ทำความรู้จักธุรกิจเช่ารถยนต์สำหรับองค์กร ตัวเลือกของการลดต้นทุนของธุรกิจ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของธุรกิจ คือ เงินลงทุน ซึ่งสามารถจัดการแก้ปัญหาได้ด้วยการบริหารจัดการ ซึ่งหากมองดูธุรกิจทั่วโลกจะพบว่า หลายธุรกิจเลือกเช่าสินทรัพย์มากกว่าการซื้อขาดเพื่อบริหารจัดการต้นทุน เนื่องจากสินทรัพย์เกือบทุกประเภทจำเป็นต้องมีการบำรุงดูแลรักษา และหนึ่งในธุรกิจด้านการเช่าสินทรัพย์ที่น่าสนใจต้องยกให้ KCAR บริษัทเช่ารถผู้บริหารและรถเชิงพาณิชย์ในรูปแบบ B2B ที่จะมาทำความรู้จักผ่านประสบการณ์ของ คุณพิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน)

 

ทำความรู้จัก KCAR ธุรกิจรถเช่า

ปัจจุบัน KCAR มีรถอยู่ในพอร์ตประมาณ 9,000 คันและมีลูกค้ามากกว่า 1,200 ราย โดยมีศูนย์บริการมากกว่า 1,000 แห่ง สำหรับกลยุทธ์หลักจะเน้นการให้บริการที่เป็นเลิศ ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มราชการประมาณ 15% ขณะที่กลุ่มบริษัทเอกชนชั้นนำจะมีอยู่ประมาณ 85% โดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเจาะไปที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อม

นอกจากนี้ KCAR จะเน้นเข้าไปให้ความรู้กับธุรกิจถึงรูปแบบการเช่าสินทรัพย์ รวมถึงการโน้มน้าวให้ธุรกิจหันมาใช้บริการเช่าสินทรัพย์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ KCAR ยังมีการทำธุรกิจจำหน่ายรถมือสองภายใต้แบรนด์ TOYOTA Sure ซึ่งจะช่วยให้ KCAR สามารถขายรถเช่าที่อยู่ในพอร์ต โดยผ่านการตรวจสอบคุณภาพจาก TOYOTA และยังสามารถขายได้ทุกแบรนด์ การบำรุงรักษารถในพอร์ตอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ราคาขายต่อรถมือสอง ยังคงราคาในระดับที่ดี

สำหรับจุดแข็งของ KCAR คือการมี Know How ในการบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ KCAR ยังคงอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน KCAR มีกำไรสุทธิอยู่ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดย KCAR มีเป้าหมายในการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่เน้นการเติบโตแบบรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดธุรกิจ KCAR ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ KCAR ยังเลือกลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ที่ทาง KCAR ไม่ปล่อยเช่า ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่าเมื่อธุรกิจ e-Commerce เติบโต การขนส่งก็เติบโตตามไปด้วย ซึ่งการใช้รถขนส่งมีโอกาสอย่างมากที่จะทำให้เกิดค่าเสื่อมราคาที่สูง เพราะรถต้องใช้งานหนักทั้งวันทั้งคืน ส่งผลให้ต้นทุนการบริหารจัดการด้านการซ่อมบำรุงดูแลรักษาเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเฉี่ยวชนได้มากขึ้น

 

เช่าหรือซื้อ อะไรที่คุ้มค่ากว่า

หนึ่งในความคิดของนักธุรกิจส่วนใหญ่นิยมซื้อรถเป็นขององค์กรเองเพื่อให้เป็นสินทรัพย์ของธุรกิจ แม้ต้องขายต่อก็ยังได้เงินกลับเข้ามาที่ธุรกิจ แต่เมื่อพิจารณาให้ดี รถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสื่อม หมายความว่าต้องมีการบำรุงดูแลรักษาเพื่อให้เกิดการเสื่อมสภาพน้อยที่สุด และเมื่อเกิดความเสื่อมแน่นอนว่า ราคาขายต่อก็จะลดลงตามความเสื่อมของสินทรัพย์นั้นๆ รวมไปถึงความต้องการของตลาดรถมือสองอีกด้วย

ขณะที่มุมมองของการเช่า ธุรกิจไม่ต้องแบกรับภาระการบำรุงดูแลรักษา ซึ่งบอกเลยว่ารถที่ใช้งานหนักภาระการบำรุงดูแลรักษาค่อนข้างสูง ที่สำคัญธุรกิจยังสามารถเปลี่ยนรถรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงที่ทำไว้ รวมไปถึงธุรกิจยังไม่ต้องเสียต้นทุนไปกับการทำประกันภัยให้กับรถยนต์ แต่แน่นอนว่าสินทรัพย์จากการเช่าเหล่านี้ไม่สามารถขายเพื่อเปลี่ยนมาเป็นเงินกลับเข้าธุรกิจได้

ดังนั้นการซื้อหรือเช่ามีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กร

 

กรณีศึกษา K-CAR ธุรกิจให้เช่าสำหรับองค์กร

และหากจะพูดถึงตลาดธุรกิจเช่ารถยนต์สำหรับองค์กร ขอยกกรณีศึกษาของ K-CAR ผู้ให้บริการธุรกิจเช่ารถยนต์สำหรับองค์กร โดย K-CAR เป็นผู้เล่นที่อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญยังเข้าจดทะเบียนมในตลาดหลักทรัพย์ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา K-CAR การรันตีมูลค่าหุ้นยังไม่เคยต่ำว่ามูลค่าหุ้นตอน IPO ส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับจาก TRIS Rating ให้อยู่ในระดับ A- ด้วยแนวโน้ทมอันดับเครดิตคงที่ ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของผู้ประกอบการธุรกิจเช่ารถยนต์สำหรับองค์กร

นั่นคือสิ่งที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ K-CAR ที่สำคัญ K-CAR ยังมีลูกค้าที่ใช้บริการมากกว่า 1,200 บริษัทและพันธมิตรอีกมากมายในหลายอุตสาหกรรม โดยธุรกิจรถเช่าจะแบ่งออกเป้น 2 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มให้เช่าในรูปแบบ B2C ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การขับรถท่องเที่ยวเป็นหลัก และอีกกลุ่มจะเป็นกลุ่มให้เช่ารถในรูปแบบ B2B ในลักษณะของสินทรัพย์ทางธุรกิจเหมือนเช่นที่ K-CAR

สำหรับรูปแบบการเช่าจะเป็นสินทรัพย์ทางธุรกิจ ที่ให้บริการทั้งที่เป็นธุรกิจเอกชนและองค์กรรัฐ โดยผู้เช่าจะมีหน้าที่เช่าเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องการบำรุงดูแลรักษา การประกันภัยจะเป็นหน้าที่ของทาง K-CAR และส่วนใหญ่นิยมเช่าตั้งแต่ 3-5 ปีขึ้นไป ซึ่งรูปแบบบริการเหล่านี้ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารต้นทุนได้ง่ายแค่จ่ายเพียงครั้งเดียว ที่สำคัญองค์กรยังไม่ต้องแบกรับกับราคาขายต่อที่เรียกได้ว่า ขาดทุนจากราคาซื้อขายเมื่อเทียบตั้งแต่เป็นรถป้ายแดง รวมไปถึงการให้บริการรถทดแทนเมื่อรถที่ใช้ประจำอยู่ในกระบวนการซ่อมบำรุง

 

เปิดเหตุผลที่ช่วยให้สามารถเติบโตได้

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าจุดเด่นอย่างหนึ่งของ KCAR คือการมี Know How ในการดูแลรักษารถที่อยู่ในพอร์ต เพื่อให้ค่าเสื่อมราคาน้อยที่สุดเมื่อรถหมดอายุสัญญา และสามารถนำไปขายต่อเป็นรถยนต์มือสองได้ในราคาที่เหมาะสม ลดภาระการขาดทุน โดยมี 3 ปัจจัยการดำเนินงาน  ประกอบไปด้วย

  • ทำความเข้าใจ โดย KCAR จะเข้าไปพูดคุยกับผู้เช่าในเชิงลึกก่อนเริ่มทำสัญญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเข้าใจในการใช้บริการ
  • การบริหารจัดการ ในกรณีที่ผู้เช่านำรถไปใช้แล้วเกิดการเฉี่ยวชนบ่อยครั้ง KCAR จะส่งหน้าเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับผู้เช่า
  • ความไว้วางใจ เมื่อมีการทำงานกับลูกค้าจะทำให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการใช้รถ ซึ่งจะช่วยให้ KCAR สามารถบริหารจัดการ การเฉี่ยวชนและการบำรุงดูแลรักษา

นอกจากนี้ KCAR ยังมี 4 กลยุทธ์หลักที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย

  • การบริหารความเสี่ยง ที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการแนะนำรถตามเครดิตที่ลูกค้ามี รวมไปถึงเสนอรถที่เหมาะสมกับเครดิตของลูกค้า
  • การบริหารต้นทุน โดยเฉพาะการบริหารกระแสเงินสดที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของ KCAR
  • การให้บริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง โดยเป็นผู้ให้บริการที่เปิดบริการทุกวัน รวมถึงการให้บริการรถทดแทนที่เป็นรถใหม่และมีศูนย์บริการมากกว่า 1,000 แห่ง
  • ราคาแบบ Flexible Pricing โดยปรับราคาเช่าตามความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์การเช่ารถที่เหมาะสมกับธุรกิจ

ไม่เพียงเท่านี้ KCAR ยังให้ความจริงใจกับลูกค้าโดยมีข้อเสนอที่ดีกว่าส่งมอบให้ลูกค้า เช่น ให้ลูกค้ารอเพื่อรับรถรุ่นใหม่ที่มี Option ดีกว่า ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องใช้รถรุ่นเก่าไปจนครบตลอดอายุสัญญา เป็นหนึ่งในนโยบายของ KCAR ที่ไม่เน้นยอดจำนวนการปล่อยเช่า แต่ต้องการให้ลูกค้าได้รับรถที่ดีกว่า รุ่นใหม่กว่า

 

ภาพรวมตลาดรถเช่าทิศทางดีขึ้น

สำหรับทิศทางของตลาดรถเช่าในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าหลังการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวหลังเจอสถานการณ์โรคระบาด ตลาดรถเช่าส่วนบุคคล จะเป็นตลาดที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย ขณะที่ตลาดรถเช่าแบบ B2B ยังคงปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และภาวะสงครามที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง

ในปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่หันมาใช้บริการเช่ารถแบบ B2B เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีแนวโน้มค่อยๆ เติบโต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายธุรกิจพยายามปรับลด ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อสินทรัพย์ประเภทรถยนต์ แล้วหันมาใช้วิธีการเช่าแทน ส่งผลให้แพคเกจการเช่ารถยืดระยะเวลาออกไปถึงระยะเวลา 5 ปี

ขณะที่สภาพการแข่งขันของตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันของธุรกิจให้เช่าสินทรัพย์รายใหญ่ โดยไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาด รวมไปถึง Know How ของแต่ละธุรกิจ โดยเฉพาะการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับการให้บริการ รวมไปถึงการบริหารจัดการค่าเสื่อมราคาของรถที่ปล่อยให้เช่า อีกหนึ่งความท้าทายของธุรกิจให้เช่ารถของไทย คือ การไม่จำกัดระยะทางการใช้รถ

 

EV กับธุรกิจรถเช่าในอนาคต

สำหรับ EV แล้วถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งทาง KCAR มีการนำรถ EV เข้ามาสู่พอร์ตของธุรกิจ แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก และอาจเรียกได้ว่า KCAR เป็นแบรนด์เดียวที่มีรถ EV อยู่ในพอร์ตให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน ซึ่งผลจากการเปิดให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน ปรากฏว่าส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากหากต้องมีการเดินทางไกล เช่น ไปเชียงใหม่จะต้องเสียเวลาชาร์จอย่างน้อย 3 ครั้ง และหากต้องกลับมาที่กรุงเทพฯ จะต้องเสียเวลาชาร์จอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง

ดังนั้นสำหรับรถ EV แล้ว หากเป็นการเช่าเพื่อใช้งานเป็นประจำเดินทางระยะใกล้จะได้รับความนิยมจากธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าในอนาคตกลุ่มธุรกิจต่างชาติจะมีความต้องการเช่ารถ EV เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เป็นไปตามนโยบายของธุรกิจเหล่านั้น ในการลดการปล่อยคาร์บอนฯ

หลายธุรกิจหลังจากที่ได้ทดลองใช้ EV หลายรายขอรอเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้การชาร์จ EV สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญในแง่ของธุรกิจรถเช่า EV ยังเป็นรถที่มีความเสี่ยงต่อราคาขายเป็นรถมือสอง เนื่องจากค่าเสื่อมราคาของ EV ยังอยู่ในระดับที่สูง และราคารถ EV มือสองยังอยู่ในระดับต่ำ อาจไม่คุ้มค่าต่อการนำมาใช้เป็นรถเช่า

ทั้งหมดนี้ ช่วยให้เห็นภาพของธุรกิจรถเช่าแบบ B2B ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเครื่องมือให้กับธุรกิจในการลดต้นทุนจากค่าเสื่อมราคาของรถที่ต้องซื้อมาเป็นเจ้าของเอง รวมไปถึงการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างง่ายดายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยที่ผู้เช่าไม่ต้องเสียเงินค่าบำรุงดูแลรักษาและสามารถใช้งานได้ตลอดอายุสัญญา ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของธุรกิจที่ต้องการใช้รถแบบประหยัดต้นทุน


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา