ทอดน่อง ‘พระตำหนักดาราภิรมย์’ เปิดสัมพันธ์ล้านนา-กรุงเทพฯ จากราชสำนักสู่ประชาชน

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ทอดน่องท่องเที่ยว ออกอากาศสดเมื่ออังคารที่ 27 พ.ย.มากมายด้วยรอยยิ้มเสียงหัวเราะและข้อมูลเชิงลึกจาก 3 วิทยากร

นับเป็นอีกหนึ่งทริปสุดประทับใจที่ถูกถ่ายทอดผ่านรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ซึ่งในฤดูหนาวเช่นนี้ (อดีต) สองกุมารสยามชวนกันแพคกระเป๋าหอบเสื้อกันหนาวไปแอ่วนครพิงค์เชียงใหม่ มุ่งหน้าอำเภอแม่ริมอันเป็นที่ตั้งของ “พระตำหนักดาราภิรมย์” ที่ประทับของ “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” บุคคลสำคัญในห้วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชนขนแผนที่ล้านนามาทั้งอาณาจักร เปิดประเด็นย้อนหลังไปตั้งแต่ยุคหริภุญไชย ไล่ยาวมาจนถึงความยิ่งใหญ่ของเชียงใหม่ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าดูได้ในสมัยพระเจ้าติโลกราชที่ทรงลงไปยึดเมืองเชียงชื่น นั่นก็คือ ศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ถึงขนาดทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงอยู่ไม่สุข เพราะกษัตริย์เชียงใหม่ขยายอำนาจลงมาแล้ว พระองค์จึงต้องย้ายไปประทับยังเมืองพิษณุโลกเพื่อรบกันโดยเฉพาะ สุดท้ายพ่ายแพ้ พระบรมไตรโลกนาถตัดสินพระทัยออกบวชขอเมืองพิษณุโลกคืน

“ทั้งหมดเป็นเรื่องการค้า เชียงใหม่ต้องการขยายอำนาจลงไปยึดอ่าวไทย ขณะเดียวกันอยุธยาก็ต้องการขยายอำนาจมายึดทรัพยากรทางล้านนา เรื่องเหล่านี้ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” สุจิตต์เล่าอย่างกระชับฉับไว

จากนั้น เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผายมือเชิญวิทยากรกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ราชสำนักอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

Advertisement
อนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมีหน้าพระตำหนักดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และขรรค์ชัย บุนปาน ก่อนเริ่มถ่ายทำรายการ

ศาสตราจารย์พิเศษธงทองรับไม้ต่ออย่างราบรื่นโดยอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของล้านนาเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้วว่า เชียงใหม่เคยอยู่ใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาช้านาน หากเลือกได้คงอยากเป็นอิสระ แต่ถ้าต้องหาพันธมิตร ย่อมมองมาทางสยาม ซึ่งในเวลานั้นคือยุคพระเจ้าตาก โดยมีศัตรูร่วมกันคือพม่า เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ จึงใกล้ชิดกัน

ต่อมา เมื่อพม่าตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ เชียงใหม่ก็ยิ่งกระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ เพื่อสู้กับโจทย์ใหม่คือทำอย่างไรให้รอดจากการกระทบกระทั่งกับอังกฤษ นี่คือเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเจ้า ผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ “พระเจ้าอินทวิชยานนท์”

“พระเจ้าอินทวิชยานนท์มีพระราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งประสูติแต่เจ้าแม่ทิพเกสร คือเจ้าดารารัศมี ซึ่งมาเป็นพระราชชายาในหลวง ร.5 ที่กรุงเทพฯ มีพระราชธิดาด้วยกัน 1 พระองค์คือ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี แต่สิ้นพระชนม์เมื่อ 3 ชันษาเท่านั้น พระราชชายาดารารัศมีประทับอยู่กรุงเทพฯจนสิ้นรัชกาลที่ 5 เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ก็กราบทูลลาขึ้นมาเชียงใหม่ คุ้มท่านอยู่ในตัวเมือง แต่มีที่ประทับอีกที่หนึ่งคือจุดที่เรายืนอยู่นี้ เวลานี้เราเรียกว่าพระตำหนักดาราภิรมย์ เดิมเรียกสวนเจ้าสบาย ท่านอยู่เชียงใหม่จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 7 ทายาทเป็นผู้รับพระมรดก ต่อมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จุฬาฯคิดจะขยายส่วนงาน นำมหาวิทยาลัยมาตั้งที่เชียงใหม่จึงเจรจาขอซื้อ”

Advertisement

เล่าไม่ทันจบ เสียงเฮลิคอปเตอร์แหวกอากาศเพิ่มความตื่นเต้น ศาสตราจารย์พิเศษธงทองปล่อยมุขพร้อมสอดแทรกประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่อย่างแยบยลว่าไม่ได้จ้างมาแต่อย่างใด

“เฮลิคอปเตอร์นี่มาเองนะครับ ไม่ได้จ้าง ไม่ใช่หนังฉลอง ภักดีวิจิตร เพราะหน่วยบินตำรวจอยู่ที่นี่ เดิมอาคารหลังนี้เป็นออฟฟิศตำรวจ พอคืนพื้นที่บางส่วน จุฬาฯก็บูรณะ”

จากนั้นได้เวลาถอดรองเท้าเข้าตำหนัก ซึ่งจุดแรกจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์จากอดีตถึงปัจจุบัน แล้วเข้าสู่ห้องทรงพระสำราญอันเปรียบเสมือนห้องรับแขก ซึ่งมากมายด้วยภาพถ่ายเก่าที่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี อาทิ ภาพพระตำหนัก 3 ชั้นในเขตวังหลวงที่กรุงเทพฯ

“ในสี่แผ่นดินระบุว่าตำหนักของพระราชชายานั้นสวยงาม ใหญ่โต หรูหรามาก เงินค่าก่อสร้างมาจากพระราชบิดา เพื่อรักษาเกียรติยศให้สมฐานานุรูป ชาววังข้าราชบริพารและพระองค์เอง แต่งพระองค์เองอย่างคนเหนือ คือนุ่งซิ่น ไม่ใช่โจงกระเบน ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเสวย เหมือนอย่างเชียงใหม่”

จากนั้นชมเครื่องเรือนต่างๆ อย่างพระแท่นบรรทม ซึ่งมีหมอนที่ทำขึ้นใหม่โดยใช้ตราเดิมของพระราชชายาฯ คือรูปดาวมีแฉก คือ “ดารารัศมี”

ห้องประทับสำราญพระอิริยาบทเป็นการส่วนพระองค์ สำหรับรับแขก เสวย หรือเข้าเฝ้า ถัดไปเป็นเฉลียงร่มรื่น
พระแท่นบรรทมมีหมอนที่ทำขึ้นใหม่ โดยปักตราเดิม รูปดาวมีแฉก
สิ่งของจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของร่วมสมัยหรือตกทอดสู่ทายาทซึ่งบริจาคให้พิพิธภัณฑ์

ถัดจากนี้ เข้าสู่ห้องจัดแสดงเครื่องใช้อันงดงามตระการตา อาทิ โต๊ะเครื่องแป้ง อีกทั้งเครื่องแก้วเจียระไนกลิ่นอายอารยธรรมตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับบริจาค โดยน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับประทานพระมรดกตกทอด เช่น เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ และนายสักก์ดนัย ณ เชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายสิ่งของพระราชทาน อาทิ

กำไลข้อพระกร ผูกลายพระปรมาภิไธย จปร. และพระธำมรงค์ ซึ่ง ร.5 ทรงถอดจากนิ้วก้อยเมื่อพระราชชายาฯขึ้นไปทูลลากลับเชียงใหม่ ในปี 2451

“มีเรื่องเล่าว่าทรงปฏิบัติตามธรรมเนียมเมืองเหนือ ทรงไว้พระเกศายาว สยายพระเกศาที่มุ่นมวยลงเช็ดพระบาท เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ร.5 ก็ทรงถอดแหวนพระราชทาน แล้วโปรดให้ทำหีบคำอวยพร มีพระปรมาภิไธยประดับเพชร ส่งขึ้นมาล่วงหน้าดักที่กลางทางให้พระราชทานเวลาที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีพระชนมายุครบ 3 รอบพอดี”

ศาสตราจารย์พิเศษธงทองยังพาเข้าสู่ประตูเล็กๆ ที่นำไปสู่ห้องสรงแบบฝรั่ง จากนั้นพาชมเปียโนพระราชทานที่พิเศษยิ่งด้วยคีย์ซึ่งทำจากงาช้างล้ำค่า กล่องบุหรี่ไม้มะค่า จานชาม แล้วเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 7

“ในปี 2469 ร.7 เสด็จขึ้นมาเชียงใหม่ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่มาถึงเชียงใหม่ มีการต้อนรับใหญ่โต เจ้าเมืองทั้งหลายมารวมกันจัดงานรับเสด็จ มีกระบวนช้าง 50-60 เชือก” เล่าพร้อมชวนให้ชม “กูบ” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 7 เคยประทับ

“กูบ” ที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีประทับครั้งประพาสเชียงใหม่

จากจุดนี้ เลี้ยวเข้าชมห้องหับที่มากมายด้วยภาพเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่เรียงลำดับตั้งแต่เจ้ากาวิละจนถึงเจ้าแก้วนวรัฐ

จากนั้น เลี้ยวเข้าชมห้องเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่เรียงลำดับจาก กาวิละถึงเจ้าแก้วนวรัฐ

ห้องสุดท้ายจัดแสดงเครื่องแต่งพระองค์ทั้งของจริงและจำลอง เปิดปิดไฟด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อความประหยัดและรักษาสภาพผืนผ้า

17 นาฬิกา 15 นาที อากาศกำลังเย็นสบาย

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ได้จังหวะเล่าถึงเรื่องราวครั้งยังเป็นนักศึกษาโบราณคดี นั่งรถไฟจากหัวลำโพงมาเชียงใหม่ จำได้ว่าตั๋วราว 70 บาท

“หาเงินแทบตาย” เจ้าตัวบอกพร้อมหัวเราะร่วนก่อนเล่าอีกว่า บางครั้งก็นั่งรถยนต์มาลงที่จังหวัดพิษณุโลก แล้วต่อไปยังกำแพงเพชร ตาก ลำปาง พิจิตร พะเยา ขึ้นมาเชียงใหม่ มีช่วงที่ขออาศัยนอนบนรถขนของ ชาวบ้านเห็นใจว่าเป็นนักศึกษาก็ให้นั่งฟรี ตนและสุจิตต์ยังเคยไปขอนอนค้างคืนและขอข้าวพระกินที่วัดศรีโคมคำ เมืองพะเยา เพื่อสำรวจแหล่งโบราณคดีด้วยตัวเอง พบพระพุทธรูปหินทรายและร่องรอยหลักฐานอื่นๆ มากมาย

ภายหลังจึงไปสร้างอุโบสถกลางน้ำ ริมกว๊านพะเยาถวายวัด โดยให้ อังคาร กัลยาณพงศ์ วาดจิตรกรรมฝาผนัง

“สมัยยังเรียนหนังสือ อยากไปไหนไปทันที นัดกันนั่งรถไฟหัวลำโพง บางทีก็ไปมหาชัย เวลาไม่มีเงินก็ไปนั่งตามบันได พอมีนายตรวจมาตรวจตั๋วก็บอกไปตรงๆ ว่าไม่มีตังค์ แต่ผมอยากไป (หัวเราะ) ตอนหลังมาสร้างบ้านที่อำเภอแม่ริม ก็ได้มาชมพระตำหนักดาราภิรมย์หลายครั้ง เป็นสถานที่ที่สงบและสวยงาม ได้รับการบูรณะอย่างดี ต้องชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่นำคุณค่ากลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน ทุกที่ในเมืองไทยควรทำได้อย่างนี้”

ส่วนหนึ่งของภาพถ่ายเก่าล้ำค่าที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
สวนเจ้าสบาย-พระตำหนักดาราภิรมย์ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซื้อจากทายาท บูรณะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์
อิทธิพลตะวันตกปรากฏชัดในสถาปัตยกรรม
กุหลาบจุฬาลงกรณ์ บานสะพรั่งที่ตำหนักดาราภิรมย์ในฤดูหนาว

ปิดรายการด้วยคำสารภาพของ สุจิตต์ ที่บอกว่า ต้องใช้งานในยุคของเจ้าดารารัศมีมาซ้อมดนตรีไทย คือเพลงน้อยใจยา ที่ร้องว่า “ชมดอกไม้เบ่งบานสลอน” กรมศิลปากรเรียก “ลาวดวงดอกไม้”

“เจ้าดารารัศมีคล้ายๆ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมประเพณีล้านนา ลงไปสู่กรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน ก็นำวัฒนธรรมกรุงเทพฯขึ้นมาสู่เชียงใหม่ เช่น พาครูปี่พาทย์จากภาคกลางขึ้นมาเล่นที่คุ้มในเชียงใหม่ และยังเอาพระราชนิพนธ์อิเหนามาเล่น ขณะเดียวกัน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียนทั้งหลายทั้งปวงที่คนกรุงเทพฯรู้จัก ก็มาจากเจ้าดารารัศมี เพราะกรมศิลป์เชิญครูที่เคยรับใช้เจ้าดารารัศมีไปสอน รวมถึงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา มงแซะ แซะมง ตะลุ่มตุ้มๆ” สุจิตต์เล่าอย่างอารมณ์ดีพร้อมปิดท้ายว่า นี่คือของดีๆ ไพเราะและคลาสสิกมาก

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสนุกสนานจากรายการที่พร้อมเจาะลึกประวัติศาสตร์ในหลากมิติ ผ่านการเดินทางของขรรค์ชัยและสุจิตต์เป็นประจำทุกอังคารสุดท้ายของเดือน

 


 

พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จัดงานวันพระราชชายาดารารัศมีระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2561 มีพิธีบำเพ็ญกุศล วางพวงมาลา นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “ประพาสเวียงพิงค์” เป็นเวลา 1 ปี นำเสนอภาพถ่ายครั้งรัชกาลที่ 7 ประพาสเชียงใหม่ อาทิ รูปเจ้านายเมืองเหนือฟ้อนรับเสด็จ, การเชิญขันพระขวัญ, ขบวนช้างที่แต่งกายอย่างงดงาม เป็นต้น

ความพิเศษอยู่ที่ความคมชัดของภาพอย่างที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน เนื่องจากได้ภาพต้นฉบับจากทายาทเจ้าพระยามุขมนตรี ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลในช่วงเวลานั้น โดยนอกจากจะมีให้ชมอย่างตื่นใจในนิทรรศการแล้ว ยังมีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือทรงคุณค่าอีกด้วย

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. หยุดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม 20 บาท โทร 0-5329-9175

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image