รู้สึกกันว่าทนายความและนักกฎหมายที่เก่งๆ ชักจะขาดตลาด

บทบาทและอาชีพซึ่งกำลังเป็นที่น่าสนใจในเมืองไทยในช่วงเวลานี้ นอกจากอาชีพนักฟุตบอลแล้วน่าจะเป็นอาชีพทนายความ ด้วยว่าเป็นข่าวออกสื่อถี่ยิบจากคดีความที่ฟ้องร้องกันไปมาอย่างจ้าละหวั่น ทำให้ทุกบุคคลและองค์กรต่างจำเป็นต้องมีนักกฎหมาย หรือนิติกรหรือทนายความประจำอยู่ใกล้ตัว

จำนวนคดีต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนคดีล้นศาล จนรู้สึกกันว่าทนายความและนักกฎหมายที่เก่งๆ ชักจะขาดตลาด

ไม่ต้องดูสถิติจากสำนักงานไหน เอาง่ายๆ… “วัด” ที่ควรจะสงบโดยไม่มีคดีความฟ้องร้องกับใครนั้น มาวันนี้วัดพระธรรมกายกลับมีคดีที่ถูกกล่าวหาทั้งแพ่งและอาญาที่ต้องต่อสู้หรือแก้ต่างถึง 158 คดี!

 

เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ครั้งที่ผมยังเป็นตำรวจอยู่โรงพัก สภาทนายความ ได้จัดส่งทนายมาประจำโรงพักในรูปของอาสาสมัคร (รับเบี้ยเลี้ยงรายวันจากสภาทนายความ) ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือประชาชนโดยไม่คิดค่าบริการ แต่ถ้าจะรับทำคดีในฐานะทนายความจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาทนายความก่อน เพื่อว่าจะได้ไม่มีภาพ “ทำมาหากิน” และทางสภาทนายความจะได้ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบกับผลของคดีด้วย

โรงพักให้ความร่วมมือและความสะดวกตามสมควร ใหม่ๆ ตำรวจรู้สึกอึดอัดเพราะความคิดที่ฝังอยู่เดิมว่าทนายเป็นคู่ปรับกับตำรวจ แต่แล้วเราก็กลายเป็นผู้ร่วมงานกัน ที่จริงแล้วทนายความช่วยตำรวจถึง 2 ประการ คือ ช่วยในเรื่องคดีแพ่งกับช่วยทำให้คู่กรณีเข้าใจงานของตำรวจ เข้าใจอำนาจและความไม่มีอำนาจของตำรวจ

ทนายความคล้ายเป็นคนกลางระหว่างตำรวจกับคู่กรณี เพราะโดยธรรมชาติแล้วชาวบ้านย่อมไว้ใจทนายความมากกว่าไว้ใจตำรวจ

ทนายความอธิบายข้อกฎหมายโดยชาวบ้านไม่รู้สึกต่อต้าน ทั้งยังสามารถแสดงท่าทีหรือพูดจาเข้าข้างลูกความของตัวได้ แต่ตำรวจไม่มีสิทธิ์นี้

 

ไม่เพียงแต่ประชาชนมีโอกาสได้ใช้บริการของทนายความอาสา ผมเองซึ่งเป็น สวญ. หัวหน้าสถานีตำรวจก็ยังเคยได้พึ่งพาอาศัยประสบการณ์และความรู้ของทนายประจำโรงพัก

หนหนึ่งผมถูกยื่นโนติสในฐานะผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ผมเอาแต่หลบเลี่ยงหนีหน้าคนของบริษัทลิสซิ่งที่ยื่นเอกสารคำขาดให้ผมไปชำระหนี้แทนผู้เช่าซื้อ

ทนายความประจำโรงพักได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จนในที่สุดผมสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้โดยไม่มีใครเสียหาย

ครั้งหนึ่งตำรวจในบังคับบัญชาของผมถูกร้องเรียนผ่าน “ทนายแม็กไซไซ” ทองใบ ทองเปาด์ ผมฟังเรื่องราวแล้วเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้ร้อง จึงให้ตำรวจพาไปพบท่านที่สำนักงานแถวบางยี่เรือโดยที่ไม่เคยรู้จักตัวจริงกันมาก่อน แต่เวลาพูดคุยกันดูราวกับท่านรู้จักผมดี ให้เกียรติและยินดีที่ผมไปพบ ในที่สุดก็ชี้แจงให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจตำรวจและถอนคำร้อง

พูดถึงท่านทองใบ ทองเปาด์ “ทนายคนยาก” แล้วคิดถึง ท่านไปบรรยายในหลักสูตรผู้บริหารงานตำรวจชั้นสูงซึ่งผมกำลังรับการอบรมอยู่ ได้มีเวลาทักทายกันตอนที่ท่านกำลังจะขึ้นรถกลับ ตั้งใจว่าจะไปคุยกันต่อในอีกหลายเรื่อง แต่ท่านมาด่วนจากไปเสียก่อน

 

เวลาขึ้นศาล (ไม่ว่าจะในฐานะอะไรก็ตาม) ผมไม่ชอบทนาย เหมือนกับไม่ชอบให้ใครมาซักถามแบบคอยจับผิด แต่ตำรวจส่วนใหญ่มักจะชอบ ว่าเหมือนได้ขึ้นเวทีกีฬา มีความสุขในชัยชนะ

ในคดีอาญาหรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตำรวจมักจะได้เปรียบทนายจำเลย ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานก่อนจะกล่าวหาและจับกุมดำเนินคดี สำนวนการสอบสวนก็ได้รับการตรวจและกลั่นกรองจากผู้บังคับบัญชาและอัยการอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ชอบขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ผมก็ชอบอ่านบันทึกคำให้การถาม-ตอบระหว่างทนายความหรืออัยการกับผู้ให้การ ไม่ว่าจะในฐานะเป็นพยานหรือเป็นคู่กรณีก็ตาม ผมจะสนุกมากกว่าอ่านนิยายและตื่นเต้นเท่ากับได้ดูภาพยนตร์ในท่อนที่เรียกว่า court scene นั่นแหละครับ

รายได้ของทนายความความตื่นเต้นดังกล่าวข้างต้นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตำรวจหลายนายใช้เวลาว่างไปเรียนนิติศาสตร์ เตรียมตัวเปลี่ยนอาชีพก่อนเกษียณ

 

มาถึงยุคปัจจุบันสังคมที่เปลี่ยนแปรไปทำให้ทนายกับตำรวจมีบทบาทและความคิดแตกต่างจากเดิมไปมาก

“กระแส” ดูจะมีความสำคัญกว่า “ข้อเท็จจริง”

ผู้ที่สร้างกระแสได้อาจจะได้เปรียบในการต่อสู้ ทุกคนรู้ว่าผู้ที่สามารถสร้างกระแสรวดเร็วคือสื่อโซเชียล

อย่างน้อยการสร้างกระแสทำให้ตำรวจเสียเปรียบเมื่อเริ่มเกม เพราะตำรวจต้องอยู่ในกรอบของกฎระเบียบและข้อบังคับทางราชการ ต้องสงวนท่าทีและคำพูดมากกว่าทนายความ

ทนายความบางคนในยุคนี้ “ออกสื่อ” เหมือนนักการเมือง เพิ่มคุณค่าให้ตัวเองด้วยวิธีการของนักการตลาด

เราจะเห็นได้จากข่าวในทีวีหรือในคลิปว่า บางคนพูดชี้นำผู้สื่อข่าวหน้าตาเฉย ทั้งที่คำพูดปลุกปั่นเร้าใจทำนองนั้นนำไปใช้ในศาลไม่ได้ บางประเด็นอาจจะทำให้เสียรูปคดีและเสียเปรียบคู่กรณีเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ทนายก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของผู้คนในสังคมในหลายเรื่อง ผมจึงรู้สึกยินดีที่ได้ทราบข่าวว่ามีนายตำรวจทั้งที่เพิ่งจบใหม่และใกล้เกษียณอายุเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากความเป็นตำรวจที่ถูกสาปแช่ง ไปเป็นตุลาการ อัยการและทนายความ จำนวนปีละไม่น้อย

อย่างน้อย ความที่เคยรักและเข้าใจอาชีพตำรวจคงจะไม่ซ้ำเติมที่ตำรวจถูกสาปแช่ง