กรมศิลป์ เปิดรายละเอียด การจัดสร้าง พระเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมกับรัฐบาลไทย โดย กระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา รัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย โดย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดพิธีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุพระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานชั่วคราวที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 ก.พ. – 19 มี.ค.67 ภายใต้โครงงานธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคาลุ่มน้ำโขง

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก “สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร” โพสต์ข้อความระบุว่า สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดสร้างพระเจดีย์ทรงกลม ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และประดิษฐานพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ที่เป็นองค์ดั้งเดิมที่ค้นพบในสถูปโบราณ เมืองกบิลพัสดุ์ และเมืองสาญจี จากสาธารณรัฐอินเดีย

อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนร่วมสักการบูชา ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. – 3 มี.ค.67 เวลา 09.00 – 20.00 น. และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

โดยมี นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (ช่างสิบหมู่) สังกัด สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบพระเจดีย์ทรงกลม ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 1 องค์ มีขนาดความสูง 50 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางฐาน 25.6 เซนติเมตร

และพระเจดีย์ทรงกลมประดิษฐานพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จำนวน 2 องค์ มีขนาดความสูง 38 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางฐาน 15.50 เซนติเมตร และรับผิดชอบดำเนินการจัดสร้างโดย กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ เป็นความร่วมมือกันในกลุ่มงานต่าง ๆ จัดสร้างงานด้วยเทคนิคอันหลากหลาย ประกอบด้วย

กลุ่มงานช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีต ดำเนินการขึ้นหุ่นส่วนยอดและส่วนฐานด้วยกระบวนการกลึงไม้ ไม้ที่ใช้สร้างพระเจดีย์เป็นไม้สัก แกะสลักลวดลายในส่วนยอดและส่วนฐานของพระเจดีย์ทั้ง 3 องค์

กลุ่มงานช่างปิดทอง ประดับกระจกและช่างสนะไทย ดำเนินการปิดทองคำเปลวส่วนยอดและส่วนฐาน กลุ่มงานช่างบุและช่างศิราภรณ์ ดำเนินการกระแหนะลายติดประดับส่วนยอดและส่วนฐาน ฉลุแผ่นโลหะเติมปลายของส่วนยอดพระเจดีย์ บุดุนโลหะทำเฟื่องอุบะและระย้าประดับส่วนปลายห้อยลงมาที่องค์พระเจดีย์ ติดประกอบลวดลายบนกระจกที่องค์พระเจดีย์ ประดับพลอยเป็นไส้ลายทั้งส่วนยอดและส่วนฐาน

ข้อมูล จาก นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (ช่างสิบหมู่), นางอัจฉริยา บุญสุข ผู้อำนวยการกลุ่มประณีตศิลป์, นายสาโรจน์ แสงสี หัวหน้ากลุ่มงานช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีต และนางปาริด์ชาติ พัฒน์ทอง หัวหน้ากลุ่มงานช่างปิดทอง ประดับกระจกและช่างสนะไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน