ปางช้างแม่แตง โต้เอ็นจีโอโจมตีทรมานสัตว์ ชี้ใส่ร้ายทุกปี แต่เห็นระดมเงินบริจาค คาดดิสเครติดเที่ยวไทย

ปางช้างแม่แตง โต้เอ็นจีโอโจมตีทรมานสัตว์ปมหลังช้างผิดรูป ชี้ใส่ร้ายทุกปี แต่เห็นระดมเงินบริจาค คาดดิสเครติดเที่ยวไทย สัตวแพทย์ยันไม่เคยเจอช้างป่วยลักษณะนี้ ล่าสุดจัดเลี้ยงขันโตกช้างในวันช้างไทย

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ปางช้างแม่แตง หมู่2 ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ดร.บุญทา
ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง พร้อม สพ.ญ.พนิดา เมืองหงษ์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกช้างปางช้างแม่แตง ได้แถลงข่าวชี้แจง กรณีมูลนิธิแห่งหนึ่ง อ้างมีช้างเจ็บป่วยจากการทำงานหนักในธุรกิจท่องเที่ยว ว่า รู้สึกตกใจ ข่าวดังกล่าวที่ระบุว่า  มีการใส่แหย่งที่นั่งบนหลังช้าง บริการนักท่องเที่ยวครั้งละ 6 คน มาเป็นเวลานานหลายสิบปี จนทำให้กระดูกสันหลังหักดูผิดรูปไปอย่างน่าสงสาร แต่ก็ไม่ได้ประหลาดใจมากนัก เพราะมักมีมูลนิธิที่ชอบกล่าวอ้างอนุรักษ์ออกมาโจมตีการท่องเที่ยวช้างไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงวันช้างไทย 13 มีนาคมทุกปี เพื่อทำลายวงการท่องเที่ยวช้างไทย โดยบิดเบือน ใส่ร้าย มาโดยตลอดว่าทารุณกรรมทรมานสัตว์ ซึ่งวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดนับพันปีแล้ว

จากกระแสดังกล่าว ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมมูลนิธิที่ออกมาโจมตี ทำไมมีแต่คนต่างชาติที่บ้านเมืองเขาไม่เคยมีช้างเลย แต่ทำธุรกิจแฝงในนามนักอนุรักษ์สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เข้าไปดูในเว็บไซต์ เห็นแต่เปิดรับบริจาค เป็นที่น่าสงสัยว่ากลไกในการทำงานของเขา คือการสร้างข่าวช้างให้ดูน่าสงสาร เพื่อหวังเงินบริจาคหรือไม่ คล้ายมูลนิธิบางแห่งที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ด้วยการหาเงินจากความสงสารของผู้คนที่จิตใจอ่อนไหว จนลืมความเป็นจริง หรือข้อเท็จจริงไป ซึ่งปางช้างแม่แตง มีแต่ช้างอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จนสัตวแพทย์ ต้องสั่งลดความอ้วน เพื่อสุขภาพช้างเอง

Advertisement

สพ.ญ.พนิดา เมืองหงษ์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกช้างปางช้างแม่แตง กล่าวว่า รู้สึก แปลกใจเช่นกัน จากประสบการณ์ที่ทำงานเป็นสัตวแพทย์ด้านช้างมาเกือบสิบปี ไม่เคยพบกรณีช้างเจ็บป่วยแบบนี้เลย เพราะลักษณะทางกายภาพของช้าง เป็นสัตว์บกที่ร่างกายใหญ่โต แข็งแรงที่สุดในโลกแล้ว มีงานวิจัยออกมารองรับว่าช้างสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว โดยปกติช้างโตเต็มวัย มีน้ำหนักเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัม ซึ่งนช้างสามารถแบกรับน้ำหนักได้ถึง 450 กิโลกรัมหรือรับนักท่องเที่ยว ครั้งละ ไม่เกิน 2 คน รวมน้ำหนักควาญช้าง และแหย่งนั่ง แล้วไม่เกิน 300-400 กิโลกรัม และยังจำกัดเวลาทำงาน
เชือกละ 6-8 รอบ/วันเท่านั้น

“ปางช้างแม่แตง ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพช้างอย่างมาก ดูแลช้างให้อยู่ดีกินดีมีสุขภาพที่ดี คือภารกิจหลักของเรา มีสัตวแพทย์ และผู้ช่วยคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ปัญหาสุขภาพช้าง เป็นเรื่องระบบ
ทางเดินอาหาร เช่น กินมากเกินไปทำให้ท้องอืด ท้องเสียบ้าง ส่วนการเจ็บป่วยจากการทำงานหนักจนพิกลพิการนั้น ไม่เคยเจอมาก่อน” สพ.ญ.พนิดา กล่าว

Advertisement

ต่อมานายบุญทา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่าธุรกิจปางช้างในเชียงใหม่ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ มีนักท่องเที่ยวใช้บริการ 60-70 % เฉพาะปางช้างแม่แตง มีนักท่องเที่ยววันละ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ 70%
คนไทย 30 %  ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนมากเป็นชาวจีน ไต้หวัน เกาหลี เวียดนาม และยุโรป แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือน

ส่วนผลกระทบจากไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นPM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานมากว่า 1 สัปดาห์ ได้รับผลกระทบว่า แต่ช่วง 1-2 วันมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง สภาพอากาศดีขึ้น ไม่ส่งผลกระทบท่องเที่ยวมากนัด หากมีฝนตกอีกหลายวัน เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

“ปีนี้วันช้างไทย ได้จัดขันโตกบุฟเฟต์ผลไม้เลี้ยงช้างกว่า 70 เชือก เพิ่อส่งเสริมท่องเที่ยว และเรียนรู้วิถีชีวิตช้างไทย กับภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมศึกษาวัฒนธรรมประเพณีชุมชน โดยนั่งช้าง นั่งเกวียนและล่องแพชมวิถีชีวิตชุมชนสองฝั่งท่ามกลางฝนตกโปรยปรายตลอดวันด้วย” ดร.บุญทา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image