ปีที่แล้วเมืองเคปทาวน์(Cape Town) ในอัฟริกาใต้ เกือบต้องกลายเป็นวันที่น้ำประปาหมดเมือง (Day Zero) ประชาชนกว่าสี่ล้านคนต้องต่อคิวเพื่อมารอรับน้ำประปา ในขณะที่เทศบาลท้องถิ่นก็ต้องจำกัดการอุปโภคบริโภคน้ำของประชาชนในแต่ละสัปดาห์ขณะที่ชาวเมืองเคปทาวน์ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและต้องปรับตัวกับการดำเนินชีวิต มีหลายคนและหลายชุมชนรอบโลกต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการขาดแคลนน้ำ ผู้คนกว่าสี่พันล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนน้ำเป็นเวลานับปี

ชาวเมืองรอรับน้ำสะอาดในเมืองเคปทาวน์ © Kevin Sawyer / Greenpeace

มีหลายเหตุผลที่สถานการณ์น้ำทั่วโลกอยู่ในขั้นวิกฤตและถ่านหินนั้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของวิกฤตที่เกิดขึ้น นอกจากถ่านหินจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษอากาศที่เราหายใจ ถ่านหินยังคงก่อให้เกิดการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน การปนเปื้อนแม่น้ำสายต่าง ๆ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่การขุดจนถึงการเผาไหม้ถ่านหิน ถ่านหินทำลายแหล่งน้ำในเกือบทุกขั้นตอนของกระบวนการ และถ่านหินกำลังส่งผลกระทบร้ายแรงที่กำลังประสบทั่วโลก

1. น้ำเป็นพิษ
การทำเหมืองถ่านหิน การชะล้างและการเผาไหม้ได้ปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษและโลหะหนักออกสู่สิ่งแวดล้อม สำหรับการขุดถ่านหินทุก ๆ 1 ตัน น้ำใต้ดินราว 1 ถึง 2.5 ลูกบาศก์เมตร จะไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคและบริโภคได้

จากรายงานของกรีนพีซพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของแม่น้ำในจังหวัดกาลิมันตันใต้ของประเทศอินโดนีเซียกำลังผจญความเสี่ยงจากการขุดถ่านหิน ซึ่งรวมถึงการทำเหมืองแบบเปิดที่จะสามารถสร้างความเสียหายอย่างถาวรให้กับแม่น้ำและชั้นหินอุ้มน้ำ

นักวิจัยกรีนพีซกำลังสำรวจบ่อตกตะกอนที่ใช้โดยอุตสาหกรรมถ่านหินในเหมืองถ่านหิน Asam-asam ในกาลิมันตันใต้ประเทศอินโดนีเซีย © Yudhi Mahatma / Greenpeace

แม้หลังจากการปิดเหมืองถ่านหิน เหมืองยังคงเป็นแหล่งของการรั่วไหลของกรดซึ่งจะปนเปื้อนด้วยโลหะหนักที่เป็นพิษเช่นแคดเมียมและโคบอลต์ ความเป็นกรดฆ่าปลาและสัตว์ป่าอื่น ๆ นอกจากนี้โลหะหนักที่ไหลออกมาจะสะสมอยู่ในร่างกายของสัตว์ที่ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเข้าไป นอกจากนี้เถ้าถ่านหินยังมีอันตรายและสามารถปนเปื้อนพืช ซึ่งทำให้สารเคมีที่เป็นพิษไหลลงสู่น้ำใต้ดินและลำธาร หรือการพัดพาของลมไปหลายร้อยกิโลเมตร ในบางพื้นที่น้ำเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงมีวิธีการจัดการที่ไม่ดีทำให้เกิดการปล่อยสารก่อมะเร็งเข้าสู่สิ่งแวดล้อม

2. น้ำสำหรับทำการเกษตรลดลง
โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 500 เมกะวัตต์ที่มีการระบายความร้อนเพียงครั้งเดียวใช้น้ำมากพอเมื่อเทียบกับการระบายสระว่ายน้ำโอลิมปิกทุกสามนาที และเหล่านั้นคือน้ำที่สามารถใช้เพื่อการเกษตร การดื่มและทำอาหาร

ในช่วงฤดูแล้งที่รุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย น้ำจำนวนหลายล้านลูกบาศก์เมตรที่สามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกในชลประทานและน้ำดื่มกลับถูกนำไปใช้ที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน

รายงานของกรีนพีซเปิดเผยว่ารัฐบาลอินเดียยังคงเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลง

เช่นเดียวกัน ในทางตอนเหนือของประเทศจีน แหล่งถ่านหินขนาดใหญ่กำลังใช้ทรัพยากรน้ำที่มีค่าผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงรายงานว่าบ่อน้ำของพวกเขากำลังเหือดแห้ง

ในปีพ.ศ. 2556 ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโครงการกระบวนการเปลี่ยนถ่านหินสู่เชื้อเพลิงเหลวและสารเคมีกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปลูกพืชในพื้นที่แถวนี้เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลง

“ต้นไม้แถวนี้ตายไปหมดแล้ว ทุ่งหญ้ากลายเป็นทะเลทรายและมันก็กำลังขยายเป็นวงกว้าง”

ต้นสนที่ปลูกด้วยมือที่ล้อมรอบโรงงานเปลี่ยนถ่านหินเป็นสารเคมีชนิดเหลวในจีนแห้งตายเนื่องจากขาดน้ำ © Qiu Bo / Greenpeace

3. ความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ถ่านหินเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและในปีพ.ศ. 2560 ร้อยละ 40 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจากทั่วโลก

ในขณะที่ออสเตรเลียประสบกับความแห้งแล้งอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้สถานการณ์แย่ลง และถ่านหินก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่นกัน

ในปีพ.ศ. 2561 ออสเตรเลียประสบกับปัญหาภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หนึ่งในสี่ของประเทศได้เผชิญกับความแห้งแล้งในช่วงครึ่งหลังของปีและระดับน้ำฝนในหลายพื้นที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในต้นปีพ.ศ. 2562 หลังจากภัยแล้งที่ยาวนาน แม่น้ำหลายสายก็แห้งลงซึ่งทำให้ปลาหลายล้านตัวต้องตายจากเหตุการณ์นี้

นอกเหนือจากทวีปแอนตาร์กติกา ออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศแบบแห้ง ซึ่งส่งผลให้ออสเตรเลียมีความเสี่ยงต่อการทวีความรุนแรงของภาวะแห้งแล้งและไฟป่า แต่อุตสาหกรรมถ่านหินก็มีการใช้น้ำมากกว่าหนึ่งแสนล้านลิตรต่อปี

Open Cut Coal Mine in Australia. © Dean Sewell / Greenpeace

ปั๊มน้ำกำลังปั๊มน้ำออกออกจากเหมืองถ่านหินที่ถูกน้ำท่วมในคอลลินส์วิลล์(Collinsville)

แต่ปัญหายังมีทางออก
ข่าวดีก็คือแหล่งพลังงานสะอาดเช่นแสงอาทิตย์และลมใช้น้ำปริมาณน้อยมากและมีราคาถูกกว่าถ่านหิน

การติดตั้งกังหันลมและโซล่าเซลล์ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายในปีพ.ศ. 2558 พลังงานลมและแสงอาทิตย์มีการใช้น้ำราว 570 ล้านลูกบาศก์เมตรในประเทศจีนซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการใช้น้ำขั้นพื้นฐานของประชากรราว 31.6 ล้านคน

บริษัทพัฒนาด้านพลังงานในเมืองบูร์โกส(Burgos)เริ่มลงทุนในโซล่าฟาร์มโดยผสมผสานกับกังหันลม

ภาพรวมปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีน้ำเพียงพอหรือไม่ แต่ปัญหาคือวิธีการจัดการทรัพยากรน้ำและการกระจายน้ำอย่างเท่าเทียมกันมีทางเลือกมากมายที่จะนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และสำหรับมนุษย์แล้วน้ำคือทางเลือกเดียวที่จะทำให้อยู่รอด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของผลกระทบจากถ่านหินต่อแหล่งน้ำได้ที่นี่

แปลและเรียบเรียงจากภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม