หลายคนรู้ว่าเรามีเหมืองลิกไนต์แบบเปิด (open pit mining) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยเป็นตัวอย่างคลาสสิกของอุตสาหกรรมขุดเจาะ(extractive industries) ที่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาเป็นลำดับ เหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 และมีแผนที่จะปิดในอีก 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากแหล่งสำรองลิกไนต์ 300-400 ล้านตันจะหมดลง

แหล่งถ่านหินในประเทศไทยที่สำรวจพบโดยกรมทรัพยากรธรณีส่วนใหญ่เป็นลิกไนต์อยู่ทางภาคเหนือและบางส่วนทางภาคใต้ โดยมีทั้งหมด 43 แหล่ง มีปริมาณทรัพยากรถ่านหินรวม ประมาณ 2,007 ล้านตัน แบ่งเป็นแหล่งถ่านหินที่มีการพัฒนาแล้ว 14 แหล่ง มีปริมาณสำรองราว 1,181 ล้านตัน และแหล่งถ่านหินที่ยังไม่ได้พัฒนา 29 แหล่ง มีปริมาณทรัพยากรถ่านหินราว 826 ล้านตัน โดยแหล่งถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดและมีการผลิตมากที่สุดคือ เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีปริมาณสำรองกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณถ่านหินสำรองทั้งประเทศ

นอกจากแม่เมาะ ยังมีแหล่งถ่านหินทั้งที่พัฒนาแล้วและยังไม่ได้พัฒนากระจายอยู่ในเขตจังหวัดลำปางอีก 9 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ แอ่งแม่ทะ

แผนที่โครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง 
ที่มา เอกสารเวทีการรับฟังความเห็นของชุมชน ในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ประเภทที่3

แหล่งสำรองถ่านหินที่แอ่งแม่ทะ

จากข้อมูลที่มีอยู่ แอ่งแม่ทะซึ่งเป็นแหล่งถ่านหินที่ยังไม่ได้พัฒนาในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางมีปริมาณสำรองถ่านหินราว 22.49-55 ล้านตัน จนถึงปัจจุบัน มีการสำรวจพื้นที่กว่า 900 ไร่ ในตำบลบ้านบอม เพื่อขอสัมปทานเหมืองลิกไนต์ไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ที่ดำเนินการโดยบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด  แท้จริงแล้ว บริษัทได้ทำการสำรวจแอ่งแม่ทะมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 เพื่อขอสัมปทานพื้นที่ทำเหมืองลิกไนต์รวมกันกว่า 958.50 ไร่

เทียบกับแผนการขุดเจาะพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินในภาคเหนือ เช่น อมก๋อย เป็นต้น โครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะมีข้อได้เปรียบเทียบในเรื่องการลดต้นทุน เนื่องจากมีเส้นทางการขนส่งถ่านหินจากเหมืองไปยังโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่ใกล้ที่สุด

แม่ทะปักหลักต้านเหมืองถ่านหิน

ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2562 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ครั้งที่ 1 ในเรื่องการเปิดเหมืองถ่านหิน ประเภทที่ 3 ตามคำขอประทานบัตรที่ 7/2561, 8/2561, 9/2561, 10/2561  หมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 30542 ในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลบ้านบอม อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนที่อาศัยรอบพื้นที่ขอประทานบัตรในรัศมี 1 กิโลเมตร ในการจัดเวทีดังกล่าวมีนายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นวันทำงาน จึงมีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นอยู่ในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุเข้าร่วมเป็นส่วนใหญ่ (รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร ปี 2562 มีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจำนวน 117 คน อยู่ในวัยกลางคน  40 คน และเป็นผู้สูงอายุจำนวน 48 คน)

ต่อมา ชาวบ้านแม่ทะปักหลักต้านเหมืองถ่านหิน จากความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยติดป้ายประท้วงตามสถานที่ต่างๆ และสร้าง facebook page “คนแม่ทะไม่เอาเหมืองแร่” เป็นเวทีสื่อสารสาธารณะในโลกออนไลน์ รวมถึงมีการจัดเวทีให้ความรู้แก่ชุมชนคู่ขนานในเรื่องผลกระทบของเหมืองถ่านหิน (วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562) ชาวบ้านแม่ทะยังส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการทำประชาพิจารณ์ขาดความชัดเจนและไม่ชี้แจงรายละเอียดถึงผลกระทบของโครงการอย่างรอบด้าน

ข้อกังวลของชุมชนต่อผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ

  • เขตสัมปทานเหมืองครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำของลำห้วยแม่กอง  ห้วยไพร และห้วยมหาวรรณ ที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำแม่ก๋อง แม้ว่า ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าเศรษฐกิจ หรือ ป่าประเภท E ซึ่งตามกฎหมายสามารถยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรร่วมกัน หากเหมืองถ่านหินนี้ผ่านความเห็นชอบและดำเนินการ พื้นที่ป่าต้นน้ำและพื้นที่ป่าของชุมชนซึ่งชุมชนร่วมกันปกป้องดูแลมาโดยตลอด เป็นทั้งแหล่งความมั่นคงทางอาหารและพืชสมุนไพรก็จะถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง
  • การเปิดหน้าดินในพื้นที่ป่าเพื่อขุดถ่านหินออกมา ทำให้เกิดชะล้างของตะกอนดินลงสู่ลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ นอกจากแหล่งน้ำจะตื้นเขินแล้ว ยังเป็นที่รวมของสารพิษที่ปล่อยออกมาจากเหมืองถ่านหิน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการปนเปื้อนลงสู่อ่างเก็บน้ำของชุมชนที่อยู่ตอนล่างของพื้นที่ตั้งเหมือง  และการทำเหมืองถ่านหินที่ใช้น้ำปริมาณมหาศาลในกระบวนการแต่งแร่จะสร้างแรงกดดันต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชุมชนอย่างเพิ่มพูนเมื่อพิจารณาว่าชุนชมแม่ทะมีฐานอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการผลิตสินค้าทางการเกษตรให้เป็นสินค้า OTOP ประจำตำบล 

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ยังมีการเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะต่อไปอย่างเงียบๆ ข้อมูลในพื้นที่ระบุว่า มีคณะทำงานที่ว่าจ้างโดยบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) เข้ามาเก็บข้อมูลสอบถามกลุ่มที่คัดค้านของหมู่ที่ 5 บ้านบอมสามัคคี ผ่านการนัดหมายปากเปล่าของผู้นำชุมชนโดยไม่มีหนังสือแจ้งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เหตุการณ์นี้ชุมชนได้อัดคลิปหลักฐานไว้

ในเวลาไล่เลี่ยกันที่หมู่บ้านบอมพัฒนา ชุมชนได้รับแจ้งว่ามีการเชิญชวนคนในหมู่บ้านให้มาที่วัดในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2563 แต่ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ เนื่องจากคนในชุมชนกลัวการละเมิด พรก.ฉุกเฉิน ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน คณะทำงานดังกล่าวจึงเข้าไปสอบถามเป็นรายบุคคลแทน ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ มีการส่งแบบสอบถามมายังบ้านแต่ละหลัง เพื่อทำการประเมินการรับรู้ของชุมชนจากคำถามที่ว่า “ตามที่ทุกคนรับทราบมาแล้วว่าบริษัทปูนซีเมนต์ไทย(ลำปาง) จะเข้ามาขออนุญาตเปิดเหมืองในพื้นที่บ้านบอมพัฒนา หมู่ 6 ที่ต้องชะลอการดำเนินการเพื่อใช้เวลาสร้างความเข้าใจกับชุมชนอีกครั้ง จึงขอความร่วมมือจากพ่อแม่พี่น้องให้คะแนนจาก 1-10 เรื่องความเข้าใจต่อบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) และโครงการเหมือง”

คณะทำงานที่ได้รับการว่าจ้างยังได้ลงพื้นที่ตำบลบ้านบอม เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกระแสคัดค้านตั้งแต่การจัดเวทีประชาพิจารณ์ในช่วงก่อนการระบาด Covid-19 และมีข้อโต้แย้งในหลายประเด็น

เห็นได้ชัดว่า การผลักดันโครงการเหมืองถ่านหินที่แม่ทะดำเนินต่อไปแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 และเมื่อพ้นวิกฤตไวรัส การผลักดันโครงการฯ ก็อาจจะยิ่งหนักหน่วงและเข้มข้นมากกว่าเดิม การแย่งชิงทรัพยากรทั้งผืนป่า ต้นน้ำ และความมั่นคงทางอาหารจากชุมชนในพื้นที่ยิ่งจะนำมาซึ่งความขัดแย้งทั้งภายในชุมชนและกับหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติ/อนุญาตโครงการเพิ่มมากขึ้น

อนาคตที่ยั่งยืนของแม่ทะ และพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยที่มีโครงการสัมปทานเหมืองถ่านหินและเหมืองแร่อื่นๆ ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย ตราบเท่าที่วิถีใหม่ new normal เป็นได้แต่เพียง “ธุรกิจที่ดำเนินไปตามปกติ (business as usual)” ส่วนการเคารพสิทธิชุมชนจะถูกทำให้เป็นเพียง “วาทกรรม” ที่ย้อนแย้งของการขูดรีดตักตวงทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่นั้น คงต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป