อดีตในความทรงจำและปีหน้ากับความหวังใหม่ของหนังไทย ในหัวใจนายก ‘ปื๊ด’ ธนิตย์ จิตนุกูล

จากเด็กชายผู้หลงใหลในเสน่ห์ของภาพยนตร์ไทยที่ได้เห็นผ่านจอหนังกลางแปลง มาจนถึงการได้เป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยยาวนานอีก 33 ปี ถึงตอนนี้ ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล ในวัย 62 ปี รั้งตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยที่มีความตั้งใจจะช่วยพัฒนาวงการภาพยนตร์ โดยปื๊ดซึ่งจับจองพื้นที่หน้าจอหนังกลางแปลงทุกครั้งที่มีหนังขายยาไปฉายใกล้บ้านเกิดในจังหวัดสงขลา เล่าว่า กว่าเขาจะมีโอกาสได้เข้าโรงหนัง ก็โตจนเรียนอยู่ชั้นประถม 5 นั่นแหละ

“ตอนนั้นมีโอกาสเข้าไปในเมือง เลยไปแจกใบปลิวหนังแลกกับตั๋วเข้าดู หลังจากนั้นทุกครั้งเวลาเข้าไปในเมืองแล้วอยากดูก็จะขอคนที่ซื้อตั๋วหนัง เนื่องจากยังตัวเล็ก สามารถไปโกหกคนเฝ้าประตูได้ว่าเป็นน้อง เป็นลูก จะได้เข้าไปดูฟรี”

วิธีนี้ได้ผลอยู่พักใหญ่ แต่นานเข้า บ่อยครั้งมากขึ้น คนเดินตั๋วก็จำหน้าได้ แล้วแผนนี้ก็ต้องพับ

เขาสะสมความชอบและประสบการณ์การดูหนังหลากประเภทอยู่นาน กระทั่งโตเป็นวัยรุ่น ขณะเรียนอยู่ปี 3 โรงเรียนช่างกลสยาม หรือวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามในปัจจุบัน เขาก็ตัดสินใจประกาศความตั้งใจต่อหน้าอาจารย์และผองเพื่อนว่ามีความฝันจะเป็นผู้กำกับ

Advertisement

“วันเปิดเทอมครูถามว่ามีใครไม่อยากเรียนไหม เราเป็นคนเดียวที่ยกมือ ครูเห็นก็ตกใจ ถามว่าทำไม ก็บอกไปว่าอยากทำหนัง เป็นผู้กำกับหนัง เพื่อนขำกันใหญ่ คือผมไม่มีสมาธิในการเรียนแล้ว นั่งๆ อยู่ก็คิดพล็อตได้ 1 เรื่อง โดยที่คำสอนของครูลอยออกนอกหน้าต่างหมด”

หากกระนั้นกว่าจะได้ลงมือทำจริงก็อีกหลายปีถัดมา โดยจับมือ อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา ทำ “ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย” ในปี 2528 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก “ปื๊ด-อังเคิล” กลายเป็นผู้กำกับคู่ดูโอ้ เป็นคลื่นลูกใหม่ที่ใครๆ ก็จับตา

“นักวิจารณ์บอกว่าเป็นอีกจังหวะหนึ่งของประวัติศาสตร์หนังไทยที่มีคนทำหนังวัยรุ่นแล้วดูเรียล เอาวัยรุ่นจริงๆ เล่น ไม่ได้เอาพระเอกดังยุคนั้นมาเล่นเป็นวัยรุ่น”

Advertisement

พอปี 2529 เมื่อผลงานเรื่องที่ 2 ปลื้ม ตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้ง “เราก็ร้อนวิชาแล้ว” ปื๊ดเล่าอาการของเขา รวมถึงเพื่อนคู่หูแล้วหัวเราะเบาๆ

ด้วยเหตุนี้ต่างคนจึงต่างแยกกันไปทำหนัง โดยเขาเลือกทำ อย่าบอกว่าเธอบาป หนังแนวสืบสวน สอบสวน ในปี 2530

“ร้อนวิชาไง ก็อยากทำอะไรที่แตกต่าง ไม่ย่ำอยู่กับที่”

ผลคือหนังไม่ประสบความสำเร็จ นั่นกลายเป็นว่า ในช่วงเวลาเพียง 3 ปี “เจอทั้งความสำเร็จที่มาเร็ว ทั้งความสำไม่เร็จก็มาเร็ว ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้”

ซึ่งหนึ่งในที่ได้รู้ คือ “รู้ว่าคนที่ชอบดูหนังไทย เขาชอบความบันเทิงมากกว่า”

ทั้งนี้ ความบันเทิงที่ว่าไม่ได้หมายถึงเรื่องตลกโปกฮา เพราะหนังผีก็ทำให้บันเทิงได้ หนังสืบสวนก็เช่นกัน

“เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังทำไม่ถึง”

ปื๊ดซึ่งประกาศตัวว่าชอบทำหนังทุกแนวบอกด้วยว่า ตอนนี้คิดอยากทำหนังแอ๊กชั่น แต่น่าจะยาก เนื่องจากไม่ค่อยมีคนยอมลงทุนกับการสร้างภาพยนตร์สักเท่าไหร่

ที่มีก็จำกัดงบประมาณมากเหลือเกิน

ทุกวันนี้เขาจึงต้องหาหนทางที่จะทำหนังซึ่งลงทุนไม่มากนัก ขณะเดียวกันก็หันมารับงานสร้างภาพยนตร์จากโครงการต่างๆ ของรัฐที่สนับสนุน

ที่ชื่นชอบการทำหนังนัก เจ้าตัวบอกว่า หลักๆ ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทน

“บางครั้งเรื่องเงินมันไม่ใช่ประเด็น เหมือนเราชอบบรรยากาศในกองถ่าย การได้กินกาแฟแก้วแรกตอนเช้าในกอง นั่งหน้ามอนิเตอร์เห็นเขากำลังเซตฉากกัน มันดีอ่ะ”

แม้กระทั่งปัญหาต่างๆ นานาที่ดาหน้ามาระหว่างการถ่ายทำ เขายังมองเป็นเรื่องสนุกที่จะได้แก้ปัญหา

“ที่ผ่านมาเหมือนกับว่าเราทำสิ่งที่เราชอบ ทำให้มีความสุขทุกเวลา เพราะฉะนั้นคุ้มค่ามาก สมมุติว่าย้อนเวลาได้ แล้วมีอีกทางหนึ่งที่รวยมาก ถามว่าเอาไหม คงไม่เอา อยากทำหนัง ถึงจะมีล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ก็ได้อยู่กับสิ่งที่รัก

“เราอยู่กับสิ่งที่เรารักได้จนวันตายนะ

“นี่ก็คิดว่าควรจะต้องมีงานที่จะวัดดูออกไปอีกสัก 1-2 เรื่อง ดูสิว่าเรายังยิงแม่นพอไหม ประชาชนส่วนใหญ่รับผลงานของเราได้ไหม” ปื๊ดซึ่งมีแนวคิดจะทำหนังผู้สูงอายุ แนวตลกสักเรื่องบอก

ส่วนในฐานะนายกสมาคมผู้กำกับ เจ้าตัวว่า ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้คงไม่กล้ารับตำแหน่ง แต่ตอนนี้ที่กล้า “สาเหตุคือเรามีความรู้สึกว่า คงเหลือเวลาในการทำหนังอีกไม่มากแล้ว เพราะฉะนั้นควรหาเวลาทำอะไรให้กับอุตสาหกรรมหนังไทย ไม่ใช่แค่ทำหนังให้กับตัวเราเองอย่างเดียว”

แผนที่เขาคิด ความฝันที่อยากสร้างให้เป็นจริง นอกจากอยากมีที่ตั้งของสมาคมเองอย่างถาวรแล้ว ยังอยากสร้างโรงหนังของสมาคมสักโรง

“โรงหนังเล็กๆ ที่เลี้ยงดูตัวเองได้ โรงนี้จะฉายหนังไทยของสมาชิกที่อาจจะฉายที่โรงใหญ่แล้วลาโรงไปแล้ว แต่โรงหนังของสมาคมยังรองรับให้ฉายอยู่ หรือไม่ก็เอาไว้ฉายหนังเล็กๆ หนังอาร์ต เพื่อให้คนอีกกลุ่มหนึ่งได้ดู”

อย่างไรก็ดี รู้ว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะต้องใช้ทุนจำนวนมาก

หากที่ทำได้แน่ๆ คือการนำสมาชิกสมาคมไปออกค่ายทำหนังกับนักศึกษาที่สนใจ เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ของนักเล่าเรื่อง การนี้มีการประสานไปยังสถาบันระดับอุดมศึกษาในประเทศแล้ว และยังคิดจะเชื่อมต่อไปยังนานาประเทศทั่วเออีซี “เพื่อเราจะได้เชื่อมต่อวัฒนธรรมกันได้”

ขณะเดียวกันยังมีความคิดด้วยว่า น่าจะมีการหารือกันเรื่องราคาตั๋วชมภาพยนตร์ไทย ที่ในความเห็นของเขานั้น ไม่ควรใช้ราคาเดียวกับภาพยนตร์ต่างประเทศ

“หนังไทยไม่ควรขายบัตรราคาเดียวกัน Avenger ของเขา 200 เราควรจะ 100 พอ อันนี้ผู้ประกอบการภาพยนตร์น่าจะทราบ อาจจะมีการคิดแนวทางแคมเปญในลักษณะที่จะต้องอนุรักษ์หนังไทยไว้ คุณต้องให้โอกาสกับหนังไทย เพราะบางทีการขายบัตรราคาเท่ากันมันทำร้ายหนังไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องแบ่งคนละครึ่งนะ เพราะคนทำเขาก็ลงทุน”

ที่ผ่านมาเขาว่ามีภาพยนตร์ไทยบางเรื่องก็มีแคมเปญราคาต่าง และก็ได้ผลตอบรับที่ดี

“ในอนาคตเราอาจจะต้องพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

“อย่างคนที่ชอบดูหนัง ถ้ามิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ลเข้าชนกับหนังไทย ของเขา 200 ของเรา 100 มันก็ไม่แน่”

ติดตามความคืบหน้ากันอีกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image