เป๊ะแบบ ‘ปอย ตรีชฎา’ เจาะชุดเจ้าสาวดีเทลแน่น เปิดประวัติศาสตร์ ‘เพอนารากัน’ 

ซ้าย-ชุดแต่งงานของชาวเพอนารากันในมาเลเซียในอดีต (ภาพจาก ศิลปนิพนธ์ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง 'มนต์เสน่ห์แห่งเพอนารากัน มรดกทางวัฒนธรรมสู่ผลงานเครื่องประดับ' โดย ช่อฟ้า หงษ์สิทธิชัยกุล)

เป๊ะแบบ ‘ปอย ตรีชฎา’ ชุดเจ้าสาวดีเทลแน่น เปิดประวัติศาสตร์ ‘เพอนารากัน’

สมรสสมรักเรียบร้อยแล้ว สำหรับคู่หวาน ปอย ตรีชฎา และโอ๊ค บรรลุ ที่ทำเอาน้ำตาลทั้งภาคพื้นทะเลภูเก็ตจืดชืดลงชั่วคราว

เจ้าบ่าว งามสง่าด้วยชุดสากล กลัดเครื่องประดับที่อก ขณะที่เจ้าสาว งดงามตามประเพณีด้วยชุด ‘บาบ๋า’ สะดุดตาด้วย ‘ดอกไม้ไหว’ (อ่านข่าว ‘ปอย ตรีชฎา’ สวม ชุดบาบ๋า เข้าพิธีวิวาห์กับหวานใจ ‘โอ๊ค บรรลุ’ ที่ภูเก็ต)

ชุดแต่งงานของสตรีภูเก็ตเช่นนี้ มาจากวัฒนธรรม ‘เพอนารากัน’ ที่ผสมผสานระหว่างมลายูและจีนฮกเกี้ยน คำดังกล่าวมีความหมายว่า ‘ผู้ที่เกิดในท้องถิ่น’ หรือ ‘เกิดที่นี่’ กล่าวโดยสรุปคือ ชาวเพอนารากัน หมายถึง กลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีน

Advertisement

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ  ‘บาบ๋า’ และ ‘ย่าหยา’ ว่า

‘เรียกชายที่เป็นลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซีย ว่า บาบ๋า, คู่กับ ย่าหยา ซึ่งหมายถึงหญิงลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดใน มลายูและอินโดนีเซีย’

สำหรับชาวเพอนารากันในไทย มักอยู่ในจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันโดยเฉพาะภูเก็ต พังงา ระนอง และตรังโดยทั้งชายและหญิง ถูกเรียกรวม ๆ ว่า บ้าบ๋า หรือบาบา ส่วน ย่าหยา เป็นเพียงชื่อของชุดสตรี ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกกระจายตัวอยู่แถบจังหวัดปัตตานี สงขลา และนราธิวาส

Advertisement

ช่อฟ้า หงษ์สิทธิชัยกุล ค้นคว้าไว้ในศิลปนิพนธ์ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง ‘มนต์เสน่ห์แห่งเพอนารากัน มรดกทางวัฒนธรรมสู่ผลงานเครื่องประดับ’ เมื่อ พ.ศ.2559 ระบุว่าชุดสตรีเพอนานากัน ประกอบด้วยชุดครุยยาว ตัวหลวม แขนยาว ปลายแขนสอบ คอเป็นรูปตัววี ผ่าหน้า เรียกในกลุ่มชาวมลายูว่า ‘บาจู ปันจัง’ นิยมตัดด้วยผ้าฝ้าย หรือผ้ามัสลิน ใช้ประกอบกับชุดเครื่องประดับที่เรียกว่า ‘โกรสัง’ ไว้สำหรับสวมใส่ในโอกาสที่เป็นพิธีการสำคัญ เช่น งานแต่งงาน ถือเป็นชุดที่ได้รับอิทธิพลจากชุดสตรีในปีนัง มะละกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับเอกลักษณ์ของชุดในในภูเก็ต คือการประยุกต์เป็นเสื้อครุยครึ่งท่อนเพื่อความคล่องตัว สั้นขึ้นคลุมสะโพก โดยยังคงสวมใส่เครื่องประดับและทรงผมในลักษณะเดิม

 

เครื่องประดับชาวเพอนารากัน เรียกว่า ชุดโกรสัง ประกอบด้วยเครื่องประดับ 3 ชิ้น มีลักษณะคล้ายเข็มกลัดเสื้อขนาดต่างกัน

ชิ้นแรก คล้ายรูปหัวใจ ประดับด้วยเพชรซีก หรือเพชรลูก

ชิ้นที่ 2 และ 3 มีลักษณะเป็นวงกลมขนาดเท่ากัน ภายในวงกลมตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้ เรียกว่า ชุดแม่และลูก ทำหน้าที่กลัดเสื้อแทนกระดุม

ส่วน ‘ฮั่วก๋วน’ คือ ดอกไม้ไหว หรือมงกุฎเจ้าสาว ใช้ในพิธีแต่งงาน โดยใช้กับการเกล้ามวย ‘ชักอีโบย’ ของเจ้าสาวเท่านั้น มีลักษณะเป็นมงกุฎล้อมรอบมวยผม ประดับเป็นดอกไม้ไหว สมัยโบราณทำด้วยเส้นเงิน เส้นทองแท้ และไข่มุก ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ผ้า และดิ้นเงิน ดิ้นทองประกอบกับลูกปัดแทนไข่มุก

ฮั่วก๋วนแบบภูเก็ต น่าจะเกิดจากการผสมผสานระหว่างฮั่วก๋วนแบบมาเลเซีย-สิงคโปร์ในส่วนของฐานรอบศีรษะ กับฮั่วก๋วนแบบอินโดนีเซีย คือ ส่วนของดอกไม้ไหว

ซ้าย-ภาพถ่ายเก่า จากศิลปนิพนธ์ เรื่อง ‘มนต์เสน่ห์แห่งเพอนารากัน มรดกทางวัฒนธรรมสู่ผลงานเครื่องประดับ’ โดย ช่อฟ้า หงษ์สิทธิชัยกุล ขวา-ปอย ตรีชฎา ครั้งลองสวมใส่เครื่องประดับ

หลั่นเต่ป๋าย คือ สร้อยคอแผงรี โค้งตามลำคอ ทำด้วยทองคำฉลุลายเครือเถา ฝังเพชร ส่งเสริมความสง่างาม

อ่องโบ่ คือ ตุ้มหู นิยมทำจากทอง เงิน หรือนาก ประดับด้วยเพชรซีก มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบติดหู ระย้า ตุ้มหูหางหงส์ รูปแบบจะเข้ากันกับเครื่องประดับชิ้นอื่นๆ ความพิเศษ คือ สามารถถอดส่วนประกอบ สวมแยกชิ้นหรือนำไปใส่หัวแหวนได้

ปิ่นตั้ง มีลักษณะเป็นรูปดอกไม้บานต็มที่ ประดับด้วยเพชรซีก หนือเพชรลูก ตั้งแต่ขนาดใหญ่และเล็ก ใช้เป็นจี้ห้อคอหรือติดเสื้อ รูปร่างเป็นตะกร้าทองคำเล็กๆ ภายในมีดอกไม้ ใบไม้ที่หูกระเช้าทำเป็นตะขอสำหรับเกี่ยวปลายสร้อยคอ

แหวน เครื่องประดับที่สวมติดตัวในชีวิตประจำวัน นิยมทำจากทอง เงิน หรือนาก ประดับด้วยเพชรซีก มีหลากหลายแบบ เช่น แหวนหัวดอกพิกุล แหวนบาแยะ หรือแหวนขนมเปียกปูน แหวนหัวกลม ฯลฯ โดยมีรูปแบบและลวดลายเข้ากับเครื่องประดับชิ้นอื่นเป็นชุดเดียวกัน

กำไลข้อมือเพชรซีก เชื่อว่าเพิ่มพูนโชคลาภ เพราะเสียงพ้องกับคำว่า ‘กำไร’

สำหรับลูกปัดบนชุดของชาวเพอนารากัน ได้รับอิทธิพลการปักจากยุโรป นิยมปักลูกปีดบนเสื้อเป็นลายดอกไม้ ใบไม้ โดยให้นูนขึ้นจากผ้าเล็กน้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image