ยังจำวิธีการพับกระดาษกันได้อยู่ไหม…

ในวัยเด็กทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์การพับกระดาษมาไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการพับนก พับรถ พับดาว พับหัวใจ หรือพับกระทง เราต่างสนุกสนานที่ได้เปลี่ยนกระดาษให้กลายเป็นของเล่นชิ้นน้อย จากฝีมือของตัวเรา แต่เมื่อเราโตขึ้นกลับหลงลืมความรู้สึกความสนุกในวัยเด็ก และอาจคิดว่าคงลืมวิธีการพับไปหมดแล้ว

แต่อยากให้ลองหยิบกระดาษขึ้นมาสักแผ่น แล้วลองพับสิ่งที่เคยพับในตอนเด็กดู อาจจะพบว่า เราสามารถพับสิ่งนั้นได้อย่างอัตโนมัติ เสมือนสองมือของเราจดจำวิธีการพับจนเป็น Muscle Memory ได้อย่างน่าประหลาดใจ

เพื่อย้อนรอยความทรงจำ ‘Happy Journey with BEM’ อยากพาทุกคนรับฟังเรื่องราวศิลปะพับกระดาษโอริงามิกับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์ผู้หลงใหลการพับกระดาษเป็นชีวิตจิตใจ และผู้เขียนหนังสือโอริงามิ พับกระดาษฉลาดล้ำ ครูสอนพับกระดาษที่สอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คลาส ลูกศิษย์กว่าหมื่นคน และบทบาทล่าสุดกับสเปเชียลเกสต์ ประจำเวิร์กชอป Happy Journey with BEM ประจำเดือนกรกฎาคม ที่จะมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวมหัศจรรย์แห่งโลกการพับกระดาษ ตั้งแต่แง่มุมน่ารักวัยเด็กกับการพับกระดาษชิ้นแรก ตลอดจนการผสมผสานศิลปะและวิทยาการแขนงอื่น เข้าไปสู่โลกแห่งการพับ จนสามารถนำไปต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมพาทุกคนดำดิ่งฝึกสมาธิผ่านโลกแห่งการพับกระดาษ เพื่อรังสรรค์ผลงานศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

จุดเริ่มแต่งแห่งรอยพับโอริงามิ

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนเด็กชายบัญชาในวัย 10 ขวบ ผู้ชื่นชอบวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก กิจวัตรประจำวันของเด็กหนุ่มผู้นี้ คือการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ด้วยความใฝ่รู้ แต่แล้ววันหนึ่งเขาได้พบกับหนังสือที่ทำให้เขาค้นพบโลกใบใหม่ ที่จะกลายจะเป็นงานอดิเรกและความสนุกในเวลาอีกหลายสิบปีให้หลังด้วยความบังเอิญ

ผมเป็นคนชอบวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก แล้วเผอิญไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะชื่อว่า ‘ทักษะวิทยาศาสตร์’ ปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้มีความแปลกมากเลย ปกติจะเป็นเรื่องราวของวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ แต่เล่มนี้มันดันมีอยู่หน้าหนึ่งที่สอนการพับกระดาษให้กลายเป็นปู

คนไทยใครๆ ก็รู้จักกับการพับนก พับดาว แต่พอมันเป็นปูมันดูพิเศษมากเลยสำหรับเราในวัยเด็ก เพราะมันพับขึ้นมาจากกระดาษแผ่นเดียวซึ่งน่าทึ่งมาก”

เหตุการณ์ครั้งนั้นเองทำให้เด็กชายบัญชาได้ชวนลูกพี่ลูกน้องมาพับกระดาษด้วยกัน และแน่นอนว่ามันเละ!

เพราะการพับปูไม่ได้ง่ายเลย ต้องใช้ความประณีตและความใจเย็นสูง หลังจากลองผิดลองถูกไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง บ้างก็ออกมาไม่เป็นปู บ้างก็ออกมาเป็นปูที่ไม่สวย แต่ในท้ายที่สุดเด็กชายบัญชาก็ได้ปูแบบต้นฉบับมาเป็นเพื่อนคนใหม่ในที่สุด

ทว่าจากการพับปูตัวแรกสู่การพับอย่างจริงจังกินเวลาหลายสิบปี เพราะในสมัยนั้นสื่อหรือหนังสือที่สอนเกี่ยวกับการพับยังมีไม่มากนัก จึงทำให้เขาไม่ได้สานต่อกิจกรรมในวัยเด็ก กาลเวลาเคลื่อนผ่านอย่างรวดเร็ว จากเด็กชายที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ในวันนั้น คำนำหน้าของเขาได้ถูกเพิ่มด้วยคำว่า ดอกเตอร์ เป็นที่เรียบร้อยอย่างใจหวัง

ในช่วง 10 ปีให้หลังนี้เองคือช่วงเวลาที่ ดร.บัญชา ได้มาจริงจังกับโลกแห่งการพับอีกครั้ง ณ ร้านหนังสือ ‘คิโนะคุนิยะ’ ที่ในครั้งนี้มีสื่อให้เลือกสรรมากมาย จุดนี้เองทำให้การพับกระดาษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดร.บัญชา อีกครั้ง จนกลายเป็นงานอดิเรกใหม่ที่ทำให้ได้ฝึกสมาธิ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และทำให้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

แต่การพับกระดาษในฐานะดอกเตอร์กลับไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะ ดร.บัญชา ได้นำเอาเรื่อง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดีไซน์ ใส่เข้าไปในงานพับโอริงามิ เชื่อมโยงศาสตร์สองแขนงเข้าหากัน เช่น การพับแผงโซล่าเซลล์ การพับโมเดลบอลลูนหัวใจ ที่แสดงให้เห็นว่าศิลปะการพับในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การพับนก แต่มีเทคโนโลยี ศิลปะ และวิทยาการรวมอยู่ด้วย

ประวัติของโอริงามิ

ก่อนจะพูดถึงศิลปะแห่งการพับจากแดนอาทิตย์อุทัย ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการออกแบบมาอย่างช้านาน สถาปัตยกรรมที่สวยงามตั้งแต่ตึกรามบ้านช่อง ภูมิทัศน์ การจัดสวนที่ล้วนพิถีพิถัน หรือแม้แต่ แพคเกจจิ้ง ที่สวยและประณีตในทุกขั้นตอน ทำให้สินค้าล้วนมีคุณค่า ซึ่งหีบห่อสินค้าที่เหล่านั้นล้วนเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับโอริงามิทั้งสิ้น

โอริงามิ (折り紙) มาจากภาษาญี่ปุ่น 2 คำมาเชื่อมกัน ระหว่างคำว่า ‘โอรุ’ ที่แปลว่า ‘พับ’ และคำว่า ‘คามิ’ ที่แปลว่า ‘กระดาษ’ เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่นำกระดาษมาพับ เพื่อสร้างสรรค์รูปร่างหรือวัตถุต่างๆ ซึ่งยังไม่มีการบันทึกแน่ชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานได้ว่า เกิดขึ้นมาแล้วหลายร้อยปี และในช่วงต้น ศิลปะการพับกระดาษ น่าจะเกิดขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนา อย่างการประดับตกแต่งศาลเจ้า

รวมถึงใช้ในการห่อสิ่งของเพื่อมอบเป็นของขวัญในหมู่ชนชั้นสูง เพื่อแสดงฐานะทางสังคม เพราะในสมัยช่วงคริสศต์วรรษที่ 17 กระดาษมีราคาแพง ทำให้คนที่เข้าถึงได้มีเพียงคนชั้นสูงหรือเหล่าซามูไร ซึ่งเคล็ดลับวิชาการพับต่างๆ ก็จะถ่ายทอดกันเฉพาะในตระกูลเท่านั้น สังเกตได้จากการที่ซามูไร จะมีธรรมเนียมการห่อของขวัญเป็นรูปแบบเฉพาะตัว

และในศตวรรษที่ 18 ได้ปรากฏหลักฐานพบหนังสือเล่มหนึ่งในชื่อ ‘วิธีพับนกกระเรียนพันตัว’ ที่สร้างความแปลกใหม่ให้ผู้คนเข้าถึงการพับกระดาษมากขึ้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญ และเป็นหนังสือการพับกระดาษเชิงนันทนาการเล่มแรกของโลกเลยก็ว่าได้

คนที่ทำให้โลกได้รู้จักกับการพับโอริงามิของญี่ปุ่นเป็นวงกว้าง คงหนีไม่พ้น อากิระ โยชิซาว่า (Akira Yoshisawa) ซึ่งมีประวัติเป็นช่างในโรงงาน ที่มีงานอดิเรกคือการพับกระดาษ ท่านมีความคิดสร้างสรรค์มาก มีโมเดลใหม่ๆ ให้คนตกใจอยู่เสมอ พับตัวเดียวยังไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่แกดันพับ 12 นักษัตร เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้ชมได้อย่างมาก เพราะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ซึ่งก็มีหลายสื่อไปทำข่าว พอต่างชาติเริ่มเห็นก็รู้สึกตื่นเต้นกันมาก ทำให้อาจารย์แกถูกเชิญไปสอนนานาประเทศ จนเกิดเป็นสมาคมพับกระดาษที่อังกฤษและอเมริกา

ทีนี้ฝรั่งเขามีจริตเรื่องวิทยาการ เขาจึงเอาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใส่เข้าไปในศิลปะการพับด้วย จะเห็นได้ว่าทุกการพับมีรอบพับ เมื่อตัดกันก็จะเกิดเป็นรอย ในลักษณะเหมือนเรขาคณิต ทำให้เขาต่อยอดไปสู่การคิดคำนวณในการพับอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นการประสานกันระหว่างศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ”

แสดงให้เห็นว่าในระดับโลก โอริงามิเป็นศาสตร์ที่จริงจังมากถึงขนาดที่มีการประชุมวิชาการด้านโอริงามิ ซึ่งเอานักวิชาการทั่วโลกมารวมกัน ยกตัวอย่าง หากมาจากสายการศึกษาเขาก็จะถกกันว่า โอริงามิช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้เรขาคณิตได้อย่างไรบ้าง ทางการแพทย์มีศาสตร์โอริงามิบำบัด ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษา ซึ่งมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา

ความพิเศษของศิลปะการพับโอริงามิคืออะไร ?

มาถึงตอนนี้มันคงมีหลายมิติมีทั้งบวกและลบ บางครั้งในช่วงที่เราอารมณ์ขุ่นหมอง ผมจะคว้ากระดาษมาพับ มันช่วยให้สภาพจิตใจของเราสงบขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกัน ถ้าตัวที่เราเคยพับได้แล้วสวยแต่ครั้งนี้ทำไม่สวย ก็ทำให้หงุดหงิดได้เหมือนกัน ฮ่าฮ่า” ดร.บัญชา หัวเราะอย่างสนุกสนาน

พร้อมพูดเสริมว่า ในแง่หนึ่งโอริงามิทำให้เห็นว่า การพับกระดาษช่วยบ่งบอกสภาพจิตใจเราได้เหมือนกัน ผมมักจะบอกกับคนที่มาเรียนเสมอว่าถ้าทำแล้วเพลิดเพลินมีความสุข ให้ทำต่อ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่หงุดหงิด ให้หยุดทำก่อน เพราะโอริงามิไม่ได้มีเพื่อให้มาหงุดหงิดกับมัน

“สำหรับผมหัวใจแห่งศาสตร์การพับ คือการเพลิดเพลินกับการที่ร่างกายเรา โดยมือ ตา สมอง ของเรา กำลังเล่นกับกระดาษ และสามารถเปลี่ยนแปลงจากรูปร่างหนึ่งสู่อีกรูปร่าง โดยที่มันมีความหมายกับเรา ด้วยมือเรา”

โอริงามิ ศาสตร์แห่งสมาธิ ศิลปะพับกระดาษจากญี่ปุ่น

เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในโลกแห่งศิลปะ ‘Happy Journey with BEM’ โครงการท่องเที่ยวที่จัดโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงจัดเวิร์กชอปงานศิลปะสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ร่วมกับศิลปินชื่อดัง ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ฟรี! ตลอดปี 2566

รอบนี้อาสาส่งต่อแรงบันดาลใจ พาน้องๆ โรงเรียนใกล้เขตทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT ท่องโลกศิลปะนอกห้องเรียน ในกิจกรรม ‘โอริงามิ ศาสตร์แห่งสมาธิ ศิลปะพับกระดาษจากญี่ปุ่น’ ร่วมกับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ณ METRO ART สถานีพหลโยธิน ในวันที่ 6 และ 20 กรกฎาคม 2566

ผมในฐานะครูสอนพับกระดาษ ที่สอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คลาส สอนมาแล้วไม่ต่ำกว่าหมื่นคน ทุกเพศทุกวัย สำหรับคนที่พับไม่เป็นเลย ไม่แน่ใจว่าจะพับได้มั้ย ขอยืนยันเลยว่าพับได้แน่นอน ในวันนั้นเราจะเริ่มต้นจากพื้นฐาน

เมื่อพื้นฐานถูกต้องแล้วคุณจะสามารถไปต่อได้อย่างแน่นอน โมเดลที่จะสอนก็มีหลายโมเดลตั้งแต่ง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้หมด ไปจนกระทั่งโมเดลที่ท้าทาย แต่มั่นใจได้ว่าพอออกจาก section นี้ไปสามารถพับได้แน่นอนคนละ 3-4 โมเดล

“ความรู้ในเวิร์กชอปจากจุดเล็กๆ ที่เราจะได้มาร่วมเรียนรู้กันในวั้นนั้น อาจนำไปสู่การทำอะไรที่น่าสนใจ ที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้ หรือคุณอาจจะไปเจอความเชื่อมโยงอันนี้กับสิ่งอื่นที่คุณสนใจได้ในอนาคต เหมือนที่ผมพบการเชื่อมโยงกันระหว่าง การพับกระดาษกับวิทยาศาสตร์”

มันเคยมีคำถามเกิดขึ้นว่ากระดาษแผ่นหนึ่งจะเป็นอะไรได้บ้าง นักคณิตศาสตร์ท่านหนึ่งถามว่าจะเป็นไปได้ไหมว่ากระดาษ 1 แผ่นจะพับได้ทุกอย่างในโลก ซึ่งคำถามนี้ท้าทายมาก ปรากฏว่าอาจารย์ Erik Demaine จาก MIT กับอาจารย์จากญี่ปุ่นท่านนึงคุยกันทางออนไลน์ ได้คิดทฤษฎีบทขึ้นมาและใช้คอมพิวเตอร์ ในการหาคำตอบ ได้คำตอบว่าในเชิงทฤษฎี กระดาษ 1 แผ่นสามารถพับรูปร่างอะไรก็ได้”

ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM 2023’ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊ก BEM Bangkok Expressway and Metro หรือคลิก https://www.facebook.com/BEM.MRT

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน