ชวนรู้จัก! ‘แอมโมเนีย’ ก๊าซที่มีทั้งโทษและประโยชน์ สูดมากเสี่ยงตาบอด เกิดหัวใจล้มเหลว พร้อมวิธีแก้หากสารแอมโมเนียรั่ว

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.66 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุการณ์ สารแอมโมเนียรั่วจากไลน์การผลิต ในโรงงานผลิตอาหารแช่แข็งส่งออกต่างประเทศแห่งหนึ่ง ใน ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมทั้งเกิดการฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งในโรงงานและบริเวณใกล้เคียง (อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก)

ทางทีมข่าวสดจะขอเปิดที่มาของสารแอมโมเนีย พร้อมทั้งอันตรายที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายเพื่อเตือนประชาชน โดยแอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย ธาตุไนโตรเจน (N) 1 อะตอม และไฮโดรเจน (H) 3 อะตอม ถือเป็นก๊าซเป็นพิษและมีฤทธิ์กัดกร่อน ซึ่งเป็นก๊าซไม่มีสีที่ระคายเคืองสูงและมีกลิ่นฉุนรุนแรงเฉพาะตัว

ตามรายงาน มีการผลิตแอมโมเนียประมาณ 170 ล้านตันทุกปี และ 80% ของแอมโมเนียถูกใช้เป็นสารเคมีพื้นฐานสำหรับปุ๋ยไนโตรเจน แอมโมเนียส่วนมากจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง ดวงตา และการสูดดม แต่บางกรณีอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานได้เช่นกัน

ทว่าก๊าซแอมโมเนียไม่คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมนาน เพราะผลิตขึ้นจากการสลายตัวตามธรรมชาติของสารอินทรีย์ ดังนั้น แอมโมเนียจากสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นในระดับต่ำมากจึงไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ จึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า แอมโมเนียอันตรายแค่ไหน? หากสูดแอมโมเนียมากเกินไปหรือแอมโมเนียความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้หรือเป็นพิษได้

การสัมผัสแอมโมเนียทางผิวหนังและดวงตาจะทำให้เกิดอาการแสบร้อน, แสบตาและจมูก, เป็นแผลพุพอง ระคายเคือง, น้ำตาไหล, จามและไอ และอาจมีอาการปวดศีรษะด้วย แต่ที่แย่ที่สุด คือ สูญเสียการมองเห็นเมื่อสัมผัสถูกดวงตา

หากสูดดมและได้รับแอมโมเนียผ่านการรับประทานปวดแสบปวดร้อนภายในช่องปาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งในระดับที่รุนแรง ผู้คนอาจประสบปัญหาในการหายใจติดขัด หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจอย่างแรง ทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย

ซึ่งผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอื่นๆ อาจมีความไวต่อผลกระทบของแอมโมเนียมากกว่า นอกจากนี้ ผู้ที่สัมผัสและทำงานเกี่ยวข้องกับแอมโมเนียต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

อย่างไรก็ตาม สารแอมโมเนียก็เป็นสารเคมีที่จำเป็นต่อมนุษย์และมีประโยชน์เช่นกัน โดยนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมย้อมผ้า, ยา, เส้นใยสังเคราะห์, พลาสติก, ปุ๋ย, วัตถุระเบิด, อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง, สารทำความเย็น, โรงกลั่นน้ำมัน และไอศกรีม รวมถึงนิยมในวงการแพทย์สำหรับสูดดม ช่วยอาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ในอนาคตอาจใช้แอมโมเนียในระบบกักเก็บไฮโดรเจนและเชื้อเพลิง

สงสัยหรือไม่ว่าจะทำอย่างไรถ้าคุณคิดว่าคุณอาจได้รับแอมโมเนียในปริมาณมาก?

  • รีบย้ายออกจากบริเวณที่เกิดก๊าซแอมโมเนียรั่ว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ขณะอยู่ในอาคารให้ปิดและล็อกประตูและหน้าต่างทุกบาน ปิดเครื่องปรับอากาศ พัดลม และเครื่องทำความร้อน
  • ถอดเสื้อผ้าที่อาจมีแอมโมเนียออกอย่างรวดเร็ว จากนั้นใส่เสื้อผ้าของคุณลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้แน่น
  • อย่าจับต้องถุงพลาสติก และรอคำแนะนำในการกำจัดอย่างถูกวิธี
  • ล้างแอมโมเนียออกจากผิวหนังอย่างรวดเร็วด้วยสบู่และน้ำ
  • ถอดและทิ้งคอนแทคเลนส์
  • ล้างแว่นตาด้วยสบู่และน้ำก่อนสวมใส่
  • อย่าใช้สารฟอกขาวเพื่อขจัดแอมโมเนียออกจากผิว

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า แอมโมเนียมีทั้งประโยชน์และโทษ หากผู้ที่ทำงานโรงงานหรือใกล้ชิดกับก๊าซแอมโมเนียควรหมั่นตรวจสอบปริมาณแอมโมเนียในสถานที่ทำงานอยู่สม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน โรงงาน และสิ่งแวดล้อม

ขอบคุณที่มาจาก DW, GOV.UK, Pobpad, CDC, New York State Department of Health

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน