Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

ไตเติ้ล – ฐิติพันธ์ ทับทอง เด็กวิทย์ใจติสต์ที่กลายเป็นศิลปิน NFT ขวัญใจนักสะสม

Interview / People

กระสือ ลูกกรอก นางรำ ผีตายโหง เปรต แม่นาก ฯลฯ ผีไทยทั้งแก๊งโผล่มาในลุคสุดสยองแต่ใส่สีสันสุดสดใส ส่วน Kapood สิ่งมีชีวิตนอกโลกที่มาเยือนดาวสีฟ้าดวงนี้พร้อมพลังวิเศษ แปลงร่างเป็นทุกสิ่งบนดาวโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นผีทุเรียน เชื้อโคโรนา ผู้กำกับหนังไปจนถึงรถตุ๊กตุ๊ก และ Flipped Face ภาพคนที่มีคางกลายเป็นหน้าผาก ปากกลายเป็นคิ้ว ตากลายเป็นคาง เมื่อใบหน้ากลับหัวจะทำให้มุมมองของคนกลับตาลปัตรเป็นเช่นไร

เหล่านี้คือคอลเล็กชั่นเอ็นเอฟทีที่ SOLD OUT ขายหมดภายใน 5 นาทีของ ไตเติ้ล-ฐิติพันธ์ ทับทอง เด็กสายวิทย์ที่กลายเป็นครีเอทีฟโฆษณามือทอง ซึ่งก้าวขึ้นเป็นศิลปินเอ็นเอฟทีที่นักสะสมทั่วโลกรู้จัก

“รายจ่ายเดียวที่คุณต้องเจอก็คือค่าอินเทอร์เน็ต นอกนั้นก็คือความมานะในการเรียนรู้เครื่องมือสื่อสารให้ได้ครบทุกมิติที่สุด”

LIPS: คุณเป็นศิลปินดิจิทัล ทำศิลปะ NFT ความสนใจนี้ก่อตัวมาจากอะไร

ไตเติ้ล: ผมจบจากคณะวิทยาศาสตร์ที่พระจอมเกล้าธนบุรี เป็นรุ่นสุดท้ายที่เอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นมีแต่คณะสายวิทย์ สิ่งที่เรียนมาความคล้ายคอมพิวเตอร์ คนที่เรียนจะเป็นสายโปรแกรมเมอร์ แต่ผมสนใจงานกราฟิกดีไซน์มาตั้งแต่มัธยม เลยทำพอร์ตงานพิเศษมาเรื่อยๆ เช่น ทำงานให้สตูดิโอด้านกราฟิก ทำงานโฆษณาตอนปี 2 แต่ไม่เคยเรียนด้านโฆษณา

พอปี 3 เพื่อนๆไปฝึกตามซอฟต์แวร์เฮ้าส์ แต่ผมขอไปฝึกงานตามเอเจนซีโฆษณา และเราขยันทำพอร์ตโฟลิโอ เลยเข้าสู่โลกโฆษณาเต็มตัว งานที่เราคิดก็ถูกเอาไปขายกับลูกค้าจริงๆ พอปี 4 ก็ได้ทำงานเอเจนซี ผมโชคดีตอนที่ผมเรียนจบตอนปี 2009 บริษัทโฆษณามองหาบุคลากรที่ไม่ได้เรียนนิเทศฯ เพราะสื่อเปลี่ยนไปเป็นสื่อออนไลน์ ก็เลยได้เข้ามาเอเจนซีและอยู่ยาวจนทุกวันนี้

โดยพื้นฐานผมเป็นคนชอบงานศิลปะที่คนอื่นวาด ชอบไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ชอบศิลปะทุกแนว เราเรียนวิทยาศาสตร์มา ซึ่งสอนให้เราเป็นนักทดลอง งาน Kapood World เลยเป็นการริเริ่มที่ผมทำงานอิลลัสเตรชั่น ผมสนใจงานกราฟิกอยู่แล้ว ในพื้นที่ของการวาดรูปเลยลองสร้างคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่เราวาดเองก่อนจะสนใจงานโฆษณาเสียอีก เป็นงานที่เราลองใช้โปรแกรมดีไซน์ของเรา

โดนัท หนึ่งใน Kapood ของโปรดที่ขาดไม่ได้ของโฮเมอร์ ซิมป์สัน
Kapood ในแบบต่างๆ

การสนใจเอ็นเอฟทีของผมก็คือการทดลองเช่นกัน เลยหยิบงาน Kapood อัปโหลดไฟล์ขึ้นไป เดิมทีวาดไว้ประมาณสิบกว่าตัวก็ต่อยอดวาดเพิ่มเป็นร้อยตัว เราใช้งาน Kapood เป็นองค์ประกอบในการเรียนรู้ว่ามันเข้าแพลตฟอร์มไหนที่เปิดให้เราอัปโหลดงานเป็นเอ็นเอฟทีได้ เราก็ลองหาดูว่ามีที่ไหนบ้าง ก็ไปเจอ Opensea เลยศึกษาต่อไปเรื่อยๆมาทำยังไง ขายยังไง ศึกษากระบวนการขายงาน การพูดคุยทวิตเตอร์โปรโมตงาน พอเรารู้เบื้องต้นก็เริ่มทำให้งานมีความชัดเจนมากขึ้น เรียนรู้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ล้มลุกคลุกคลานเพราะเอ็นเอฟทีเป็นเรื่องที่ใหม่มาก

จากงานชุด Thai Ghost เหล่าผีสาวที่รักอย่างไร้เงื่อนไข แม่นาก นางตะเคียน และกระสือ

LIPS: งานเอ็นเอฟที Thai Ghost แตกต่างจากงาน Kapood ที่เป็นลายเส้นน่ารักชนิดพลิกขั้ว 360 องศาเลย

ไตเติ้ล: Thai Ghost ทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นเอ็นเอฟทีและเพื่อขายคนที่ชอบศิลปะ แล้วศิลปะแบบไหนที่จะขายคนต่างชาติและได้ราคาดี เราเลยหยิบเอาเรื่องผีไทยมาทำ ผมมีเวลารีเสิร์ชน้อยก็ต้องเอาข้อมูลที่ผมมีมาทำ ซึ่งผมสนใจเรื่องผีไทยมาตั้งแต่เด็กๆ งาน Thai Ghost ทำให้เราได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการของเอ็นเอฟทีทั้งหมด การทำศิลปะเพื่อขายคนชอบศิลปะเราต้องทำอะไรบ้าง

LIPS: พอมาถึงโปรเจกต์ต่อไป Flipped Face ก็ยิ่งดังขึ้นไปอีก

ไตเติ้ล: เราไม่ได้ทำศิลปะเพื่อชายคนชอบศิลปะอย่างเดียวแล้ว แต่เราทำศิลปะเพื่อสร้างชุมชนคนชอบเอ็นเอฟที นี่คือจุดประสงค์ของผม อะไรที่เราได้เรียนรู้ก็เอามาต่อยอด ข้อเสียที่เราเจอก็นำมาปรับปรุง จริงๆทุกงานขายหมดในเวลาไม่ถึง 5 นาที ผมเคยถามคนที่ซื้อผลงาน ส่วนใหญ่คนจะชอบผลงานที่ดูแปลกดี ดูแปลกแต่ว่าดูเข้าถึงง่าย อย่าง Flipped Face ก็เรียบง่ายมากๆ ไม่มีอะไรมากกว่าการที่ใบหน้าของคาแรกเตอร์กลับหัว

“เอ็นเอฟทีมีขึ้นมีลงเหมือนๆกับทุกอุตสาหกรรมที่มีอุปสงค์กับอุปทาน”

สิ่งที่ขยายผลให้มีคนชอบผลงานในวงกว้างมากขึ้น ผมทำไปก็เรียนรู้ไป เอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เรียนรู้ว่าเราทำศิลปะมาถึงจุดหนึ่ง จะทำยังไงให้ศิลปะดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ดังนั้นการที่ Flipped Face มีใบหน้ากลับด้านเพราะอยากชวนคนให้มองโลกในมุมที่แตกต่าง บางคนเศร้ามา ผมอาจจะใช้คาแรกเตอร์ Flipped Face ชวนเขาคุยและลองมองมุมนี้ไหม มันให้คุณค่า ให้วิธีคิด ให้ความคิดในแง่บวกกับคนได้ด้วย

จากที่เรามีคอนเซปต์ง่ายๆ ก็กลายเป็นงานศิลปะที่เยียวยาคนได้ด้วย ทำให้คนถอนตัวออกจากสภาพอารมณ์ ณ ตอนนั้นไปรู้สึกแบบอื่น การตั้งสมมติฐานและทำการทดลองของเราได้ผล

LIPS: จากที่เคยศึกษาอยู่วงนอกจนเข้ามาทำเองเป็นวงใน ทัศนคติต่อเอ็นเอฟทีเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ไตเติ้ล: วันที่ผมรู้จักเอ็นเอฟทีวันแรก ผมไม่มีคำว่า ‘คอมมูนิตี้’ ในหัวเลย ก่อนจะมาสนใจเอ็นเอฟที ผมสนใจบล็อกเชนมาก่อนหนึ่งปีก่อนหน้า ผมสนใจในแง่ของการเทรดดิ้ง สมาร์ตคอนแทรกต์ ไม่ได้สนใจแง่มุมการสร้างชุมชนของมัน และมองเอ็นเอฟทีว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยครีเอเตอร์หรือศิลปินให้หารายได้เพิ่มและรักษาสิทธิ์ได้ ขนาดตอนทำ Kapood และ Thai Ghost ก็ยังไม่คิดถึงชุมชนเลย แค่คิดว่าเป็นพื้นที่เพิ่มเติมในการทำงาน

แต่พอมาทำ Flipped Face ความคิดเปลี่ยนไป ตัวเราเองเป็นคนที่อยากจะจริงใจในโซเชียลมีเดีย ในชีวิตจริงผมก็หากินกับโซเชียล ผมใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการสื่อสาร ในเมื่อผมหากินกับโซเชียลมีเดีย ผมก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อโซเชียลมีเดียประมาณหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อความให้ถูกต้อง หรือการไม่ติฉินนินทาที่จะไปลดทอนคุณค่าของใคร

พอเอ็นเอฟทีเป็นเรื่องของชุมชนในโลกโซเชียล ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าอยากจะวางตัวเองให้เป็นโรลโมเดล ไม่ต้องมาตามผมก็ได้ แต่ผมพยายามจะทำตัวให้เป็นอย่างว่าไม่ต้องว่าร้ายใคร ไม่ต้องทำงานเพื่อหวังประโยชน์อะไร แค่ได้มีเพื่อนเพิ่มเติมขึ้นมา อาจจะมีแลกเปลี่ยนกันด้วยราคาเป็นการตอบแทนน้ำใจกันบ้าง แต่ผมไม่ได้มองว่าจะมาเพื่อกอบโกย ผมคอยเตือนและคอยฝึกตัวเองแบบนี้เสมอ และใช้ความรู้ที่มีสอนศิลปินรุ่นใหม่ๆด้วย

LIPS: แล้วถ้าศิลปินรุ่นใหม่ๆถามว่า ทำอย่างไรให้ขายงานได้หมดเร็วๆแบบพี่บ้าง…

ไตเติ้ล: การที่ทำไมผลงานของผมวางขายแล้วขายหมดภายในไม่กี่นาทีได้ ก็เป็นเพราะเราทำสินค้าให้เป็นลิมิเต็ด ถ้าปล่อยขายไปเฉยๆก็ไม่หมดหรอก แต่ถ้าเราบิลด์มาก่อน มีการสื่อสารโปรโมตล่วงหน้าให้คนอยากได้ มีการนัดแนะวันเวลา พอถึงวันเปิดตัวปั๊บ คนก็จะรู้อยู่แล้วว่าต้องมาเวลานี้ถึงจะซื้อได้ทัน ฉะนั้นผลงานก็เลยขายหมดได้เร็ว ส่วนหนึ่งเราต้องวางกลยุทธ์ด้วย เจอวิธีประมาณไหนก็จะเอาแชร์ให้คนอื่นรู้

“ถ้าเราวางเป้าหมายไว้ว่าต้องขายงานให้ได้ ก็จะเป็นทุกข์มาก เพราะเรากำลังตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้”

LIPS: ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้กระแสเอ็นเอฟทีแรงมาก คนพากันเข้าสู่วงการเอ็นเอฟที ซื้อเก็งราคากันใหญ่ แต่พอคริปโตราคาตก เอ็นเอฟทียังไปได้อยู่ไหม

ไตเติ้ล: จริงๆแล้วเอ็นเอฟทีไม่ใช่เรื่องงานศิลปะอย่างเดียว โดยหลักการแล้วเอ็นเอฟทีคือโทเคนที่เชื่อถือได้ว่าจะทดแทนไม่ได้ โดยมีบล็อกเชนมาเป็นตัวเสริมความน่าเชื่อถือนั้น ทีนี้วงการศิลปะก็เลยนำประโยชน์นี้มาใช้กับงานศิลปะ ถ้าเราสร้างศิลปะเอ็นเอฟทีก็จะเป็นงานศิลปะที่มีความออริจินัลได้ แต่จริงๆแล้วโทเคนเอ็นเอฟทีเป็นอย่างอื่นก็ได้เช่นกัน เช่น เป็นตั๋วเข้าร่วมงานอีเว้นท์ เป็นของสะสมหรือของที่ระลึกของแบรนด์ต่างๆ

เรื่องเก็งกำไรผมมองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย คุณอาจจะเจอเพชรในตมก็ได้ถ้าเจอชิ้นงานทำราคาสูงได้จริงๆ แต่ก็เป็นความเสี่ยงว่าจะเจอหรือไม่เจอก็ได้ ฉะนั้นเรื่องนี้ผมว่าไม่ได้เจอแค่ในเอ็นเอฟที ทุกวงการก็มีเรื่องแบบนี้ วงการพระเครื่องก็มีเรื่องของปลอมมากว่า 50 ปี ต้นไม้ใบด่างก็มีปลอมแปลงได้ ผมว่ามีของปลอมได้ในทุกๆอย่างที่มีการดีดราคามากเกินไป

ถ้าคุณจะโดดลงไปเล่นในเกมนี้ คุณต้องรู้จักมันอย่างแท้จริง ต่อให้วิเคราะห์เก่งแค่ไหนก็ยังเจอความเสี่ยงได้อยู่ดี ถ้าคุณหวังจะเก็งกำไรก็ต้องยอมรับความเสี่ยงได้ด้วย ฉะนั้นแรกๆที่เอ็นเอฟทีราคาพุ่งสูงมาก ตอนนี้ตกลงมา ผมมองว่าเป็นการมีขึ้นมีลงเหมือนๆกับทุกอุตสาหกรรมที่มีอุปสงค์กับอุปทาน แม้แต่การปลูกบ้านก็ตาม ถ้าผมปลูกบ้านก็ปลูกปีที่แล้วดีกว่า เพราะตอนนี้ราคาเหล็กแพงขึ้น

LIPS: แสดงว่ายังเร็วไปที่จะฟันธงว่าเอ็ฟเอฟทีอนาคตไม่สดใสแล้ว

ไตเติ้ล: ตอนนี้เอ็นเอฟทียังอยู่ในระยะแรกเริ่มมากๆ early stage สุดๆครับ ยังมีคุณประโยชน์และการนำไปใช้ได้อีกไกล ย้อนกลับไปเรื่องเก็งกำไร ถ้าเรามาเพื่อการนั้น โอกาสพลาดก็มีสูง การเก็งจะมีผลแค่สองอย่าง คือขึ้นหรือลง บวกหรือติดลบ แต่ถ้าเรามาเพื่อความรัก มันจะทดแทนอะไรบางอย่างได้ เช่น เราชื่นชอบศิลปินไทยคนหนึ่ง เขาโดดเข้ามาทำเอ็นเอฟที เขาไม่ทำงานที่อื่นนอกจากทำเวอร์ชั่นเอ็นเอฟทีเท่านั้น เราก็ไปซื้อเอ็นเอฟทีของศิลปินคนนี้มา มันอาจจะราคาขึ้นจนเราแฮปปี้มาก หรืออาจจะราคาตกจนเราตกใจ แต่เหตุผลของเราไม่ได้มีแค่ว่ามันจะราคาขึ้นหรือตกเพียงอย่างเดียว

ผมว่าถ้าเราหลงรักอะไร เราได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นแล้วตั้งแต่วันแรก เหมือนคุณซื้อจักรยานรุ่นหนึ่ง คนอื่นเขาเล่นรุ่นนี้กัน ถ้าขายก็ได้ราคาดีชัวร์ ถ้าคุณซื้อมาเก็บไว้ที่บ้านเฉยๆ แล้ววันที่เอาออกขายดันมีรุ่นใหม่ รุ่นที่ซื้อมาก็ราคาตก แถมตลอดช่วงเวลาที่คุณมีมันก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย นั่นต่างหากที่จะทำให้คณรู้สึกเสียดาย แต่ถ้าก่อนจะขาย คุณได้เอาจักรยานคันนี้ขี่ออกไปเจอเพื่อน ไปมีสังคม ได้เจอเพื่อนที่สนใจเรื่องเดียวกัน นี่คือประโยชน์ที่เกิดขึ้น

LIPS: มูลค่าถูกให้โดยคนอื่น แต่คุณค่าตัวเราต้องเป็นคนให้

ไตเติ้ล: ใช่เลยครับ สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าผมจะคุยกับใคร ผมจะพยายามบอกเสมอว่า พยายามให้มีพื้นที่หนึ่งที่เราควบคุมได้บ้าง ถ้าเราวางเป้าหมายไว้ว่าต้องขายงานให้ได้ ก็จะเป็นทุกข์มาก เพราะเรากำลังตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดนิดเดียว อะไรๆก็จะเปลี่ยนไปเลย

อย่างตอนผมเปิดตัว Flipped Face ก็ไม่ได้ขายดีแต่แรก ผมก็เปลี่ยนวิธีคิดว่าผมไม่ได้สร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเพื่อจะเอาการขายเอ็นเอฟทีเป็นที่ตั้ง แต่ผมมีเป้าหมายว่าจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้น เรื่องนี้เราควบคุมได้ แทนที่เรามานั่งเฝ้าอีเมลว่างานเราขายออกหรือเปล่า เราก็เปลี่ยนมานั่งดูว่ามีคนไหนที่มากดไลก์โพสต์เราที่เรายังไม่เคยคุยด้วยบ้าง แล้วก็ไปคุยกับเขาดูซิ อย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งการมีเพื่อนเพิ่มขึ้นเราควบคุมได้ แม้อาจจะมีวืดบ้างถ้าเราไปเจอคนที่ไม่โอเค ถ้าคุณมีเรื่องที่คุณควบคุมได้ คุณจะมีกำลังใจ

LIPS: สิ่งที่มีคุณค่าจริงๆคือมิตรภาพ ความสัมพันธ์

ไตเติ้ล: ผมว่าเป็นเรื่องที่โฆษณาสอนผม บางทีเราเจอสินค้าที่ถ้ามองในแง่คุณประโยชน์ก็แพ้คนอื่น แต่สุดท้ายก็ต้องขายมันให้ได้ เราต้องพยายามหาแง่มุมอื่นๆเพื่อจะสื่อสารออกไป ยกตัวอย่างเช่น น้ำเปล่า ทำไมต้องมีหลายยี่ห้อ มันก็น้ำเปล่า บางแบรนด์อาจจะใส่เรื่องราวเพิ่มเข้าไปว่ามาจากแหล่งธรรมชาติที่ไหน แต่สำหรับน้ำเปล่าธรรมดาๆ ทำไมยังขายได้ ก็แสดงว่าต้องมีมุมขายอื่นนอกจากคุณประโยชน์ อาจจะขายได้ด้วยแอตติจูด ความน่าเชื่อถือ หรือราคา เช่นเดียวกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนซื้อหรือคนขายก็สามารถหามิติที่คุณจะให้คุณค่าได้

LIPS: คุณเลยสร้างชุมชนคนรักศิลปะด้วย ไม่ได้อยากเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้มีผลงานไปโชว์ที่นิวยอร์กแล้วจบ

ไตเติ้ล: ใช่ครับ เหงาจะตายถ้าเราอยู่แค่คนเดียว

“เหตุผลที่เราซื้อเอ็นเอฟทีไม่ได้มีแค่ว่ามันจะราคาขึ้นหรือตก แต่ถ้าเรารักอะไร เราได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นแล้วตั้งแต่วันแรก”

LIPS: เล่าประสบการณ์ที่ทาง NFT NYC 2022 เชิญคุณไปร่วมงานที่จัดขึ้นที่ไทม์สแควร์ นิวยอร์กหน่อย ในฐานะศิลปินไทยคนเดียวที่ถูกเชิญไปร่วมงาน

ไตเติ้ล: สเตจแรกคือก่อนได้ไปก็เป็นความภูมิใจที่เป็นศิลปินไทยคนเดียวที่ได้ไปพูดที่งานนั้น และเป็นความกดดันว่าเราจะเอาอะไรไปพูดให้เขารู้จักศิลปินไทย ไม่ต้องมารู้จักตัวผมหรอก ผมว่าทุกวันนี้การไปเวทีโลกไม่ได้เจอประสบการณ์ของเนื้อหาสาระที่แตกต่างไปจากคนที่นั่งอ่านทวิตเตอร์ที่บ้าน เพราะการอัปเดตข้อมูลทันกันหมด แล้วจะมีประสบการณ์อะไรสำหรับคนที่อุตส่าห์มานั่งฟัง

แต่มีอุบัติเหตุ งานนี้ให้พูดเป็น panel talk คือมีศิลปิน 3 คนพูดคุยกัน ทีนี้คนที่ต้องมาร่วมทอล์กอีก 2 คนมาไม่ทันขึ้นเวทีทั้งสองคน ผู้จัดงานเลยให้เราขึ้นไปพูดคนเดียว ทีนี้เราไม่ได้เตรียมจะไปตอบอย่างเดียวละ แต่การที่ผมไม่ได้เตรียมตัวไม่ได้หมายความว่าผมไม่มีความรู้ที่จะพูด เราแค่เรียบเรียงความรู้ที่มี

สเตจสุดท้ายคือตอนกลับมาเมืองไทย ทุกคนก็จะถามว่าผมได้อะไรกลับมา ความรู้ การอัปเดตโปรเจกต์ต่างๆ ทุกคนตามได้เร็วกว่าผมอีกจากทวิตเตอร์ เลยไม่มีอะไรแชร์ นอกจากแชร์ว่าถ้าคุณมีความรู้ประมาณหนึ่งก็จะใช้ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

LIPS: จากที่ไปสัมผัสในเวทีโลก เอ็นเอฟทีจะเป็นเครื่องมือในการนำเสนอผลงานและสร้างรายได้อย่างแท้จริงให้กับศิลปินไหม

ไตเติ้ล: ผมคิดว่าเอ็นเอฟทีช่วยให้ความเหลื่อมล้ำของศิลปินมีช่องว่างที่แคบลง เราไม่ต้องคาดหวังก็ได้ว่าจะมีใครเป็นตัวกลางมาช่วยผลักดันเรา ยุคเอ็นเอฟทีความเข้าถึงง่ายขึ้น นักสะสมมาเจอกับครีเอเตอร์ได้ง่ายขึ้น ครีเอเตอร์มีพื้นที่ในการนำเสนอตัวเองมากขึ้น ตอนนี้เราเท่ากันกับทั่วโลกแล้ว แม้ว่าวงการศิลปะต่างประเทศจะมีแกลเลอรีดีๆมากมาย แต่ตัวกลางเหล่านั้นก็ไม่ได้ช่วยให้ศิลปินดังได้ในโลกเอ็นเอฟที ฉะนั้นตัวเราเองเริ่มเท่ากับคนอื่นแล้ว ผมว่าตอนนี้ทุกคนมีสิทธิ์เปลี่ยนได้เท่ากัน อยู่ที่ว่าเราจะใช้เครื่องมือในแบบไหน เราจะรู้จักเครื่องมือได้แล้วหรือยัง เราจะเรียนรู้ภาษาในการสื่อสารได้แล้วหรือยัง เพราะสุดท้ายก็มาอยู่ที่ปลายทางเดียวกันคือเรื่องของการสื่อสาร

ผลงานชุด Flipped Face
ผลงานชุด Flipped Face

LIPS: คุณเคยพูดว่าศิลปินเอ็นเอฟทีคือ คนที่ต้องเอาอาร์ตมารวมกับคอมเมอร์เชียล แล้วทำมาร์เก็ตติ้งเป็น

ไตเติ้ล: ผมไม่ใช่ศิลปินมาก่อน ผมขอโทษศิลปินล่วงหน้านะครับ ผมเข้าใจว่าศิลปินยุคก่อนมีแกลเลอรีคอยช่วยสื่อสารแทนให้ ภัณฑารักษ์มีคอนเน็กชั่นนักสะสมอยู่ในมือ รับคอมมิชชั่นกันไปจากงานที่ขายได้ ศิลปินเลยไม่ได้ฝึกการสื่อสาร แต่พอเป็นยุคนี้มันต่างไปแล้ว แม้แต่แกลเลอรีก็ต้องปรับตัวเมื่อรูปแบบของการสะสมงานเปลี่ยนไป ศิลปินเองก็ต้องเปลี่ยนด้วย

LIPS: คุณจะทำนายอนาคตวงการเอ็นเอฟทีไว้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ไตเติ้ล: ผมคิดว่าคนจะเข้าใจเอ็นเอฟทีมากขึ้น ตอนนี้ทุกคนเข้าใจว่าเอ็นเอฟทีคือศิลปะ คือคาแรกเตอร์ ซึ่งไม่ได้เข้าใจผิดแต่ว่าเข้าใจแค่ส่วนเดียว พื้นฐานของเอ็นเอฟทีคือโทเคนที่ทำให้เชื่อถือได้ว่าสิ่งนี้มีอยู่สิ่งเดียว ทดแทนไม่ได้ มีความเป็นของแท้หนึ่งเดียว คุณจะเอาอะไรมาสวมมันก็ได้ทั้งนั้น จะเอาศิลปะมาสวมเพื่อใช้ในการสะสม ดีไซน์ให้เป็นของเล่น ถ้าอยู่วงการอีเวนต์ก็ทำให้เป็นตั๋ว คนที่จะใช้เอ็นเอฟทีต้องมีวอลเล็ต ซึ่งจะช่วยลดจำนวนตั๋วผีได้ เพราะทุกคนจะเห็นเส้นทางการเดินทางของตั๋วได้หมด ตั้งแต่มันออกมาจากผู้จัดงาน มันอยู่ในกระเป๋าเงินของใครมาก่อนที่จะมาถึงมือเรา เราจะประเมินได้ว่าคนนี้คือแก๊งตั๋วผีหรือเปล่า พอมันเป็นแบบนี้ก็เลยนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

เรามีบัตรประชาชนที่แสดงว่าเราเป็นพลเมืองของประเทศไทย นั่นก็เป็นสิ่งเดียวกันกับเอ็นเอฟทีเลย ถ้าคุณถือบัตรเอ็นเอฟทีของคอมมูนิตี้ A คุณก็มีสิทธิ์เข้าคอมมูนิตี้ A ได้ ในโลกเก่าก็มีสมาคมต่างๆที่จำกัดจำนวนสมาชิกอยู่แล้ว โลกเอ็นเอฟทีก็มีการกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษนั้นได้เหมือนกัน

“เอ็นเอฟทีช่วยให้ความเหลื่อมล้ำของศิลปินมีช่องว่างที่แคบลง นักสะสมมาเจอกับครีเอเตอร์ได้ง่ายขึ้น”

ฉะนั้นรูปแบบเดียวกันกับในโลกกายภาพเลย เพียงแต่มันเปลี่ยนเป็นดิจิทัลและมีความน่าเชื่อมากขึ้นอีก ผมคิดว่าแนวโน้มต่อไป เอ็นเอฟทีน่าจะลดทอนความเป็นศิลปะลง แต่จะเป็นเรื่องของเครื่องมือในการระบุตัวบุคคลที่ถือเอ็นเอฟทีได้อย่างเป็นของแท้มากขึ้น ปลอมแปลงกันได้น้อยลง อยู่ที่ว่าใครจะเอาเอ็นเอฟไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบไหน

ตอนนี้ความเป็นไปได้ทุกอย่างมาจ่อรอเราหน้าประตูบ้านแล้ว รายจ่ายเดียวที่คุณต้องเจอก็คือค่าอินเทอร์เน็ต นอกนั้นก็คือความมานะในการเรียนรู้เครื่องมือสื่อสารให้ได้ครบทุกมิติที่สุด

Words: Suphakdipa Poolsap
Portraits: Somkiat Kangsdalwirun
Digital Art: Titipun Tubthong, IG @iamtaitern

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม