ยาง


ยาง เป็นพอลิเมอร์ที่มีความยืดหยุ่นได้เมื่อถูกแรงกระทำ และสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เมื่อพ้นจากแรงกระทำ ได้แก่ ยางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เป็นเวลานานแล้ว คือ ยางพารา น้ำยางสดจากต้นยางเมื่อนำมาเติมกรดฟอร์มิก (HCOOH) หรือกรดแอซิติก (CH3 COOH) ลงไปจะทำให้ส่วนของน้ำยางตกตะกอนแยกตัวออกจากน้ำยาง
เนื้อยางเป็นพอลิเมอร์ของไอโซพรีน โดยมีไอโซพรีนเชื่อมต่อกันอยู่ตั้งแต่ 1500-15000 หน่วย ยางธรรมชาติจะเหนียวและอ่อนตัวเมื่อได้รับความร้อน แข็งและเปราะเมื่ออุณหภูมิต่ำ คุณสมบัติเช่นนี้ทำให้ไม่เหมาะในการนำไปใช้ จึงมีการนำกำมะถันใส่ลงไปในปริมาณที่พอเหมาะที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดหลอมเหลวของกำมะถัน ทำให้ได้ยางที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและมีความคงตัวที่อุณหภูมิต่างๆดีขึ้น ยางที่ได้เรียกว่า ยางวัลคาไนส์ ปฏิกิริยาระหว่างยางกับกำมะถันเรียกว่า
ปฏิกิริยาวัลคาไนเซชัน การปรับปรุงยางอาจทำได้โดยการเติมซิลิกา หรือผงถ่านเพื่อเพิ่มความแข็งแรงก็ได้ สามารถนำมาใช้ทำยางรถยนต์ รองเท้า กระเป๋าน้ำร้อน ถุงมือยาง สายพาน สายยาง เป็นต้น
ยางสังเคราะห์ เป็นพอลิเมอร์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ทดแทนความต้องการในการใช้ยางธรรมชาติ ได้แก่
1. ยางสไตรีนบิวทะไดอีนหรือยางเอสบีอาร์ (Styrene Butadiene Rubber S.B.R.) ยางชนิดนี้จัดเป็นโคพอลิเมอร์ที่เกิดจากสไตรีนและบิวทะไดอีน ยางนี้มีความต้านทานต่อการขูดขีดและป้องกันการผุกร่อนได้ดี จึงเหมาะสำหรับทำยางรถยนต์
2. ยางพอลิคลอโรพรีนหรือยางนีโอพรีนป็นยางสังเคราะห์ที่ได้จากปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชัน โดยมีคลอโรพรีนเป็นมอนอเมอร์ ยางนีโอพรีนดีกว่ายางธรรมชาติตรงที่ไม่อ่อนนุ่มหรือบวมเมื่อถูกน้ำ



โดย : นาง บุศยรัตน์ พันธ์เครือบุตร, โรงเรียนวัดป่าประดู่, วันที่ 22 มิถุนายน 2545