ของเขาดีจริง “กยท.ตรัง”กวาดซื้อปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง“สูตรพด.”ชี้ลดต้นทุน ให้ผลผลิตสูง ราคาต่ำกว่าปุ๋ยเคมี 5 เท่า

พด.สบ ช่องราคาปุ๋ยเคมีราคาพุ่ง เร่งเดินหน้าขับเคลื่อน โครงการส่งเสริมผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงทดแทนปุ๋ยเคมีราคาแพง มุ่งลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมชู จ.ตรัง เป็นพื้นที่ต้นแบบในการสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดที่เข้มแข็ง ยกระดับอาชีพและรายได้ให้ชุมชนแบบยั่งยืน 

เมื่อเร็วๆ นี้ นายศรีศักดิ์ ธานี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดินนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลดำเนินงานโครงการการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรกรมพัฒนาที่ดินลดการใช้ปุ๋ยเคมีราคาแพง(ปุ๋ยอินทรีย์ตราพะยูน)ในพื้นที่จังหวัดตรัง พร้อมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ซื้อ-ขายปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรกรมพัฒนาที่ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีราคาแพงฯระหว่างวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง จ.ตรัง และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จังหวัดตรัง ณ วิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

Advertisement

นายศรีศักดิ์ ธานี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง การขาดแคลนปุ๋ย เนื่องจากประเทศผู้ผลิตลดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมีทำให้อุปสงค์ลดลงแต่อุปทานมีมากขึ้น จึงทำให้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงขึ้นส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการตัดสินใจในการผลิตของเกษตรกร ในความต้องการบำรุงพืช ประกอบกับกำลังผลิตปุ๋ยเคมีของประเทศไทยยังมีจำกัด กรมพัฒนาที่ดินโดยกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน จึงได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาการนำจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ ทั้งปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารป้องกันแมลงและกำจัดโรคและสารบำบัดน้ำเสียซึ่งสามารถนำไปทดแทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดโรคและแมลงได้

นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยของนักวิชาการเกษตรกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าการสำรวจในสภาพพื้นที่ซึ่งมีลักษณะนิเวศวิทยาที่แตกต่างกัน จะมีชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่มากมายมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสามารถจำแนกชนิด คัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ นำมาใช้ประโยชน์สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพตอบสนองวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ทั้งด้านการปรับปรุงบำรุงดิน และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สำหรับผลิตปุ๋ยหมัก สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพ จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงดิน พด.11 (โสนอัฟริกัน และปอเทือง) ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และ พด.13 ไมคอร์ไรซาสำหรับข้าวโพด การใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 สำหรับผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืช สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 สำหรับผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช พด.14 ไตรโคเดอร์มา การใช้ฟื้นฟูสภาพนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ผลิตสารบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็นและกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์เหล่านี้ จึงเป็นการใช้นวัตกรรมทดแทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในสภาวะที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง

นายศรี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมหมอดินอาสาและเกษตรกรเครือข่ายภายใต้โครงการการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรให้บริการปัจจัยการผลิตด้านผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ต่างๆ ผ่านทางสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด มีศูนย์ถ่ายทอดความรู้ซึ่งดำเนินงานโดยหมอดินอาสากระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และได้ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพแก่เกษตรกรเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรโดยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่ง พด. ที่หลากหลาย

Advertisement

ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินมี พด.1 – พด.14 ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์เหล่านี้กรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนสู่เกษตรกรเพื่อใช้เป็นปัจจัยในการนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ สารป้องกันแมลงศัตรูพืช และจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืช สามารถนำไปใช้ในการปลูกพืชต่างๆ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี จึงนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญยังช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายในการส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ลดการใช้ปุ๋ยเคมีราคาแพง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมหมอดินอาสาและเกษตรกรเครือข่ายภายใต้โครงการการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรให้บริการปัจจัยการผลิตด้านผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ต่างๆ ผ่านทางสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด มีศูนย์ถ่ายทอดความรู้ซึ่งดำเนินงานโดยหมอดินอาสากระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในสภาวะที่ปุ๋ยเคมีราคาแพงได้เป็นอย่างดี

สำหรับ สถานีพัฒนาที่ดินตรังถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรกรมพัฒนาที่ดินเพื่อลดการใช้สารเคมีจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรจังหวัดตรังอย่างกว้างขวาง โดยผ่านการถ่ายทอดความรู้ให้กับเครือข่ายหมอดินอาสาจากนั้นขยายผลต่อไปยังเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตรัง จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจังหวัดตรังและเครือข่ายรวม 11 ราย ช่วยยกระดับสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับเกษตรกรผู้ผลิตปุ๋ยให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง

โดยจุดเริ่มต้นความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงฯ จังหวัดตรังและเครือข่าย   เริ่มต้นจากการผลิตเพื่อใช้เอง หลังจากนั้นนายพรชัย ชั้นสกุลซึ่งเป็นผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ของจังหวัดตรัง มีวัสดุคือมูลไก่ค่อนข้างเยอะ จึงมีแนวคิดในการนำมูลไก่มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ประกอบด้วยจังหวัดตรังมีโรงงานผลิตน้ำยางและโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันหลายแห่ง ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีกากตะกอนหรือมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนำมาผลิตปุ๋ยหมัก ผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ทางสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดตรังและหมอดินอาสาจึงได้เข้ามาถ่ายอบรวมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับกลุ่มและเครือข่ายจนเกิดความเข้มแข็งและได้เจรจาซื้อขายผลผลิตปุ๋ยกับกยท.ตรังจนเป็นตลาดหลักในการรับซื้อจนถึงปัจจุบัน

ด้านนายภิรมย์ หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท.ในฐานะหน่วยงานที่รับสงเคราะห์ยางพาราซึ่งเกษตรกรที่ขอสงเคราะห์ยางพาราจะได้รับการสนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์ไร่ละ 300 บาท ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา กยท. ตั้งเป้าในการรับซื้อประมาณ 1,000 ตัน แต่กลุ่มสามารถผลิตได้ไม่ถึง 1,000 ตัน ส่วนปี 2565 ตั้งเป้ารับซื้อไว้ประมาณ 1,500 ตันในราคา 6.80 บาท/กก.หรือ 6,800 บาท/ตันในขณะที่ราคาปุ๋ยเคมีอยู่ที่ประมาณ 34 บาท/กก.หรือ 34,000 บาท/ตันจะเห็นว่าปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงภายใต้การส่งเสริมของกรมพัฒนาที่ดินจะมีราคาต่ำกว่าถึง5 เท่าช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก ทั้งนี้ ในอนาคต กยท.จังหวัดตรังได้ประเมินความต้องการการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในอนาคตไว้ไม่ต่ำกว่า 4,000-4,500 ตัน/ปี ในขณะที่กำลังผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงฯ และเครือข่าย 11 แห่งในปัจจุบันมีกำลังผลิตเพียง 1,000-1,500 ตัน/ปี เท่านั้น ซึ่งทราบว่าขณะนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงฯ กำลังเตรียมแผนขยายเครือข่ายผู้ผลิตให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดตรัง เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรและ กยท.ตรังในอนาคต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image