ศบค. แจงยังไม่เปิดสถานบันเทิง เลื่อนไป 16 ม.ค.ปีหน้า ไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของ ศบค.อย่างเดียว แต่ขึ้นกับความพร้อมของกิจการ เหตุสถานการณ์ยังไม่ลดลงมาก

วันที่ 19 พ.ย.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า ประเด็นสำคัญที่หารือวันนี้ คือ การเปิดกิจการสถานบันเทิงหรือกิจการที่มีลักษณะคล้ายหรือใกล้เคียงกัน ที่ประชุม ศบค.ย้ำว่าให้ความสำคัญทุกกิจการกิจกรรม ไม่ได้เลือกปฏิบัติ จากกรณีมีมาตรการชะลอการเปิดกิจการกลุ่มนี้ คร่าวๆ คาดว่าจะเป็น 16 ม.ค.2565 น่าเปิดได้เหมาะสมกับสถานการณ์

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า เมื่อชะลอมาตรการนี้ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบและผิดหวัง ขอชี้แจงว่าจำเป็นต้องเลื่อน จากการพิจารณาหารือหลายฝ่าย ต้องมองรอบด้านรอบคอบ และข้อสรุปการประชุมที่ผ่านมาเห็นสมควรให้เปิดเมื่อพร้อม และตัวแทนผู้ประกอบการเองก็เข้าใจ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการเหล่านี้

“นอกจากเหตุผลสถานการณ์แพร่ระบาดที่กระทรวงสาธารณสุขประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานใน ศบค. เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดตอนนี้ประชาชนยังเห็นทรง ๆ แม้จะเป็นไปในทิศทางดีขึ้น แต่ยังกดตัวเลขลงต่ำกว่า 5 พันรายต่อวันไม่ได้ และผู้เสียชีวิตยังอยู่ประมาณ 50 รายทุกวัน และอีกเหตุผลสำคัญ จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่ สถานบริการประเภทนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนขอรับการพิจารณายกระดับเป็นกิจการมาตรฐาน SHA Plus ที่ควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเปิดกิจการกิจกรรมตามหลักวิถีใหม่ เป็นสถานบริการปลอดโควิด” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ข้อมูล 18 พ.ย.2564 ของ กทม.มีสถานประกอบการรับมาตรฐาน SHA Plus วันเดียว 1,216 แห่ง สะสมแล้ว 7,994 แห่ง ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมความงาม บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ส่วนเชียงใหม่รายงาน SHA Plus 1,515 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร 512 แห่ง โรงแรม 486 แห่ง รวมโฮมสเตย์

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อมูลกรมอนามัยประเมินมาตรฐาน COVID Free Setting มีตลาดนัดผ่านเกณฑ์ 1 แห่ง ตลาดสด 14 แห่ง โรงภาพยนตร์ 2 แห่ง ขนส่ง สถานีรถไฟ สนามบิน มีร้านอาหารริมบาทวิถีผ่านประเมิน 1 แห่ง ต้องติดตามไปและให้กำลังใจผู้ลงทะเบียนเข้ามาและผ่านประเมิน ข้อมูลสำคัญที่ ศบค.ประชุมและขอความร่วมมือสถานประกอบการที่ให้บริการลูกค้ารับนักท่องเที่ยว ถือเป็นสถานบริการเสี่ยง มีการรวมกลุ่มประชาชน ขอให้เข้าไปดูรายละเอียดเว็บไซต์กรมอนามัย ศึกษาข้อปฏิบัติ เริ่มเตรียมพร้อมในวันนี้

การประเมิน COVID Free Setting เป็นการประเมินเอง ถ้าไม่แน่ใจ ติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ช่วยตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วจะมีมาตรการบางอย่างที่ทำไม่ครบ ไม่ได้มาตรฐานก็ปรับแก้ ถือว่ามีเวลาอีก 1 เดือน ถ้าทำได้ครบถ้วนแล้ว ติดต่อขึ้นทะเบียนรับการประเมินยกระดับเป็นกิจการมาตรฐาน SHA Plus เมื่อผ่านเรียบร้อยแล้ว ททท.จะขึ้นป้ายว่าผ่านมาตรฐาน การเปิดบ้านเปิดเมืองก็จะดูจากมาตรฐาน SHA Plus ทีเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

“การเปิดไม่เปิดกิจการไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของ ศบค. แต่อยู่ที่ความพร้อมของสถานประกอบการของท่าน เป็นการจัดการทั้งเจ้าของ พนักงาน จัดการสถานที่ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ กทม. มหาดไทย ฝ่ายปกครอง ช่วยประชาสัมพันธ์เชิงรุก ชักชวนผู้ประกอบการที่ไม่เข้าใจ SHA และ COVID Free Setting อาจทำได้บ้างหรือไม่ครบ ช่วยกันค้นหาสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามแผน” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า นายกฯ ย้ำว่าไม่มีการทอดทิ้งกิจการใดไว้เบื้องหลัง ตอนนี้ทำได้ง่ายที่สุดหากต้องการผ่านมาตรฐาน SHA Plus คือให้พนักงานรับวัคซีนเป็นมาตรฐานหนึ่ง มีคนไทยอีก 11 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ขอให้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า มีบุคลากรในร้านที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีนครบ โรงเรียน โรงภาพยนตร์ ทุกประเภท ขอให้ร่วมกันให้ทุกคนไปรับวัคซีนครบถ้วน เป็นหนึ่งในมาตรการ SHA Plus ที่จะได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการ

“วันนี้วันลอยกระทงขอให้ประชาชนชวนกันลอยกระทงออนไลน์หรือกะละมังหลังบ้าน เป็นอีกหนึ่งปีที่ต้องร่วมงานอย่างระมัดระวัง หากจะไปร่วมงานขอให้ระวังว่าต้องไม่ย่อหย่อนมาตรการ ให้ความร่วมมือและกลับบ้านปลอดภัยทุกคน” พญ.อภิสมัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน