สศร. ผนึกดีไซเนอร์ พัฒนาผ้าบาติกชายแดนใต้โชว์คอลเล็กชั่นพิเศษในงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระพันปีหลวง”

นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดําเนินโครงการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ โดยตนพร้อมกับ นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ และ นายเอก ทองประเสริฐ สองดีไซเนอร์ชื่อดังของประเทศ ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา ส่งเสริมให้ความรู้การออกแบบลายผ้าร่วมสมัยและผลิตภัณฑ์จากผ้าของผู้ประกอบการด้านสิ่งทอในพื้นที่ชายแดนใต้ มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะลายผ้าบาติกรูปแบบใหม่และหลากหลาย ขยายช่องทางการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ โดยสศร.คัดเลือก ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผลิตผลงานผ้า บาติกมาใช้ออกแบบและตัดเย็บเป็นคอลเล็กชั่น นำมาจัดแสดงภายในงานภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

“สศร.นำผ้าบาติกของ 14 ชุมชนไปใช้ตัดเย็บโดยดีไซเนอร์ระดับประเทศรวมทั้งหมด 28 ชุด ร่วมกับโครงการผ้าไทยใส่สบายที่นำผ้าไทยท้องถิ่นของภูมิภาคต่างๆ มาตัดเย็บโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ รวมทั้งหมดกว่า 50 ชุด ประกอบด้วยผ้าจากชุมชนในจ.นราธิวาส ได้แก่ OKBatik และบ้านบาโง , จ.ปัตตานี บาติกเดอนารา ตันหยงปาตานี รายาบาติก กลุ่มสตรีซัมบีลัน ยาริงบาติก ขณะที่จ.ยะลา กลุ่มครูผีเสื้อ อาดือนัน Adel kraf เก๋บาติก และ Assams Batik และจ.สงขลา ได้แก่ มีดีที่นาทับ และบาติกสะบ้าย้อย ผู้ประกอบการที่ได้รับการ คัดเลือกในปีนี้สร้างสรรค์ผลงานผ้าบาติกร่วมกับนักออกแบบได้งดงามมาก สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมชุมชน นอกจากนี้ยัง คัดเลือกนางแบบที่เข้าร่วมโครงการนางแบบมืออาชีพกับ สศร. มาร่วมเดินแฟชั่นโชว์จัดแสดงผ้าไทยร่วมกับนางแบบอาชีพ รวมทั้งเชิญดีไซเนอร์ทั้งสองร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างสรรค์ผลงานส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ชุมชนในจังหวัดชายแดนใต้ และการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในโครงการผ้าไทยใส่สบายที่ร่วมกับสถาบันการศึกษาเป็นนักออกแบบอาชีพ” ผู้อำนวยการ สศร. กล่าว

นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ แฟชั่นดีไซเนอร์ กล่าวว่าการดำเนินงานเล็งเห็นคุณค่าภูมิปัญญาอัตลักษณ์ผ้าบาติกชุมชนชายแดนใต้ จึงลงไปทำความเข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการท้องถิ่นซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคืออยากพัฒนาสินค้าให้ไปต่อด้วยกันและพลิกโฉมให้ผลิตภัณฑ์สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม โดยปรับเปลี่ยนความคิดให้ ชาวบ้านผู้ประกอบการกล้าคิด กล้าเปลี่ยน ก้าวออกจากกรอบเดิมแต่ยังคงสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นเอาไว้

“การดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันสามารถพลิกฟื้นคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นกว่า 80% และสามารถส่งออกผ้าบาติกของไทยไปสู่ตลาดโลก สู่เวทีแฟชั่นระดับโลก ทำให้คนทั่วโลกรู้จักผ้าบาติกที่มีคุณค่าของประเทศไทย”








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน