Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

“ไทลื้อ” เรื่องเล่ามีชีวิต

การได้คุยกับใครสักคน เป็นความสุขหนึ่งที่สร้างความโล่งโปร่งสบายใจ แต่การได้นั่งฟังใครสักคนหนึ่ง ก็ชื่นใจไม่แพ้กัน แถมยังเปิดจินตนาการจากเรื่องเล่าได้ไม่รู้เบื่อ เพราะนี่คือ “เรื่องเล่าแห่งชาวไทลื้อ” จากแม่แสงดา สาวชาวไทลื้อ ผู้มีเรื่องราวมากมาย เป็นนิทานที่ไม่มีวันจบสิ้น กล่อมให้เราตกอยู่ในห้วงแห่งการท่องเที่ยวอย่างมีความสุข  

อ.เชียงคำ จ.พะเยา คือ ประสบการณ์แห่งความสุขจากเรื่องเล่าของชาวไทลื้อที่เราได้มาสัมผัสในวันนี้ พร้อมกับความแปลกใหม่กับการสวมชุดไทลื้อออกไปท่องโลกไทลื้อในชุมชนแห่งนี้

เช่าชุดไทลื้อมาสวมใส่ สร้างประสบการณ์ใหม่ เที่ยวชุมชนไทลื้อ

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆ ดังที่เราได้ลองแปลงร่างเป็นชาวไทลื้อวันนี้ พบว่า ชุดไทลื้อมีความเรียบง่าย แต่ก็งดงาม

ผู้ใหญ่หยิน (กลาง) กับบรรดานักท่องเที่ยว ที่ดูกลมกลืนกับชุมชนมากๆ

ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม เรียกว่า “เสื้อปา” สวมกางเกงขายาวต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เรียกว่า “เตี่ยวหัวขาว” นิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาว สีชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด  เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่สาบเสื้อจะป้ายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง  นุ่งซิ่นต๋าลื้อ สะพายกระเป๋าย่ามเล็กๆ และนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู

มาถึงชุมชนไทลื้อแล้วก็ต้องแวะไปชมสถานที่เหล่านี้ ซึ่งเราสามารถนั่งรถราง หรือปั่นจักรยาน แต่ด้วยสภาพตอนนี้ คิดว่าการนั่งรถราง จะทำให้ทุกคนดูเป็นหญิงงามได้มากกว่า

 “วัดแสนเมืองมา”  เป็นวิหารศิลปะลื้อผสมล้านนาร่วมสมัย มีพระพุทธศิลป์แบบลื้ออันงดงาม ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” ให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตเขาชาวไทลื้อ จุดนี้เราได้พบกับข้าวของเครื่องใช้ในอดีต รวมทั้ง ห้องนอนของชาวไทลื้อในสมัยก่อน ที่จะต้องนอนกางมุ้งเรียงกันโดยไม่มีการกั้นฝาผนัง ทำให้มุ้งของไทลื้อจึงเป็นสีดำ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวนั่นเอง

 

ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน

“ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน”  เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนซึ่งรวบรวมข้อมูลการจัดแสดงเกี่ยวกีบวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ นอกจากนี้ยัง ภายในศูนย์ยังมีศูนย์ทอผ้าไทลื้อบ้านหย่วน ที่มีการสาธิตการทอผ้าไทลื้อ และมีผ้าไทลื้อไว้จำหน่าย ภายในยังได้ชมเครื่องแต่งกายของชาวไทลื้อในอดีต ที่ได้เก็บสะสมไว้ที่นี่ บอกได้เลยว่ามีเสน่ห์น่าค้นหา ด้วยการเดินลายแบบเย็บมือ ที่มีความปราราณีต มีความร่วมสมัย ถึงนำกลับมาเป็นลายในเสื้อผ้าปัจจุบันก็น่าจะเก๋มาก

ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน

ที่นอนแบบไทลื้อ ที่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน

หอผ้าไทลื้อ ใช้ตั้งในพิธีศพของญาติผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป เชื่อว่าเป็นวิมานของคนตาย

สาธิตการทอผ้า

วัดพระธาตุสบแวน

 “วัดพระธาตุสบแวน” ในตัวบ้านหย่วน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์ที่มีความเก่าแก่มาก โดยสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุราว 800 ปี เลยทีเดียว ภายในองค์พระธาตุได้บรรจุเส้นพระเกศา และกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้าไว้  ด้านในมีอาคารจัดแสดงภาพวาดบันทึกประวัติศาสตร์และการดำเนินชีวิตของชาวไทลื้อ แม้จะเป็นการเขียนขึ้นได้ไม่นาน แต่ก็มีความงดงาม ด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจ ยิ่งได้ผู้ใหญ่หยิน มาช่วยบรรยายเรื่องราวของแต่ละภาพ นับเป็นการเปิดโลกไทลื้อไสตล์นิทานที่น่าฟังมากๆ

วัดพระธาตุสบแวน

วัดพระธาตุสบแวน

ภาพเขียนที่วัดพระธาตุสบแวน

เรื่องราวน่ารักๆ ในภาพเขียน วัดพระธาตุสบแวน

เฮือนไทลื้อร่วมสมัยแม่แสงดา

แล้วเรื่องเล่าที่น่าฟังที่สุดก็มาถึง ที่ “เฮือนไทลื้อร่วมสมัยแม่แสงดา” นับเป็นบ้านไทลื้อดั้งเดิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในเชียงคำ ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยปัจจุบันมีแม่แสงดา ดูแลรักษาไว้ พร้อมต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวด้วยจิตไมตรี แม้ว่าแม่แสงดาจะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงสดใส เพราะได้ต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตา

เฮือนไทลื้อแม่แสงดา ถือเป็นห้องรับแขกของชุมชนไทลื้อในเชียงคำ เพราะมาที่นี่แล้ว เราจะได้ใช้ชีวิตแบบไทลื้อทุกระเบียดนิ้ว และได้คุยกับ แม่แสงดา สมฤทธิ์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 89 ปีแล้ว บ้านหลังนี้ไม่ใช่หลังแรกที่แม่แสงดามาอยู่ในเมืองไทย เพราะแม่แสงดาต้องทำงานเพื่อช่วยสร้างบ้านหลังนี้ ซึ่งในตอนนั้นก็อายุ 17 ปีแล้ว

แม่แสงดามีเรื่องเล่าตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา มาตั้งรกรากด้วยความยากลำบาก จนถึงปัจจุบัน ความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อเป็นไปอย่างเรียบง่าย สุขสบาย ท่ามกลางการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันเหนียวแน่น

และเย็นนี้ เราก็ได้ร่วมล้อมขันโตกในมื้อเย็นกับแม่แสงดา ที่มีเรื่องเล่าสนุกสนานไม่จบสิ้น แม้กระทั่งอาหารแต่ละเมนู อย่าง จอผักกาดลื้อ แกงผักกาดส้ม แกงขนมจีนเส้นแห้ง จินซั่มพริก ปลาปิ้งอบ แต่ละชื่อไม่คุ้นหู แต่ก็ยังคุ้นตาคุ้นลิ้นอยู่บ้าง ไม่รวมเจ้า “แอ่งแถะ” ลักษณะคล้ายวุ้นที่นำมายำ ทำมาจากใบเครือหมาน้อยมาคั้นจนเป็นวุ้น รสชาติแปลกประหลาด แต่พอได้ฟังแม่แสงดาคุยไปชิมไป ก็เพลินไปกับมื้อเย็นอันมีความสุขนี้ จนไม่อยากให้ถึงเวลาหกโมงเย็นเลย

เพราะเคล็ดลับหนึ่งในการมีอายุยืนของแม่แสงดา นอกจากจะกินผักกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้ว แม่ยังเข้านอนตอนหกโมงของทุกวัน ตื่นอีกทีตอนฟ้าสาง เป็นอันสดชื่น แต่เราแอบคิดว่า ด้วยความสดใส อัธยาศัยที่ดี และมิตรไมตรีที่มีให้ผู้มาเยือนเสมอ เป็นสิ่งที่ส่งให้แม่แสงดา ยังดูสดชื่นเสมอแม้จะอายุมากแล้วก็ตาม

แม่แสงดา คือ ตัวแทนของผู้หญิงไม่หยุดสวย ไม่ยอมปล่อยตัวให้แห้งเฉา แค่คณะของเราไม่กี่คนไปถึง แกผละจากการพูดคุยกับแขกอีกคน ลุกขึ้นไปแต่งองค์ทรงเครื่อง จัดเต็มรอรับแขก

ห้องนอนแบบไทลื้อ ที่บ้านแม่แสงดา

นอกจากเมนูไทลื้อชวนชิมแล้ว ที่บ้านแม่แสงดา ซึ่งเป็นส่วนของห้องนอน (แบบไทลื้อ) ก็จัดแสดงสินค้าจากชาวบ้าน ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า และย่ามจิ๋ว ที่เห็นสาวๆ ชาวไทลื้อต้องสะพายกันทุกคน

 

ไทลื้อ เป็น 1 ใน 8 ชาติพันธุ์ที่มาตั้งรกรากในพะเยา หากใครมีโอกาส ก็ใช้เวลาตระเวนเที่ยวเพื่อสัมผัสกับเรื่องราวจากความหลากหลาย ต่างกันแต่ไม่ต่างใจ รอยยิ้มแห่งความสุขของพะเยา ก็จะเป็นหนึ่งความทรงจำที่ทำให้เราคิดถึงและอยากกลับไปเยือนอีกเสมอ

โดยเฉพาะเรื่องเล่าของแม่แสงดา ซึ่งแม้ว่าจะจดจำรายละเอียดได้ไม่หมด แต่รอยยิ้มของแม่ก็ยังประทับอยู่ในความรู้สึก นึกทุกครั้งว่า หากเราพูดถึงเรื่องอะไรขึ้นมา แม่แสงดาแกก็คงจะมีเรื่องที่พร้อมเล่าให้ฟังอยู่เสมอ

(นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเที่ยวชมชุมชนไทลื้อ ที่ อ.เชียงคำ ได้ด้วยตัวเอง หรือ ติดต่อ พี่หยิน ผู้ใหญ่บ้าน โทร.084-483-4188)

Post a comment

1 + 11 =