้องเรียน กรณีการประกอบกิจการโรงงานแล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนนั้น เป็นเรื่องการละเลยล่าช้าของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการกับผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งรัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

กรณีศึกษาโรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการกำจัดและบำบัดของเสียอุตสาหกรรม  และมีประชาชนในพื้นที่ได้มีการร้องเรียนมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557  เป็นต้นมา ซึ่งจนถึงปัจจุบันสภาพปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่โรงงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ควันไฟจากการเผาไหม้กากอุตสาหกรรมฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงหลายกิโลเมตร ส่งผลกระทบให้ประชาชนบริเวณใกล้เคียงมีอาการแสบจมูก และเวียนศีรษะ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย  ซึ่งหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว และมีความกังวลถึงผลกระทบในระยะยาว กรณีจึงเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (3) ประกอบ มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 25601 หยิบเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่อไป

ในการนี้  ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 6 ครั้ง ในประเด็น สภาพปัญหา มาตรการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของประชาชน แนวทางการดำเนินการขนย้ายสารเคมีที่เหลืออยู่ในบริเวณพื้นที่โรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานอย่างเคร่งครัด เป็นผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากมลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานและไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม ดังนั้น เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดรวมตลอดถึงขั้นตอน และแนวทางการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีกับความเสียหายที่ได้รับ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้เสนอรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ เรื่อง การบังคับใช้กฎหมายกรณีการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. 1. กรณีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ก่อให้เกิดมลพิษ

1.1 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  เช่น การออกคำสั่งตามมาตรา 39  แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มีผลให้โรงงานหยุดการประกอบกิจการ และพ้นจากบังคับของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งอาจส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบกิจการโรงงานสามารถทำได้ยากขึ้น ควรให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวยังอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

1.2  ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดติดตามการดำเนินคดีกับผู้ประกอบกิจการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

  1. 2. กรณีการแก้ไขปัญหามลพิษ และกระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกอบกิจการโรงงาน

2.1 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการขนย้ายสารเคมี เพื่อบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการขนย้ายสารเคมีตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีแผนในการดำเนินการขนย้ายสารเคมีโดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้

ระยะแรก ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรอง เพื่อแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉิน ดำเนินโครงการจำนวน ๔ โครงการ ดังนี้

(1) โครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม

(2) โครงการฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

(3) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน  โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี)

(4) โครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี

ระยะสอง ค้นหาและกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีการลักลอบฝังใต้ดินภายในพื้นที่โรงงาน ซึ่งเป็นแหล่งมลพิษที่แพร่กระจายปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม  โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาสำรวจระยะที่ 1 มาประมาณการค่าใช้จ่าย โดยจะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพิ่มเติม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม

โดยในส่วนของโครงการของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในระยะแรก จากเหตุการณ์ ตามกรณีศึกษา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ขอให้สนับสนุนกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จากการประกอบกิจการโรงงาน บริษัทเอกชนดังกล่าว เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานและการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาเห็นชอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการดำเนินการตามแผนดังกล่าวในโครงการระยะต่อไป ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการตามแผนดังกล่าวให้แล้วเสร็จทั้ง 2 ระยะ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และขอให้รัฐบาลรวมทั้งสำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป

2.2 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษพิจารณาเสนอขอปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อให้การเรียกร้องค่าเสียหายเกิดความเป็นธรรม

ในประเด็นการเรียกร้องค่าเสียหายโดยอาศัยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายโดยอาศัยกระบวนการในทางแพ่งโดยผู้เสียหายต้องเป็นผู้ฟ้องร้องด้วยตนเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายที่มีฐานะยากจนอาจไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยความเสียหาย จึงเห็นควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในประเด็นการฟ้องร้องให้ผู้ที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือพนักงานอัยการ สามารถดำเนินคดีต่อบุคคลผู้ที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษได้

  1. กรณีการดำเนินการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากปัญหามลพิษ

3.1 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้การชดเชยเยียวยาความเสียหายจากมลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์  

                         กรณีประเด็นปัญหาที่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการที่ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม และทันต่อเหตุการณ์ เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเรียกร้องค่าเสียหายต้องอาศัยกระบวนการฟ้องร้องในทางแพ่ง กองทุนตามกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถนำมาใช้ในการเยียวยาความเสียหายในด้านชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย หรือทรัพย์สินของผู้อื่นหรือประชาชนหรือของรัฐ ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย หรือได้รับการเยียวยาความเสียหายล่าช้าnกรณีดังกล่าวจึงเห็นควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินการเยียวยาความเสียหายจากมลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีแนวทาง mในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น

1) การจัดตั้ง “กองทุนทดแทนความเสียหายอันเกิดจากปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงงาน”

2) การกำหนดให้ผู้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานทำประกันภัยในส่วนของความเสียหายจากการแพร่กระจายของมลพิษแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัยหรือทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐ

3) การกำหนดให้ผู้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานวางหลักประกันในส่วนของความเสียหายจากการแพร่กระจายของมลพิษแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัยหรือทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐ

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น แนวทางใด จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมต่อสภาพของสังคมไทย อาจจะต้องมีการศึกษาวิจัยโดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสม จึงเห็นควรให้กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลการประกอบกิจการโรงงาน ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อให้การชดเชยเยียวยาความเสียหายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์กับทั้งรัฐและประชาชนมากที่สุด โดยการจ้างผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทำการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว

3.2 ให้สำนักงบประมาณให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการจ้างศึกษาวิจัย

ในการเสนอให้มีการศึกษาถึงแนวคิด รูปแบบของการจัดตั้งกองทุนเพื่อทดแทน ความเสียหายอันเกิดจากปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงการเสนอให้มีการจัดทำประกันภัยหรือการวางหลักประกันสำหรับผู้ประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวข้างต้น เป็นการศึกษาที่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยการศึกษาวิจัยโดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และใช้ข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุน ซึ่งในการดำเนินการศึกษาวิจัยดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้ได้ข้อมูลและรูปแบบการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น จึงขอให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณให้แก่กระทรวงอุตสาหกรรม ในการจ้างผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว

ต่อมา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงาน บริษัทเอกชนดังกล่าว และติดตามโครงการ “จ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้าง ทั้งนี้  การจัดการกากของเสียกว่า 12,000 ตัน ในพื้นที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ  ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 และจะดำเนินการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทฯ โดยจะยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหาในพื้นที่อื่นต่อไป