ครั้งแรก นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ 2 อัครสาวก จากมหานทีคงคาสู่ไทย

ครั้งแรก นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ 2 อัครสาวก จากมหานทีคงคาสู่ไทย

“เราถือเสมือนว่า พระองค์ท่าน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอัครสาวก เสด็จมาเอง” เป็นคำกล่าวของ นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยา 980 ที่กำลังร่วมกับภาครัฐ ได้แก่ รัฐบาลไทย กระทรวงวัฒนธรรม และรัฐบาลอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย รวมถึง วัดไทยพุทธคยาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จัดงานสำคัญ

อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 ก.พ.ถึง 19 มี.ค.2567 ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคาลุ่มน้ำโขง

Advertisement

สถาบันโพธิคยาฯ เป็นองค์กรอิสระไม่หวังผลกำไร จากการรวมตัวของพุทธบริษัทไทย และทำงานใกล้ชิดกับพุทธบริษัทในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะกัมพูชา พม่า ลาว รวมถึงเวียดนาม กิจกรรมใหญ่ๆ ที่ทำให้ชื่อของโพธิคยาเป็นที่รู้จัก ได้แก่ ครั้งที่ 1 ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน: ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง 21 พ.ค.-4 มิ.ย. 2560 ครั้งที่ 2 ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง: พุทธศาสตร์การทูตสู่สันติภาพโลก ระหว่าง 15-31 ต.ค.2562 ทั้ง 2 ครั้ง มีประชาชน 5 ประเทศได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วม ก่อนสะดุดหยุดกิจกรรม จากการแพร่ระบาดของโควิด และกลับมาอีกครั้ง ในนามธรรมยาตรา ครั้งที่ 3 “ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคาลุ่มน้ำโขง {Ganga-Mekong Holy Buddha Relics Dhammayatra} (อินเดีย ไทย)”

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

รัฐผนึกเอกชน ‘ไทย-อินเดีย’ ร่วมอัญเชิญ

Advertisement

การอัญเชิญพระบรมสาริกธาตุพร้อมด้วยพระอรหันตธาตุครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ภาครัฐไทย-อินเดีย และภาคเอกชน ร่วมใจน้อมจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567

เปิดโอกาสให้พุทธบริษัทดำเนินกิจกรรมอันเป็นมหามงคลร่วมกัน ร่วมนำหลักธรรม สร้างสันติธรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศตวรรษแห่งธรรม (Dharma Centuries) ในแผ่นดินเอเชีย อันเป็นแผ่นดินกำเนิดของพระพุทธศาสนา

สร้างความสงบสุขแก่สังคมและประเทศชาติ เชื่อมต่อและเผยแผ่พลังศรัทธาของประชาชนในพุทธธรรมของทั้ง 2 ภูมิภาค คือ อินเดียและลุ่มแม่น้ำโขงให้มั่นคง

ย้อนกลับไปที่ พุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน หรือบรรลุมหาปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ 80 พรรษาที่เมืองกุสินารา พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ยังเป็นที่สักการะนับถือในฐานะสัญลักษณ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า กษัตริย์แห่งวงศ์มัลละ (The Mallas) แห่งเมืองกุสินารา ให้โทณพราห์มณ์ เป็นผู้ดำเนินการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ตามแบบพิธีกษัตริย์สากล (จักราวาติน) แล้วแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแบ่งถวายให้แก่กษัตริย์และภิกษุ 8 ส่วน ได้แก่

1.พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งเมืองมคธ 2.กษัตริย์ลิจฉวีแห่งเมืองเวสาลี 3.กษัตริย์ศากยะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ 4.กษัตริย์มัลละแห่งเมืองกุสินารา 5.กษัตริย์ถูลิยะแห่งเมืองอัลลกัปปะ 6.กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา 7.กษัตริย์โกลิยะแห่งเมืองรามคาม 8. มหาพราหมณ์แห่งเมืองเวฏฐทีปกะ

เริ่มแรกพระบรมสารีริกธาตุได้เก็บรักษาไว้ในสถูปหลายแห่งและต่อมากระจายไปในที่ต่างๆ

จากพิพิธภัณฑ์ ‘นิวเดลี’

สู่ พิพิธภัณฑ์ ‘พระนคร’

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาประเทศไทยครั้งนี้ อยู่ในการดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นิวเดลี ขุดขึ้นมาจากปิปรหวา (Piprahwa) เมืองโบราณ ในเขตสิทธารถนคร (Siddharthnagar) ที่รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของกบิลพัสดุ์

เนินดินที่ปิปรหวานั้น ค้นพบโดย นายวิลเลียม แคล็กซ์ตัน เปปเป้ (William Claxton Pepp?) (1852-1936) วิศวกรอังกฤษในปี 1898 รวมแล้วพบพระบรมสารีริกธาตุกว่า 22 ชิ้น 20 ชิ้นถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นิวเดลี อีก 2 ชิ้นประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์อินเดีย เมืองโกลกาตา

หลังการค้นพบในปี ค.ศ 1898 (พ.ศ.2441) ต่อมาปี ค.ศ.1899 รัฐบาลอังกฤษถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์บนยอดสุวรรณบรรพต หรือภูเขาทอง

นายเปปเป้ได้มอบโบราณวัตถุอีกส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู แก่พระศรีสุภูธี มหานายเกเถโร ผู้ช่วยขุดค้น เก็บไว้ที่ Waskaduwaa Viharaya ใน Kalutara ของศรีลังกา และมีการมอบให้กับทางเมียนมาด้วย

สำหรับพระสารีริกธาตุหรือพระอรหันตธาตุ ของ พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา และพระมหาโมคคัลลานะพระอัครสาวกเบื้องซ้าย พบที่เมืองสาญจี (Sanchi) และเมืองสัทธารา (Satdhara) (ห่างจากเมืองสาญจีไปทางตะวันตกประมาณ 10 กม.) ในรัฐมัธยประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2394 (ค.ศ.1851)

พันตรีอเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Major Alexander Cunningham) และ ร้อยเอก เฟรดเดอริก ชาร์ลส์ เมซีย์ (Captain Frederick Charles Maisey) ผู้ค้นพบได้ขายให้กับพิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (V&A Museum) ในประเทศอังกฤษ สมาคมมหาโพธิในศรีลังกาและอินเดีย ได้เรียกร้องขอพระธาตุคืน และประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948)

ทันทีที่ได้นำกลับมา พระธาตุดังกล่าวได้นำไปจัดแสดงทั่วเอเชีย ก่อนนำกลับไปประดิษฐานที่เมืองสาญจี ในปี พ.ศ.2495 (ค.ศ.1952) ซึ่งถือเป็นช่วงเหตุการณ์ที่มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ของพระพุทธเจ้า การฟื้นฟู พุทธศาสนาทั่วเอเชีย และโครงการสร้างชาติฟื้นฟูวัฒนธรรม พร้อมกับการประกาศอิสรภาพประเทศอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 1947

พระสารีบุตรได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา และมีคุณธรรมในด้านความกตัญญู เมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า “อุปติสสะ” เมื่อวันที่กำเนิด ครอบครัวข้างเคียงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า “โกลิตะ” หรือต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ

ท่านอุปติสสะได้เสาะหาความรู้ จนได้พบกับพระอัสสชิเถระ ซึ่งได้สำแดงหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า

“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต

เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้..”

เป็นหลักธรรมที่ดังก้องในใจศาสนิกและประชาชนทั่วไปมากว่า 2 พันปี เมื่อท่านอุปติสสะได้ฟังก็บรรลุโสดาบัน กราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะไปบอกเพื่อนสนิท คือ ท่านโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบัน ก่อนจะบวชและบรรลุอรหันต์ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหตุการณ์ถัดไป พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ให้กับพระอรหันต์ 1,250 รูป

พิธีบวงสรวงการจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา

มหามงคล นมัสการ ณ มณฑลพิธี

‘ท้องสนามหลวง’ และ 3 ภูมิภาค

การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งชาวพุทธให้ความสำคัญและเป็นมหามงคล เสมือนว่าเป็นการเสด็จสุวรรณภูมิของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนด้วยดี และสั่งการอย่างรวดเร็วจากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มอบหมายให้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมาขับเคลื่อนโครงการนี้

พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ จากอินเดีย จะมาถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ในเวลา 13.35 น.ของวันที่ 22 ก.พ.

เมื่อมาถึงจะมีพิธีเจริญชัยมงคลคาถา ที่ห้องรับรองกองบิน 2

จากนั้น นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม พร้อมคณะ จะอัญเชิญมาพักประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

จากนั้นวันที่ 23 ก.พ. จัดริ้วขบวนอย่างยิ่งใหญ่ อัญเชิญจากพิพิธภัณฑ์ฯ ไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีที่จัดสร้างพิเศษที่ท้องสนามหลวง และเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการ

นายกฯเศรษฐา ยังได้กล่าวด้วยตนเอง เชิญชวนศาสนิกชนรวมพลังแห่งศรัทธา เข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย ประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 23 ก.พ.-3 มี.ค.2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และ 3 ภูมิภาค ตั้งและเวลา 09.00-20.00 น. ของทุกวัน

24 ก.พ. ถึง 3 มี.ค. : ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

5-8 มี.ค. : ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

10-13 มี.ค. : ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี

15-18 มี.ค. : ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย, กระทรวงวัฒนธรรม และสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image