ล้านนาคำเมือง : ไทลื้อ


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไตลื้อ”

ไตลื้อ หรือ ไทลื้อ หรือ คนลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนา ในดินแดนของประเทศจีน

มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณี

เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า “ลือแจง” ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง คือเขตสิบสองปันนาในปัจจุบัน

ประมาณศตวรรษที่ 12 มีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นานถึง 790 ปี

ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ปี ค.ศ.1579-1583 ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,000 หาบข้าว ต่อนาหนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาของชื่อเมืองสิบสองปันนาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ตามภาษาไทลื้อ คือ ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจงฮุ่ง (เชียงรุ่ง) เป็น 12 ปันนา

เจ้าอิ่นเมืองยังขยายอาณาเขต เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง สร้างบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น

จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ได้แก่รัฐฉานในปัจจุบัน รวมไปถึงหลวงพระบาง

ส่วนการอพยพครั้งสำคัญของชาวไทลื้อสู่ล้านนานั้น เป็นการกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนา เมืองเชียงตุง เมืองยองครั้งใหญ่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ เมื่อ 200 กว่าปีก่อน เพื่อมาช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง หรือเรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”

ต่อมาพบว่ามีการเคลื่อนย้ายผู้คนตามมาภายหลังเพื่อทำการค้าขาย ติดตามญาติพี่น้อง หาแหล่งที่ทำกินใหม่ ทั้งยังถูกกวาดต้อนมาเพิ่มเติม

ทำให้ในปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดแพร่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง พะเยา และลำพูน และภาคเหนือของประเทศลาว

ชาวไทลื้อนับถือพุทธศาสนาร่วมกับความเชื่อเรื่องผีโดยเฉพาะผีบ้านผีเรือน ผีเจ้านาย ผีอารักษ์ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมก่อนการนับถือพุทธศาสนา

ต่อมาได้ผสมผสานความเชื่อระหว่างพุทธศาสนาและการนับถือผีเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในล้านนา ดังปรากฏประเพณีพิธีกรรมสำคัญในท้องถิ่นทั้งพุทธศาสนาและการเลี้ยงผี

การแต่งกายผู้ชาย สวมเสื้อคล้ายเสื้อหม้อห้อม ลักษณะเป็นเสื้อแขนยาวสีดำหรือสีคราม บางตัวอาจมีเอวลอย แขนเสื้อขลิบด้วยแถบผ้าสีต่างๆ มีผืนผ้าต่อจากสายหน้าป้ายมาติดกระดุมเงินบริเวณใกล้รักแร้และเอว กางเกงเป็นกางเกงก้นลึก เรียกว่า “เตี่ยว 3 ดูก” สีเสื้อผ้าของผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะเป็นสีเทา สีดำ ถ้ามีงานบุญจะใส่สีขาว หรือสีดำ ผ้าขาวม้าคาดพุง โพกศีรษะด้วยผ้าสีน้ำตาล สีขาว สีดำ

ผู้หญิง สวมเสื้อที่มีลักษณะเฉพาะเรียกว่าเสื้อปั๊ด แขนยาวตัดเสื้อเข้ารูป เอวลอยมีสายหน้าเฉียงผูกติดกันด้วยด้ายฟั่นหรือแถบผ้าเล็กๆ ที่มุมซ้ายหรือขวาของลำตัว ชายเสื้อนิยมยกลอยขึ้นทั้งสองข้าง สาบเสื้อขลิบด้วยแถบผ้าสีต่างๆ ประดับด้วยกระดุมเม็ดเล็กเรียงกัน สวมซิ่นไทลื้อที่มีลวดลายกลางตัวซิ่น

ส่วนหัวซิ่นเป็นผ้าฝ้ายสีดำหรือสีน้ำตาล ขาว

ส่วนตีนซิ่นเป็นผ้าพื้นสีดำ สีเสื้อผ้าของผู้หญิงไทลื้อจะใช้ในโอกาสที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้ามีงานบุญจะใส่เสื้อปั๊ดสีขาว โพกหัวด้วยผ้าสีขาว

ส่วนเสื้อผ้าสีดำจะสวมใส่ในงานประเพณีหรืองานแต่งงาน