ทส. พร้อมจัดการประชุมระดับภูมิภาคทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร

ทส. พร้อมจัดการประชุมระดับภูมิภาคทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร ครั้งที่ 2 และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 11

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แถลงข่าวความพร้อมการจัดประชุมระดับภูมิภาคทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร ครั้งที่ 2 และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “Accelerating Ocean Science Solutions for Sustainable Development” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2567 ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัด ทส.เป็นประธาน โอกาสนี้นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดี ทช. นายเวนซี ชู หัวหน้าสำนักงานคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC/WESTPAC) รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส.และ ทช. ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 อาคารกระทรวง ทส.

นายเถลิงศักดิ์เผยว่า การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ และผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้มีโอกาสนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิจัย นวัตกรรม แบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยตนในนามของ ทส. ต้องขอขอบคุณสำนักงาน IOC/WESTPAC สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้

Advertisement

นายชิดชนกกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการจัดการประชุมพร้อมกัน 2 การประชุม เป็นระดับภูมิภาค 1 การประชุม และระดับนานาชาติ 1 การประชุม ทช.และ IOC/WESTPAC เป็นหน่วยหลักในการจัดประชุม โดยในส่วนของทีมประเทศไทย มีหน่วยงานที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ คือ สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทั้งนี้ ได้เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ณ ปัจจุบันมีผู้สนใจร่วมลงทะเบียนแล้วมากกว่า 1,300 คน จากกว่า 60 ประเทศ ในภาคของการนำเสนอผลงานที่แยกออกเป็น 25 หัวข้อ และ 1 Special Forum มีผู้สนใจส่งผลงานทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์รวม 831 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ 13 เรื่องและการเสวนา 12 เรื่อง อีกทั้งมีการออกบูธนิทรรศการของภาคเอกชน ภายในงานมีการมอบรางวัลการนำเสนอผลงานดีเด่นให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ จำนวน 6 รางวัล รวมถึงการมอบรางวัลให้กับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกที่มีผลงานโดดเด่นและทำคุณประโยชน์ให้กับภูมิภาค นอกจากนี้ ได้เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งภาพถ่ายเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัล ในหัวข้อ “การฟื้นฟูแนวปะการัง” โดยสามารถดูรายละเอียดการประกวดภาพถ่ายได้ทาง ioc-westpac.org/photo-competition.

นายเวินซี ชู หัวหน้าสำนักงาน IOC/WESTPAC ในฐานะผู้แทนองค์กรที่เป็นหน่วยประสานงานภายใต้ยูเนสโก กล่าวแสดงความขอบคุณและชื่นชมประเทศไทยที่รับเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ซึ่งงานวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่สามารถต่อยอดไปสู่การบริหารจัดการ การอนุรักษ์ และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพของมหาสมุทร จะนำไปสู่ความยั่งยืนเศรษฐกิจภาคทะเลทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้าน รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความขอบคุณสำนักงาน IOC/WESTPAC และ ทส. ที่เปิดโอกาสให้มีเวทีวิชาการระดับนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่บุคลากรทางการวิจัยของไทย จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับภาคส่วนต่างๆ จากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลรุ่นใหม่ ที่จะได้สร้างความเข้มแข็งและขยายเครือข่ายวิจัยไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนา “วิทยาศาสตร์ที่จำเป็น เพื่อมหาสมุทรที่เราต้องการ”

Advertisement

ในการนี้ ทช. ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมการประชุมวิชาการภูมิภาคและนานาชาติฯ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมได้ทาง www.iocwestpac2024.com จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2567 ผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้จะก่อให้เกิดองค์ความรู้และความร่วมมือ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายด้านทะเลและมหาสมุทรที่มีความเข้มแข็ง ไม่เพียงแต่ในระดับประเทศ แต่รวมถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก อีกทั้งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของประเทศไทยสู่นานาอารยประเทศ ที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ทศวรรษแห่งมหาสมุทรให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ทะเลและมหาสมุทรที่มีความยั่งยืนพร้อมทั้งส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปยังเยาวชนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะสานต่อการอนุรักษ์ด้านทะเลและมหาสมุทร ให้มีความยั่งยืนสืบไป “นายชิดชนกกล่าวทิ้งท้าย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image