คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

ขอถามเรื่องรถไฟใหม่ครับ เมื่อไหร่จะได้นั่ง

กษมา

ตอบ กษมา

รวมรายงานจากหนังสือพิมพ์มติชนมาเป็นคำตอบว่า วันที่ 29 สิงหาคม 2559 ได้ฤกษ์เผยโฉมอย่างเป็นทางการสำหรับรถไฟรุ่นใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ทยอยรับมอบจากบริษัทซีอาร์อาร์ซี จำกัด จากประเทศจีน รอบแรกมาแล้ว 39 คัน จากทั้งหมดที่จัดซื้อไป 115 คัน ถือเป็นรถไฟรุ่นใหม่ล่าสุดที่ รฟท.จะนำมาให้บริการผู้โดยสาร

รถไฟรุ่นใหม่รูปลักษณ์ทันสมัย สีสันสวยงาม บริเวณประตูทางขึ้น-ลงมีจอแอลอีดีบอกชื่อขบวน เส้นทางให้บริการจากสถานีต้นทางถึงปลายทาง ทั้งแต่ละขบวนยังมีขนาดที่ยาวกว่ารถไฟปกติที่ให้บริการอยู่

โดยมีความยาว 25 เมตร สูง 3.78 เมตร กว้าง 2.9 เมตร ขนาดทางเดินกว้างจากเดิม 65 ซ.ม. เพิ่มเป็น 78 ซ.ม. เพื่อให้วีลแชร์และรถเข็นอาหารผ่านไปได้ เดินรถด้วยความเร็ว 90-100 ก.ม./ช.ม.

ใน 1 ขบวนมีทั้งหมด 13 โบกี้ แบ่งเป็นรถกำลังไฟปรับอากาศ 1 โบกี้ รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จำนวน 1 โบกี้ รถขายอาหารปรับอากาศ 1 โบกี้ และรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 รวมรถรองรับผู้พิการอีก 10 โบกี้

ประตูที่จะเข้าไปภายในตู้ขบวนเป็นประตูอัตโนมัติ ต้องใช้มือกดปุ่มสีเขียวตรงกลาง ประตูถึงจะเปิดออกและปิดเอง ส่วนภายในโบกี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบรักษาความปลอดภัยครบครัน ทั้งจอแอลอีดี กล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ โดยทุกที่นั่งและที่นอนเป็นผ้ากำมะหยี่สีแดงสดใส

สำรวจกันเลย เริ่มจากรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 มี 24 ที่นั่ง 12 ห้อง ติดตั้ง จอแอลอีดีสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่งเพื่อเป็นช่องทางแจ้งข้อ มูลข่าวสาร เช่น บอกสถานีปัจจุบัน สถานีถัดไป ความเร็วของรถ

อุณหภูมิภายในห้องและนอกรถ แสดงสัญลักษณ์ห้องน้ำพร้อมใช้งาน ทั้งยังมีช่องเสียบชาร์จไฟแบบยูเอสบี ช่องเสียบหูฟัง มัลติมีเดียสำหรับรับชมความบันเทิง และยังสั่งอาหารออนไลน์จากตู้เสบียงได้ด้วย ในตู้โดยสารชั้นนี้ยังมีปุ่มสำหรับเรียกพนักงานที่อยู่ด้านข้างที่นั่ง ในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่สำคัญนอกจากจะมีห้องน้ำซึ่งเป็นระบบสุญญากาศเหมือนห้องน้ำบนเครื่องบินที่มีอยู่ 2 ห้อง ห้องสุขาชาย 1 ห้องแล้ว ยังมีห้องอาบน้ำแบบฝักบัว พร้อมเครื่องทำน้ำอุ่นอีก 1 ห้อง

ส่วนรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 รองรับผู้โดยสารได้ตู้ละ 40 ที่นั่ง แต่ละที่นั่งมีปลั๊กไฟแบบสามตาเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ มีไฟสำหรับอ่านหนังสือที่สามารถปรับแรงไฟได้ ริมหน้าต่างทุกที่นั่งมีที่วางแก้วแบบหลุม และมีพื้นที่เล็กๆ สำหรับวางสิ่งของต่างๆ
1
ขณะเดียวกัน สามารถใช้สัญญาณไว-ไฟจากขบวนรถไฟได้เมื่อเปิดให้บริการจริง บริเวณทางเดินติดตั้งจอแอลอีดีขนาดใหญ่ 4 จอ แจ้งข้อมูลรถ เช่น สถานีก่อนหน้า สถานีถัดไป สถานีจุดหมายปลายทาง และความเร็วรถ เป็นต้น ห้องน้ำของชั้นนี้แบ่งเป็นห้องสุขาแบบนั่ง 2 ห้อง ห้องสุขาชายแบบยืน 1 ห้อง เป็นระบบปิด ช่วยลดปัญหากลิ่นรบกวน และมีประตูกั้นอีกชั้นก่อนเข้าห้องโดยสาร ที่ประตูห้องน้ำมีสัญลักษณ์ให้สังเกต

ถัดไปเป็นตู้เสบียง แบ่งเป็นพื้นที่เคาน์เตอร์สั่งอาหารและขายอาหาร มีที่นั่งรับประทานอาหาร 32 ที่นั่ง และสำหรับวีลแชร์อีก 2 ที่นั่ง ภายในครัวเน้นวัสดุที่ทำจากสแตนเลสที่เช็ดทำความสะอาดง่าย มีระบบกำจัดควัน ส่วนพื้นที่รับประทานอาหารออกแบบเป็นพื้นที่ว่าง พร้อมโต๊ะวางอาหารแบบบิลด์-อิน พับเก็บได้

แต่ละขบวนจะมีลิฟต์ยกรถวีลแชร์ เพื่ออำนวยความสะดวก ผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งมีอักษรเบรลอยู่ที่ปุ่มต่างๆ เช่น ปุ่มเปิด-ปิดประตู ปุ่มขอความช่วยเหลือ ช่วยอำนวยความสะดวก ผู้พิการทางสายตา

เบื้องต้น รฟท.มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นขบวนรถด่วนพิเศษเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เป็นเส้นทางแรกในเดือนต.ค. จากนั้นจะทยอยเปิดให้ครบ 4 เส้นทางต่อไปในปี 2560 คือ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ ไป/กลับ วันละ 2 ขบวน รวม 8 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 9 แสนคนต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน